อีกทั้งโฆษณา การจัดกิจกรรมลด แลก แจกแถม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในสถานที่ห้ามจำหน่าย ห้ามบริโภค เช่น สถานที่ทางราชการ สวนสาธารณะ ซึ่งถือว่าเป็นการทำผิดกฎหมาย จึงได้ให้เจ้าหน้าที่นิติกรรวบข้อมูลการจัดงานดังกล่าวเพื่อเตรียมดำเนินคดีต่อไป
นพ.สมาน กล่าวด้วยว่า หากผลการสอบสวนมีความชัดเจน ทั้งในส่วนของผู้จัดคอนเสิร์ต รวมทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้บริหารในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่อนุญาตให้สามารถดำเนินการดังกล่าว ถือว่ามีส่วนเกี่ยวข้อง และมีความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ส่วนจะมีความผิดไปถึงวงคาราบาวหรือไม่นั้น ต้องอยู่ที่พนักงานสอบสวน
ผู้อำนวยการสำนักฯ กล่าวต่อว่า สำหรับความผิดที่ถือว่าชัดเจนที่สุด คือ ในมาตรา 32 ของ พ.ร.บ.ดังกล่าว ที่ระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือแสดงชื่อ หรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม การโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์ใดๆ โดยผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภทให้กระทำได้เฉพาะการให้ข้อมูลข่าวสาร และความรู้เชิงสังคม โดยไม่มีการปรากฏภาพของสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น เว้นแต่เป็นการปรากฏภาพสัญลักษณ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสัญลักษณ์ของผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เท่านั้น ผู้ที่ฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมีโทษปรับอีกวันละ 50,000 บาทจนกว่าจะแก้ไขให้ถูกต้อง
อย่างไรก็ตาม ตนเชื่อว่า แค่การเปรียบเทียบปรับบริษัทที่จัดคอนเสิร์ตคงไม่กลัว ดังนั้น ตนกำลังรวบรวมข้อมูลในการจัดคอนเสิร์ตดังกล่าวที่ทำผิดตาม พ.ร.บ.นี้ ว่า มีที่ใดบ้าง เพื่อดำเนินการแจ้งความ และส่งฟ้องศาล ให้มีโทษถึงขั้นติดคุก เพราะตามกฎหมายนี้หากพบว่ายังมีการกระทำความผิดซ้ำซาก และเป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระ ศาลมีสิทธิ์ที่จะไม่ยอมให้เปรียบเทียบปรับ และจะพิพากษาให้ผู้ที่ทำผิดมีโทษจำคุกสถานเดียว
“การดำเนินการดังกล่าวยืนยันว่าไม่ได้ต้องการขัดขวางการจัดคอนเสิร์ต แต่ที่ต้องออกมาดำเนินการในเรื่องนี้ เพราะต้องการให้ทำถูกกฎหมาย นอกจากนี้ โดยปกติแล้ว เมื่อทางสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทราบว่าจะมีการใช้สถานที่ทางราชการในจังหวัดใดจัดคอนเสิร์ต และจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตนจะรีบทำหนังสือประสานไปยังปลัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อแจ้งเตือนไปยังจังหวัดนั้น แต่บางพื้นที่ก็ไม่เชื่อฟัง ดังนั้นทางสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จำเป็นที่จะต้องดำเนินการทางกฎหมาย ทั้งนี้ หากมีการจัดคอนเสิร์ตแล้วมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก็ต้องจัดในสถานที่เอกชน และไม่จำหน่ายให้เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี”ผู้อำนวยการสำนักฯ กล่าว
ด.ญ.พิมนภัส ภู่ทองคำ หรือ “น้องไอซ์” นักเรียนชั้น ม.1 จากโรงเรียนตาคลีประชาสรรค์ อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ อาสาสมัครสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้าง เสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ตนสนับสนุนในการดำเนินการทางกฏหมายเต็มที่ เนื่องจากทราบมาว่ามีการตั้งบูธส่งเสริมการขาย และมีการนำเอาพริตตี้มาเรียกให้เข้ามาดูที่บูธเครื่องดื่มแอกอฮอล์ต่างๆ ซึ่งมีญาติของตนไปดูคอนเสิร์ตในวันเปิดตัวครั้งแรกที่สนามกีฬาเวโลโดรม หัวหมาก และได้เห็นกับตามาแล้ว
ไม่ว่าจะเป็นการแจก พัด แผ่นพับ การนำเอาถังเครื่องดื่มใหญ่ๆ มาตั้งเพื่อการประชาสัมพันธ์โดยหลีกเลี่ยงยี้ห้อสินค้าว่าเป็นน้ำดื่ม แต่จริงๆ มีการสื่อให้รู้ถึงเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์ โดยน่าเป็นห่วงมากเพราะว่าเป็นการจัดคอนเสิร์ตทั่วประเทศ ทุกจังหวัด และบรรดาเยาวชนมักจะติดตามผู้ปกครองไปชมด้วย แม้บางคนจะไม่ได้เข้าไปในงาน แต่บริเวณรอบๆ งานจะมีการโฆษณาชวนเชื่อมากมาย