นายสิงหะ นิกรพันธุ์ ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) เปิดเผยว่าประเทศไทยกำลังมีสภาพแวดล้อมทางการเงินใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม พร้อมกับผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ถูกพัฒนามากขึ้น มีความหลากหลายและเงื่อนไขที่ซับซ้อน โดยสถาบันการเงินต่างๆ ปัจจุบันได้มีกลยุทธ์ในการรับมือด้วยการแข่งขันดึงดูดผู้ฝากเงิน ในขณะเดียวกันสิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะต้องเปลี่ยนแปลงก็คือ สถาบันการเงินจะต้องคำนึงถึงการดูแลสุขภาพของสถาบันการเงินของตนเองให้มีความแข็งแรงด้วย เพราะผู้ฝากเงินจะเริ่มให้ความสำคัญในเรื่องความมั่นคงของสถาบันการเงินมากกว่าแต่ก่อนที่สนใจแค่อัตราดอกเบี้ยสูงๆ
นายสิงหะกล่าวเพิ่มเติมว่า “การแนะนำให้คนไปกระจายเงินฝากตามแบงก์ต่างๆ แบงก์ละ 1 ล้านบาท เพื่อรับมือกับการมีสถาบันคุ้มครองเงินฝากดูจะเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องมากเท่าไรนัก แต่ควรจะให้น้ำหนักกับเรื่องการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องกับประชาชนในความสามารถพิจารณาดูความเสี่ยงของแบงก์ต่างๆให้ได้ ให้รู้จักลงทุน รู้จักเครื่องมือการลงทุนเพื่อกระจายให้เหมาะสมกับเป้าหมายการเงินของตนเองจะเป็นประโยชน์กว่า”
สำหรับผู้ฝากเงินอาจจะเลือกสถาบันการเงินที่จะฝากด้วยการพิจารณาปัจจัยต่างๆ ที่สนับสนุนความเชื่อมั่นของสถาบันการเงิน โดยผู้ฝากสามารถจะประเมินความแข็งแกร่งของสถาบันการเงินจากข้อมูลต่างๆ ของสถาบันการเงิน เช่น ผลการดำเนินงาน อัตราการเติบโต นโยบายการบริหารงาน สัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง อัตราส่วน NPL การกันสำรอง หรืออันดับเรตติ้งที่จัดโดยองค์กรที่เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ
นอกจากนี้ อาจจะดูเรื่องจุดแข็งของแต่ละสถาบันการเงิน ซึ่งผู้ฝากแต่ละรายอาจพิจารณาปัจจัยในการตัดสินใจเลือกฝากเงินกับสถาบันการเงินที่แตกต่างกันไป เช่น เรื่องความพร้อมทางเทคโนโลยี การกระจายสาขา คุณภาพการให้บริการของพนักงาน ความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ ฯลฯ ซึ่งเป็นผลให้สถาบันการเงินต้องพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคุณภาพการให้บริการ มีสิ่งอำนวยความสะดวกทางเทคโนโลยี เช่น Internet Banking การส่งข้อความ SMS รายงานธุรกรรมทางการเงิน ฯลฯ
ดังนั้น นายสิงหะจึงมองว่า “จากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเมื่อมีการปรับลดวงเงินคุ้มครองหลังวันที่ 11 ส.ค.54 เป็นต้นไปนั้น อาจจะทำให้มีการเคลื่อนย้ายเงินฝากบ้างเล็กน้อยในระยะสั้นเท่านั้น แต่ผลที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวก็คือการที่สถาบันการเงินจำเป็นต้องพัฒนาตนเองเพื่อให้แข่งขันได้ในทุกๆด้าน ซึ่งจะก่อประโยชน์ที่แท้จริงกับผู้ฝากเงินในที่สุด”
สำนักผู้บริหารและสื่อสารองค์กร โทร. 02-272-0300 ต่อ 127/ www.dpa.or.th