สำหรับโรงงานแปรรูปเนื้อไก่นครราชสีมา เป็นโรงงานที่ได้รับการวางแผนออกแบบโรงงานเพื่อประหยัดพลังงานตั้งแต่แรกก่อสร้าง เมื่อประกอบกับระบบบริหารจัดการพลังงานที่มีประสิทธิภาพทำให้โรงงานแห่งนี้เพียงแห่งเดียวก็สามารถลดต้นทุนพลังงานรวมได้ราว 10 ล้านบาทต่อปี
ทั้งนี้ การรักษาอุณหภูมิของเนื้อไก่ในกระบวนการชำแหละและแปรรูปไก่ถือเป็นเรื่องสำคัญเพื่อรักษาคุณภาพอาหาร โรงงานแห่งนี้จึงเน้นประสิทธิภาพของระบบทำความเย็น เริ่มตั้งแต่นำเครื่องกระตุ้นเนื้อไก่ด้วยไฟฟ้า (Electric Stimulate Machine) มาใช้ทดแทนการเก็บไก่เอจจิ้ง (Aging) ซึ่งช่วยลดการใช้พลังงานความเย็นและระยะเวลาการเก็บ รวมถึงลดพื้นที่ห้องจัดเก็บ และส่งผลให้ผลิตภัณฑ์เนื้อไก่มีความนุ่ม ขณะเดียวกันยังใช้ ระบบลดอุณหภูมิเนื้อไก่ด้วยลมเย็น ( Air Chill) ทดแทนการใช้น้ำ หรือ water chiller เป็นแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งสามารถลดการใช้น้ำได้ถึงปีละ 150,000 ลบ.ม. หรือคิดเป็นมูลค่า 412,500 บาท / ปี นอกจากนี้ โรงงานแปรรูปเนื้อไก่นครราชสีมา ยัง ได้รับรางวัล ASHRAE AWARDS ซึ่งเป็นรางวัลการติดตั้งและออกแบบระบบทำความเย็นระดับโลก การออกแบบที่ดีดังกล่าวช่วยให้สามารถประหยัดต้นทุนพลังงานได้ถึง 9 ล้านบาทต่อปี
ขณะเดียวกัน ยังดำเนินโครงการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลจากน้ำมันพืชใช้แล้ว ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม สามารถทดแทนการสั่งซื้อน้ำมันดีเซลได้ประมาณ 5,000 ลิตรต่อเดือนหรือช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานน้ำมันได้ถึงปีละ 1,800,000 บาท โดยโครงการนี้สามารถตอบสนองเป้าหมายการลดค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันเชื้อเพลิงประเภทดีเซล ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนและ ช่วยลดต้นทุนการผลิตสินค้า ตลอดจนเป็นการเพิ่มมูลค่าน้ำมันพืชที่ผ่านการใช้ประโยชน์แล้วอีกทางหนึ่ง ที่สำคัญ ยังช่วยตัดวงจรการนำน้ำมันเก่าไปสู่ผู้บริโภคซึ่งเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าการใช้น้ำมันเก่าส่งผลเสียต่อสุขภาพมาก
ด้าน นายศุภชัย อังศุภากร รองกรรมการผู้จัดการอาวุโสซีพีเอฟ กล่าวว่า โรงงานแปรรูปเนื้อไก่มีนบุรีเป็นอีกโรงงานหนึ่งที่ได้รับรางวัล Thailand Energy Award 2011 ดังกล่าว โดยโรงงานแห่งนี้ก่อสร้างตั้งแต่เมื่อกว่า 30 ปีที่แล้ว (ปี 2520) ดังนั้น การอนุรักษ์พลังงานของที่นี่จึงเน้นการจัดการของเสีย ตามแนวคิดที่ว่า “ของเสียไม่ได้เป็นเพียงขยะแต่มันมีพลังงานแฝงอยู่” ซึ่งเป็นแนวคิดของโครงการบัญชีบริหารสิ่งแวดล้อม (Environments Management Accounting: EMA) มาใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงาน ด้วยวิธีนำข้อมูลทางด้านบัญชีมาวิเคราะห์ขบวนการ เพื่อหาจุดที่มีการใช้พลังงานสูง แล้วนำมาจัดทำโครงการลดการใช้พลังงานต่างๆ ภายในบริษัท รวมถึง การคิดค้นนวัตกรรมด้านพลังงานทดแทน เช่น การผลิตไบโอแก๊สจากระบบบำบัดน้ำเสียภายในโรงงาน ซึ่งทั้งหมดสามารถลดต้นทุนพลังงานระหว่างปี 2551-2553 ได้ถึง 13.8 ล้านบาท
ปัจจัยความสำเร็จของการบริหารจัดการพลังงานของซีพีเอฟ เกิดจากการที่ผู้บริหารสูงสุดให้นโยบายและสื่อสารลงสู่พนักงานทุกระดับ ภายใต้กรอบการทำงานตามระบบ TQA ซึ่งส่งผลให้การจัดการพลังงานของ CPF ไปอย่างยั่งยืน.