นายสุนทราพร สิงห์รีวงศ์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ กล่าวว่า สาเหตุหลักของการขาดแคลนสุกร เกิดจากโรคระบาดที่ระบาดพร้อมกันในหลายประเทศทั่วเอเชีย และสภาพอากาศที่แปรปรวนทำให้ผลผลิตสุกรออกสู่ตลาดลดลง 20— 25 % สิ่งที่เกิดขึ้นทันทีคือภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของเกษตรกรที่ต้องสูญเสียจากความเสียหายของสุกรขุน เป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นราว 25% นับเป็นภาวะที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติการณ์
“ความช่วยเหลือของภาครัฐที่น่าจะช่วยได้ในยามนี้คือการปล่อยราคาเนื้อสุกรให้เป็นไปตามกลไกตลาด ซึ่งความต้องการซื้อและปริมาณผลผลิตที่มี จะเป็นตัวควบคุมราคาเอง วันข้างหน้าเมื่อผู้ผลิตเห็นว่าตลาดสามารถแข่งขันได้อย่างเสรี ก็จะกล้าลงทุนเลี้ยงหมูส่งผลให้ปริมาณหมูมากขึ้น ระดับราคาก็จะปรับลดลงเองโดยอัตโนมัติ” นาย สุนทราพรกล่าว
ด้าน นายวรพจน์ สัจจาวัฒนา นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรเพื่อการค้านครราชสีมา ยอมรับว่า ความสูญเสียที่ 25% ที่เพิ่มขึ้นมานี้ ทำให้ต้นทุนการผลิตหมูเป็น จากราคาต้นทุนในการเลี้ยงและผลิตเคยอยู่ที่ 60 บาท พุ่งสูงขึ้นไปถึง 75 - 80 บาทแล้ว จึงขอให้ทุกฝ่ายเข้าใจภาวะการณ์ของเกษตรกรด้วย
ส่วน นายนิพัฒน์ เนื้อนิ่ม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรราชบุรี เปิดเผยว่า ภาวะที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากกระบวนการเลี้ยงสุกรของเกษตรกรรายย่อยของไทยที่มีจำนวนมากถึงร้อยละ 70 นั้นยังไม่พัฒนาเท่าที่ควร เนื่องจากขาดเงินทุนอุดหนุนและขาดการสนับสนุนด้านวิชาการจากภาครัฐเมื่อเกิดโรคระบาดจึงทำให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิตมาก
เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรทั่วประเทศ จึงขอวอนความเห็นใจจากผู้บริโภคที่ในช่วงนี้อาจต้องบริโภคเนื้อหมูในราคาสูงขึ้นบ้าง แต่เชื่อว่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในอีกระยะหนึ่ง อย่างไรก็ตาม การปล่อยให้ราคาสินค้าเกษตรปศุสัตว์เป็นไปตามกลไก จะเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนระดับราคาสินค้าให้อยู่ในภาวะสมดุลและมีเสถียรภาพมากกว่าที่เป็นอยู่