ดร.นพ.สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมอนามัย ในฐานะประธานมูลนิธิกาญจนบารมี เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร กล่าวว่า"มูลนิธิกาญจนบารมี" ก่อตั้งมานาน 10 กว่าปีแล้ว แต่เดิมงานหลักของมูลนิธิคือสนับสนุนการดำเนินงานของ ศูนย์มหาวชิราลงกรณ์ ซึ่งเป็นศูนย์มะเร็งตั้งอยู่ที่อำเภอธัญบุรี และเป็น 1 ใน 7 ศูนย์มะเร็ง ในสังกัดกรมการแพทย์ ที่ทำงานด้านค้นคว้าวิจัย การวินิจฉัยและรักษาโรคมะเร็ง ปัจจุบันยังมีหน้าที่ในการให้ความรู้ แนะนำประชาชนให้รู้จักการดูแลตนเอง เพื่อจะได้ปลอดภัยจากโรคมะเร็ง โดยเน้นในเรื่องของการป้องกัน ถึงแม้มะเร็งจะเป็นโรคที่คนไทยเป็นมากในอันดับต้นๆ ก็จริง แต่โรคมะเร็งสามารถป้องกันและรักษาให้หายได้ ถ้าหากวินิจฉัยพบในระยะแรกๆ
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคมะเร็ง ได้แก่ 1. การสูบบุหรี่ทำให้เกิดโรคมะเร็งช่องปาก หลอดลม ปอด ตับอ่อน และกระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น 2. การติดเชื้อไวรัส/แบคทีเรีย เช่น ไวรัสเอชพีวี หรือ หูดหงอนไก่ ไวรัสชนิดนี้จะติดจากการมีเพศสัมพันธ์ ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูก เชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบี ทำให้เกิดมะเร็งตับ เป็นต้น 3.การรับประทานอาหารที่มีสารก่อมะเร็ง เช่น เนื้อปิ้งย่างจนไหม้ หรืออาหารที่ผสมดินปะสิวในปริมาณที่มาก เช่น แหนม ไส้กรอก กุนเชียง และอาหารสุกๆ ดิบๆ เช่น ปลาน้ำจืดดิบที่มีเกล็ด เช่น ปลาซิว ปลาตะเพียน ปลาแม่สะแด้ง ฯลฯ ปลาเหล่านี้จะมีพยาธิใบไม้ในตับติดอยู่ตามเกล็ด ถ้ากินสุกๆ ดิบๆ จะทำให้เป็นมะเร็งตับได้ 4.จากสิ่งแวดล้อม เช่น แสงแดด มีรังสีอัลตราไวโอเลตที่ทำให้เกิดมะเร็งผิวหนัง ดังนั้นเวลาอยู่กลางแดดจึงต้องใส่เสื้อ ใส่หมวก สวมแว่นกันแดด จึงจะปลอดภัย พวกโลหะหนัก ไฮโดรคาร์บอน เช่น เบนซิน และสารระเหยในโรงงานอุตสาหกรรมบางประเภท ซึ่งเป็นสาเหตุของมะเร็งเม็ดเลือด เป็นต้น
ดร.นพ.สมยศ กล่าวต่อว่า นอกจากจะหลีกเลี่ยงสารก่อมะเร็งแล้ว ยังต้องสร้างภูมิต้านทานมะเร็งโดยการออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน วันละ 30 นาทีถึงหนึ่งชั่วโมง กินผักผลไม้อย่างน้อยครึ่งกิโลกรัมต่อวัน หรือครึ่งหนึ่งของแต่ละมื้ออาหาร รวมทั้งเรื่องของอารมณ์ ที่ต้องรู้จักการจัดการกับความเครียดและการปรับจิตใจให้แจ่มใส จะช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง ได้ถึงร้อยละ 20-30 และควรหมั่นตรวจเช็คสุขภาพร่างกายเป็นประจำ โดยเฉพาะผู้หญิงที่อายุ 30 ปีขึ้นไป ควรตรวจมะเร็งปากมดลูกทุกปี หรืออย่างน้อยทุก 5 ปี เริ่มตั้งแต่อายุ 30-60 ปี หรือผู้หญิง ที่อายุ 20 ปีขึ้นไป ต้องตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างน้อยเดือนละครั้งเพื่อค้นหาก้อนผิดปกติ หากพบต้องพบแพทย์โดยด่วนเพื่อวินิจฉัยและรักษาได้ทันตั้งแต่ระยะเริ่มแรก
เนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารทรงเจริญพระชนมายุครบ 59 พรรษาในปี 2554 นี้ มูลนิธิกาญจนบารมี จัดกิจกรรมการประกวดต่างๆขึ้น เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติแด่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ที่พระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อพสกนิกรชาวไทย และทรงพระราชทานทุนทรัพย์เพื่อก่อตั้งมูลนิธิกาญจนบารมีขึ้น เพื่อให้การดูแลรักษาประชาชนผู้เจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็ง และเพื่อสร้างกระแสให้ประชาชนเกิดความตระหนักและหันมาใส่ใจที่จะปรับพฤติกรรมสุขภาพและสร้างนิสัยในการบริโภคที่ถูกต้องเหมาะสม เป็นการเสริมทักษะชีวิตเพื่อการพิชิตโรคมะเร็งผ่านกิจกรรมการประกวดต่างๆ ซึ่งประกอบด้วย 1. การประกวดภาพวาด หัวข้อ การออกกำลังกาย การปลูกผักผลไม้ในหมู่บ้านหรือชุมชน แบ่งเป็น ประเภทนักเรียนระดับประถมศึกษา ประเภทนักเรียนระดับมัธยมศึกษา ประเภทบุคคลทั่วไปไม่จำกัดอายุ รางวัลชนะเลิศ เงินรางวัล 9,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง เงินรางวัล 7,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง เงินรางวัล 5,000 บาท รางวัลชมเชย 2 รางวัล ๆ ละ 3,000 บาท
2. การประกวดอาขยานป้องกันโรคมะเร็ง แบ่งเป็น ประเภทนักเรียนระดับประถมศึกษา ประเภทนักเรียนระดับมัธยมศึกษา ประเภทบุคคลทั่วไปไม่จำกัดอายุ รางวัลชนะเลิศ เงินรางวัล 8,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง เงินรางวัล 6,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง เงินรางวัล 4,000 บาท รางวัลชมเชย 2 รางวัล ๆ ละ 2,000 บาท 3.การประกวดการออกกำลังกายแบบพื้นบ้านประยุกต์ แบ่งเป็นทีมละ 15-20 คน ได้แก่ ทีมเด็กอายุไม่เกิน 14 ปี ทีมประชาชนทั่วไป (ไม่จำกัดอายุ) และทีมผสม (ต้องมีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 2 คนร่วมในทีม) รางวัลชนะเลิศ เงินรางวัล 50,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง เงินรางวัล 30,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง เงินรางวัล 10,000 บาท รางวัลชมเชย 2 รางวัล ๆละ 8,000 บาท ทั้งนี้ผู้ชนะการประกวดทุกรางวัลจะได้รับโล่รางวัล ผู้ที่สนใจเริ่มสมัครได้ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 16 กันยายน 2554
ผู้ที่สนใจเข้าร่วมการประกวดในกิจกรรมของมูลนิธิการญจนบารมีสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่โทร. 0-2965-9244 หรือดูข้อมูลเพิ่มเติมเว็บไซต์http://kbm.anamai.moph.go.th
อบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 025822965 กรมอนามัย