“ในปัจจุบันข้อมูลเชิงพื้นที่ได้มีกระบวนการจัดทำและผลิตที่ก้าวหน้าไปจากเดิมเป็นอย่างมาก โดยมีการนำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาประยุกต์ใช้ในการจัดทำและผลิตข้อมูลดังกล่าว นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานภาครัฐที่กระจายอยู่ตามกระทรวงต่างๆ เข้าไปเกี่ยวข้องกับข้อมูลเชิงพื้นที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น โดยมีความต้องการที่จะนำไปใช้งานในการจัดการเชิงพื้นที่เพิ่มขึ้นทุกปีด้วย ในขณะเดียวกัน ชุดคำสั่งประยุกต์ที่ใช้ในการจัดการเชิงพื้นที่ในระบบรหัสเปิด ซึ่งเป็นชุดคำสั่งที่สามารถหามาใช้งานได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายก็เริ่มมีการใช้งานในหลายประเทศมากขึ้น ซึ่งแม้จะยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนักแต่บางส่วนก็มีศักยภาพที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าชุดคำสั่งประยุกต์ที่ใช้ในการจัดการเชิงพื้นที่ซึ่งจัดซื้อมาในราคาแพง แต่ปัญหาที่สำคัญของชุดคำสั่งประยุกต์ด้านการจัดการเชิงพื้นที่ระบบรหัสเปิด คือ ใช้งานได้ค่อนข้างยาก และยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายเท่าที่ควร ทำให้ผู้ใช้ยังขาดความคุ้นเคย และไม่กล้าที่จะนำมาใช้ในการปฏิบัติงานจริง” นายวรพัฒน์ กล่าว
ดังนั้น เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม กระทรวงฯ จึงได้มีการจัดทำโครงการศึกษาและพัฒนาชุดคำสั่งประยุกต์ด้านการจัดการเชิงพื้นที่รหัสเปิดด้านภูมิสารสนเทศทั้งระบบขึ้น รวมทั้งได้มีการจัดกิจกรรมหลักเป็นการฝึกอบรมชุดคำสั่งประยุกต์ด้านการจัดการเชิงพื้นที่รหัสเปิดให้ครอบคลุมเทคโนโลยีด้านภูมิสารสนเทศ ซึ่งประกอบด้วย Desktop GIS, Web-based GIS, Photogrammetry และ Remote Sensing ให้แก่หน่วยงานต่างๆ ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษาและผู้สนใจจากกลุ่มต่างๆ
“การจัดอบรมฯ ครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของแผนการดำเนินงานของโครงการฯ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การประยุกต์ใช้ชุดคำสั่งประยุกต์ด้านการจัดการเชิงพื้นที่รหัสเปิดที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีด้านภูมิสารสนเทศ ให้แก่กลุ่มผู้ใช้งานในทุกภาคส่วน และเพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมได้รับความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้คำสั่งฯ ที่จะสามารถนำไปต่อยอดและประยุกต์ใช้ในหน่วยงาน พร้อมกันนี้ยังเป็นการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาต่างๆ ที่เข้ารับการอบรมฯ ทั้งหมดประมาณ 103 หน่วยงาน ซึ่งได้แก่ หน่วยงานภาครัฐ 61 แห่ง หน่วยงานภาคเอกชน 18 แห่ง และสถาบันการศึกษา 24 แห่ง” นายวรพัฒน์ กล่าว