นายโก๊ะ ชี โฮะ ผู้อำนวยการ ประจำภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก บริษัท เทรนด์ ไมโคร อิงค์ กล่าวว่า “กลยุทธ์หลักที่สำคัญของบริษัทปีนี้ คือ การมุ่งเจาะตลาดด้านโซลูชั่นรักษาความปลอดภัยข้อมูลบนคลาวด์เป็นหลัก เพื่อหนุนตลาดของคลาวด์ที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าภายในปี 2558 มูลค่าตลาดคลาวด์ ซิเคียวริตี้ทั่วโลกจะสูงถึง 1.48 หมื่นล้านดอลลาร์”
“ทั้งนี้ บริษัทมีเป้าหมายที่สำคัญคือ การเป็นผู้นำด้านผู้ให้บริการคลาวด์ ซิเคียวริตี้ในเอเชียแปซิฟิก โดยปัจจัยที่จะผลักดันให้เราสามารถขึ้นเป็นเบอร์ 1 ในตลาดคลาวด์ ซิเคียวริตี้นั้นมาจากการที่บริษัทสามารถครองส่วนแบ่งตลาดระบบรักษาความปลอดภัยในเซิร์ฟเวอร์ และเดสก์ทอปเสมือนจริง จากรายงานล่าสุดของศูนย์วิจัยข้อมูลไอดีซีที่ระบุว่าเทรนด์ ไมโคร ครองส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 1 หรือคิดเป็น 22.9% ในตลาดโซลูชั่นรักษาความปลอดภัยสำหรับลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่ทั่วโลก (Enterprise endpoint security solutions worldwide market share) และจากรายงานล่าสุดของศูนย์วิจัยเทคนาวิโอ ประเทศอังกฤษ ยังระบุว่าเทรนด์ ไมโคร ครองส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 1 หรือคิดเป็น 13% ในตลาดด้านการจัดการรักษาความปลอดภัยแบบเสมือนจริง (Virtualization Security Management) ทั่วโลกอีกด้วย”
สำหรับแผนการทำตลาดในประเทศไทยช่วงครึ่งปีหลัง จะเน้นโซลูชั่นรักษาความปลอดภัยบนคลาวด์ เจาะกลุ่มลูกค้าคอนซูเมอร์มากขึ้น รวมถึงการทำตลาดในกลุ่มลูกค้าเอ็นเตอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งประเทศไทยยังเป็นตลาดที่มีอัตราการเติบโตสูง และมีศักยภาพมาก เพราะตลาดคลาวด์ในไทยยังถือว่ายังอยู่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น ซึ่งยังมีโอกาสขยายตัว และมีแนวโน้มเติบโตได้อีกมากในอนาคต
“ส่วนยอดขายในไทยปีนี้คาดว่าจะเติบโตเพิ่มขึ้นประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ โดยปัจจัยบวกที่ทำให้บริษัท เทรนด์ ไมโคร ประเทศไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การผนึกกำลังกับพันธมิตรธุรกิจช่วยกันทำตลาดมากขึ้น การรักษาฐานลูกค้าเก่าและเพิ่มไลน์ผลิตภัณฑ์เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าใหม่ การไปร่วมออกบูธโชว์เทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ของเทรนด์ ไมโครในงานคอมมาร์ตฯ ตลอดทั้งปี รวมถึงบริษัทมีแผนจะจัดกิจกรรมใหญ่เปิดตัวโซลูชั่นรักษาความปลอดภัยล่าสุดสำหรับกลุ่มลูกค้าคอนซูเมอร์เป็นครั้งแรกในช่วงไตรมาสสุดท้ายด้วย ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลให้ยอดขายของเทรนด์ ไมโครเติบโตและเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้อย่างแน่นอน” นายโก๊ะกล่าวสรุป
นายคงศักดิ์ ก่อตระกูล ผู้จัดการฝ่ายการตลาด และผลิตภัณฑ์ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัท เทรนด์ ไมโคร อิงค์ กล่าวว่า “แนวโน้มของภัยคุกคามช่วงไตรมาสสองที่ผ่านมาพบว่า อาชญากรไซเบอร์กำลังเดินหน้าเปิดฉากการโจมตีอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะในรูปแบบที่มีเป้าหมายหรือไม่ก็ตาม แต่ก็ดูเหมือนว่าจะยังไม่สามารถระบุจำนวนบริษัทและผู้ใช้ที่อาจได้รับผลกระทบจากอันตรายดังกล่าวในช่วงระยะเวลาก่อนสิ้นปีนี้ได้”
โดยล่าสุดบริษัทได้สรุปข้อมูลเกี่ยวกับการโจมตี การละเมิด การใช้ประโยชน์ช่องโหว่ และการหลอกลวงที่ติดอันดับสูงสุด ดังนี้
การละเมิดข้อมูลบริษัท เอพซิลอน (Epsilon) เมื่อเดือนเมษายน ได้แสดงให้ทุกคนเห็นแล้วว่าภัยคุกคามดังกล่าวยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และส่งผลให้บัญชีอีเมลของตนตกอยู่ในภาวะอันตราย ซึ่งจะนำไปสู่การขโมยข้อมูลประจำตัวและข้อมูลสำคัญต่างๆ ได้
จากพาดหัวข่าวที่เกิดขึ้นหลายครั้งในช่วงไตรมาสที่สอง นักวิจัยบริษัท เทรนด์ ไมโคร ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าการเปิดดูบัญชีอีเมลผ่านเว็บในที่ทำงานและการดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นที่เป็นโทรจันของผู้ใช้และองค์กรธุรกิจต่างก็มีความเสี่ยงที่เหมือนกัน
ไมโครซอฟท์ตกเป็นผู้ค้าหมายเลขหนึ่งที่เป็นเป้าหมายการโจมตีผ่านช่องโหว่ โดยมีจำนวนการโจมตีทั้งสิ้น 96 ครั้ง ขณะที่กูเกิลและอโดบีครองอันดับสองและสามด้วยจำนวนการโจมตี 65 และ 62 ครั้งตามลำดับ
แอปเปิล ซึ่งในไตรมาสที่ 1 เป็นผู้ค้าที่ถูกโจมตีเป็นอันดับสูงสุด แต่ในไตรมาสล่าสุดบริษัทกลับไม่ได้ติด 10 อันดับแรก อย่างไรก็ตาม จำนวนช่องโหว่ในอุปกรณ์พกพา Mac และ Apple ก็กำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
เนื่องจากความนิยมที่เพิ่มขึ้นของระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ ทำให้พบการโจมตีอย่างน้อยสามครั้งในช่วงไตรมาสที่สอง เช่นเดียวกับมัลแวร์ แอนดรอยด์ ที่พบก่อนหน้านี้ การโจมตีทั้งสามครั้งเป็นแอพพลิเคชั่นลวงหรือการอัพเดตลวงที่จะล่อให้ผู้ใช้ทำการเรียกใช้ แม้ว่าเป้าหมายการโจมตีจะต่างออกไปจากช่วงก่อนหน้านี้ก็ตาม
Facebook พบกับการโจมตีจำนวนมากในรูปของลิงก์อันตรายในรูปสแปมผ่านเครื่องมือที่หลากหลายของ Facebook หรือสคริปต์ “คัดลอกและวาง” (copy-and-paste) โดยทั้งหมดนี้ล้วนนำไปสู่การขโมยข้อมูลที่สำคัญ
ความสำเร็จที่โดดเด่นด้านการรักษาความปลอดภัย
แม้ว่าภัยคุกคามจะยังคงเกิดการเปลี่ยนแปลงและมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น แต่บริษัท เทรนด์ ไมโคร และทีมงานรักษาความปลอดภัยทั่วโลกก็สามารถรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวได้เป็นอย่างดีในช่วงไตรมาสที่สอง ดังนี้
บริษัท เทรนด์ ไมโคร ได้เข้าร่วมในการดำเนินการกับเซิร์ฟเวอร์สั่งการและควบคุม (C&C) ที่ชื่อว่า CARBERP ซึ่งได้ทำการขโมยข้อมูลส่วนบุคคลจากผู้ใช้ทั่วโลกมาเป็นเวลานานหลายเดือนนับตั้งแต่ต้นปี 2553
บริษัท เทรนด์ ไมโคร มีบทบาทสำคัญในการบล็อก URL ที่เป็นอันตรายตลอดทั้งไตรมาสที่สอง ซึ่งทำให้บริษัทติดบอร์ดผู้นำด้านการรักษาความปลอดภัยของไมโครซอฟท์เป็นเดือนที่เจ็ดติดต่อกัน
บริษัท เทรนด์ ไมโคร ยังได้ร่วมเป็นพยานความสำเร็จในการดำเนินการกับบ็อตเน็ต CoreFlood ของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกาและสำนักงานสืบสวนกลางของสหรัฐอเมริกา (เอฟบีไอ) ขณะเดียวกันรัฐสภาญี่ปุ่นก็ได้อนุมัติกฎหมายอาชญากรไซเบอร์ที่ได้รับการปรับปรุงใหม่ ซึ่งจะส่งผลให้ผู้เขียนมัลแวร์ได้รับการลงโทษ ในกรณีที่สร้างสิ่งที่เป็นอันตรายโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร และ/หรือมีวัตถุประสงค์เพื่อเรียกใช้ระบบของผู้อื่นโดยที่ไม่ได้รับความยินยอม
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ บริษัท คอร์ แอนด์ พีค จำกัด ที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์ ชญาพัฒน์ สนธิกร
โทร +66 (0) 2439 4600 ต่อ 8202 อีเมล: [email protected]