นายณัฐพล คำถาเครือ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ บริษัท โกลเบล็ก โฮลดิ้ง แมนเนจเม้นท์ จำกัด(มหาชน) หรือ GBX กล่าวว่า ราคาทองคำในช่วง 1-2 สัปดาห์นี้จะเป็นการพักฐานในช่วงสั้นๆ เนื่องจากมีแรงเทขายทำกำไร และสถานการณ์ในสหรัฐฯที่คลี่คลายลง หลังประธานาธิบดี”โอบามา”กล่าวยอมรับแผนปรับลดงบประมาณขาดดุลที่กลุ่มวุฒิสมาชิกเสนอมา ซึ่งส่งผลให้การเจรจาต่อรองเพื่อป้องกันปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ในช่วงต้นเดือนหน้าดำเนินต่อไป จากที่เคยหยุดชะงักมาตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา จึงทำให้กระแสเงินมีโอกาสไหลออกจากแหล่งพักเงินชั้นดีมาเข้าหาสินทรัพย์เสี่ยงต่างๆอีกครั้ง โดยจะสังเกตได้จากการเคลื่อนไหวของราคาทองคำ, เงินสกุลสวิสฟรังก์, และเงินสกุลเยนที่อ่อนตัวลงพร้อมกัน
นอกจากนี้ การที่สหรัฐฯมีการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจในส่วนของภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ออกมาค่อนข้างดีในระยะหลัง ถือเป็นอีกปัจจัยที่บั่นทอนความต้องการถือครองทองคำด้วยคุณสมบัติแหล่งพักเงินชั้นดีอีกปัจจัยหนึ่ง นอกเหนือจากปัจจัยในเรื่องของราคาก่อนหน้าที่มีการปรับตัวขึ้นไปกว่า 120 ดอลลาร์/ออนซ์ หรือราว 8%
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าราคาทองจะมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นจากแม้สถานการณ์สหรัฐจะคลี่คลายลง แต่ปัญหาทางฝั่งยุโรปยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังที่ไม่ได้รับการแก้ไขแบบยั่งยืน ซึ่งเป็นไปได้นักลงทุนจะกลับมาให้ความสำคัญกับประเด็นวิกฤติหนี้สินในฝั่งยุโรปที่ส่อแววว่าจะขยายวงกว้างไปยังอิตาลีและสเปนอีกครั้ง
ขณะเดียวกัน ปัจจัยทางด้านฤดูกาลที่กำลังเข้าสู่ช่วง High Season ตั้งแต่เดือน ก.ย. เป็นต้นไป ถือเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การเคลื่อนไหวของราคาทองคำมีแนวโน้มการปรับตัวลงค่อนข้างจำกัดหรือมีการปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าปรับลดลง โดยข้อมูลทางสถิติบ่งชี้ว่าราคาจะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นในเดือน ก.ย. พ.ย. และ ธ.ค. ประมาณ 2-5% ต่อเดือน ซึ่งการปรับย่อจึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับการเข้าซื้อเพื่อดักทำกำไรในช่วงตลาดขาขึ้นไปจนถึงช่วงปลายปี
ดังนั้น เชิงกลยุทธ์การลงทุน แนะนำ ”รอซื้อ” เมื่อราคาปรับตัวย่อลงจากแรงเทขายทำกำไรเข้าใกล้ 1,550-1,575 ดอลลาร์/ออนซ์ โดยตั้งจุดถอยที่ระดับ 1,550 ดอลลาร์/ออนซ์ คาดกรอบการลงทุนที่ 1,575-1,650 ดอลลาร์/ออนซ์ หรือประมาณ 22,250-23,300 บาท/บาททอง (อิงค่าเงินบาทที่ระดับ 29.85 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ)
เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์โดย : บริษัท มีเดีย แพลนเนอร์ คอนซัลแทนท์ จำกัด ในนาม บมจ.โกลเบล็ก โฮลดิ้ง แมนเนจเม้นท์
รายละเอียดเพิ่มเติมกรุณาติดต่อโทร: 02-664-4233, Fax: 02-664-4232
E-mail:[email protected]