ปตท. ผนึกกำลังมิตซู ญี่ปุ่น ตั้งบริษัท “พีทีที เอ็มซีซี ไบโอเคม” โรงงานพลาสติกชีวภาพชนิด PBS จากน้ำตาล รายแรกของโลก

จันทร์ ๑๘ กรกฎาคม ๒๐๑๑ ๑๗:๐๘
นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. เปิดเผยว่า จากที่ ปตท. ตระหนักถึงความสำคัญกับการแสวงหาพลังงานทดแทนที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเพื่อผลักดันอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมในประเทศไทยอย่างยั่งยืน รวมทั้งการก้าวขึ้นเป็นผู้นำของภูมิภาค ปตท. ได้ดำเนินการลงทุนโครงการผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพชนิด Polybutylene Succinate (PBS) ที่ใช้วัตถุดิบจากสินค้าเกษตร

การดำเนินโครงการผลิตพลาสติกชีวภาพของ ปตท. ได้ร่วมทุนกับบริษัท มิตซูบิชิ เคมิคอล คอร์ปอเรชั่น จากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้นำธุรกิจในอุตสาหกรรมเคมีและมีเทคโนโลยีการผลิต PBS ในระดับเวิลด์คลาสในการจัดตั้งบริษัท พีทีที เอ็มซีซี ไบโอเคม จำกัด (PTTMCC Biochem Company Limited) ถือหุ้นฝ่ายละ 50% เพื่อพัฒนาโครงการผลิตสารตั้งต้น Bio-Succinic Acid (BSA) และโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพชนิด Polybutylene Succinate (PBS) โดยใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติคือ น้ำตาล

ทั้งนี้ บริษัท พีทีที เอ็มซีซี ไบโอเคม จดทะเบียนบริษัทเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2554 ด้วยทุนจดทะเบียน 360 ล้านบาท จะเริ่มก่อสร้างโรงงานในปี 2555 และคาดว่าจะสามารถดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ภายในปลายปี 2557

นายประเสริฐกล่าวว่า การดำเนินการของพีทีที เอ็มซีซี ไบโอเคม ถือว่าเป็นการผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพชนิด PBS จากพืชเป็นรายแรกของโลก เพราะปัจจุบันการผลิตเม็ดพลาสติก PBS จะใช้ปิโตรเลียมทั้งสิ้น โดยโครงการสารตั้งต้น BSA จะมีกำลังการผลิต 36,000 ตันต่อปี และโครงการพลาสติกชีวภาพชนิด PBS จะมีกำลังการผลิต 20,000 ตันต่อปี ซึ่งการลงทุนดังกล่าวจะเป็นส่วนสำคัญที่สนับสนุนให้ไทยก้าวสู่การเป็น bio-hub ของเอเชีย

"การร่วมทุนกับมิตซูบิชิ เคมิคอล เพื่อจัดตั้งบริษัท พีทีที เอ็มซีซี ไบโอเคม จะส่งเสริมให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพได้แบบครบวงจร ตั้งแต่การผลิตสารตั้งต้น เม็ดพลาสติก จนถึงพลาสติกสำเร็จรูป โดยไม่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้ช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกไทยไปได้ไกลยิ่งขึ้น"

โครงการดังกล่าว จะตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเอเซีย (AIE) จังหวัดระยอง รวมพื้นที่ประมาณ 100 ไร่ นอกจากนี้ ปตท. ยังมีที่ดินในนิคมดังกล่าว อีก1,500 ไร่ ซึ่ง ปตท. มีแผนจะขยายการลงทุน เพื่อที่จะส่งเสริมนโยบาย Bio-hub ของเอเชีย ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (พ.ศ.2550-2554)

นายฮิโรอากิ อิชิซูกะ Senior Managing Executive Officer (ผู้บริหารระดับสูง) บริษัท มิตซูบิชิ เคมิคอล คอร์ปอเรชั่น แห่งประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า การที่บริษัท มิตซูบิชิฯ เลือกประเทศไทยเป็นฐานการผลิตนั้น นอกจากไทยจะมีแหล่งวัตถุดิบการเกษตรที่มีศักยภาพทั้งอ้อย และมันสำปะหลัง จนกล่าวได้ว่าเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลและมันสำปะหลัง อันดับต้นๆ ของโลก นอกจากนี้ประเทศไทยยังอยู่ใกล้จุดยุทธศาสตร์สำคัญของตลาดพลาสติกชีวภาพที่ใหญ่ที่สุดในโลก อันได้แก่ ประเทศจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี ทำให้ต้นทุนในการขนส่งและการค้ามีความได้เปรียบกว่าประเทศอื่น ๆ

ยิ่งไปกว่านั้น ปตท. เป็นองค์กรที่มีประสบการณ์และความพร้อม ในอุตสาหกรรมปิโตรเลียม และปิโตรเคมีที่ครบวงจร มีอุตสาหกรรมปลายน้ำและการตลาดที่แข็งแกร่ง จึงสามารถรองรับการผลิต ผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพย่อยสลายได้

ดร.ปรัชญา ภิญญาวัธน์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ปตท. กล่าวว่า ในระยะเบื้องต้นกลุ่มลูกค้าหลักของพลาสติกชีวภาพ จะเน้นไปยังกลุ่มตลาดต่างประเทศและกลุ่มยุโรป อเมริกา ที่ปัจจุบันมีแนวโน้มความต้องการใช้สูงขึ้นประมาณ 25% ต่อปี โดยในปี 2553 ความต้องการใช้พลาสติกชีวภาพทั่วโลกอยู่ที่ 200,000 ตันต่อปี และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 1,200,000 ตัน ภายในปี 2563

จุดเด่นของ พลาสติกชีวภาพ คือ สามารถขึ้นรูปได้หลากหลาย มีความแข็งแรง ยืดหยุ่น และรีไซเคิลได้เหมือนพลาสติกทั่วไป หากมีข้อจำกัดบ้าง เช่น ไม่ทนร้อน หรือถ้าใช้เป็นขวดน้ำก็มีอายุใช้งานได้นานไม่เกิน 4-6 เดือน นอกจากนี้พลาสติกชีวภาพ จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการผลิต ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยลดภาวะโลกร้อน เพราะใช้วัตถุดิบจากพืชที่สามารถปลูกทดแทนได้ ขณะที่ปิโตรเลียมใช้แล้วหมดไป และที่สำคัญสามารถย่อยสลายได้ด้วยวิธีการทางชีวภาพ ทำให้ไม่ต้องลงทุนจำนวนมหาศาลเพื่อจัดการกับปัญหาขยะล้นโลก เรียกว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตลอด value chain

นอกจากนี้โครงการดังกล่าวยังถือว่าเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างประโยชน์ในแก่ชุมชน สังคมและประเทศ ในแง่มุมต่างๆ อาทิ การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์เกษตร การนำมาซึ่งเทคโนโลยีใหม่ ถ่ายทอดองค์ความรู้สู่บุคลากรไทย รวมถึงการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศไทย เป็นต้น

อนึ่งแผนการดำเนินธุรกิจของบริษัท พีทีที เอ็มซีซี ไบโอเคม แบ่งออกเป็น 2 เฟส โดยเฟส 1 คือการพัฒนาตลาด PBS ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งออกแบบการก่อสร้างโรงงานผลิต PBS ขนาด 20,000 ตันต่อปี และพัฒนาทางเลือกเทคโนโลยีการผลิตสารตั้งต้น BSA หรือBio-succinic acid

ขณะที่เฟส 2 จะเริ่มการก่อสร้างโรงงานผลิต PBS และโรงงานผลิต BSA ขนาด 36,000 ตันต่อปี คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างโรงงานประมาณ 2 ปี และดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ภายในปลายปี 2557

ฝ่ายสื่อสารองค์กร ปตท.

โทรศัพท์ 0 2537 2189

โทรสาร 0 2537 2171

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๔๑ องค์การอนามัยโลกจับมือประเทศไทย และ 194 ประเทศ เร่งสร้างฉันทมติดันความเสมอภาคสุขภาพช่องปากเป็นวาระโลก
๑๖:๔๔ กรมอนามัยลงพื้นที่จังหวัดสงขลา มอบรางวัลเชิดชูเกียรติเมืองสุขภาพดีระดับประเทศ และรางวัลเครือข่ายเมืองสุขภาพดีระดับภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออก
๑๖:๐๑ EPG มั่นใจยอดขายและอัตรากำไรขั้นต้นในครึ่งหลังของปีบัญชี 67/68 (ต.ค.67 - มี.ค.68) เติบโตดีตามเป้าหมาย เตรียมจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล 6 สตางค์ 9
๑๖:๒๔ 51Talk ส่งเด็กไทยเข้าร่วม COP29 การประชุมแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ บทพิสูจน์การสนับสนุนเยาวชนก้าวสู่เวทีระดับโลก
๑๖:๔๘ ORN เผยโค้งสุดท้ายปี 67 ฟอร์มดี โตต่อเนื่อง ลุยเปิด 3 โครงการใหม่บ้าน-คอนโดฯ มูลค่ารวม 3,070 ล้านบาท
๑๖:๓๓ Dog's Dream คอมมูนิตี้สนามสัตว์เลี้ยงสีเขียว ที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ และปริมณฑล
๑๖:๑๔ ฟูจิฟิล์ม บิสซิเนส อินโนเวชั่น ชูกลยุทธ์ Make a Leap to the New Stage ตอกย้ำพันธกิจขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม
๑๕:๔๓ กรุงศรี ขับเคลื่อนกลยุทธ์ GO ASEAN with krungsri ผสานความแข็งแกร่งและร่วมมือในเครือกรุงศรี MUFG และพันธมิตร
๑๕:๓๔ เผยสีสันแห่งการเฉลิมฉลองช่วงสิ้นปี ผ่านกระเช้าของขวัญจากโรงแรมเจดับบลิว แมริออท กรุงเทพฯ
๑๕:๔๗ Netflix ส่งหนังไทยคว้าชัยระดับโลก! ออกแบบ-ชุติมณฑน์ คว้ารางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม บนเวที International Emmy Awards ครั้งที่ 52 จากผลงานเรื่อง HUNGER คนหิว