นายธีรศักดิ์ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ตามที่ได้เข้ามาฟื้นฟูกิจการของ ibank นั้น พบว่าธนาคารประสบปัญหาหลายด้านทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับธนาคารโดยตรงทั้งด้านระบบงาน ด้านสาขา ช่องทางการให้บริการ การขาดความเข้าใจด้าน Islamic Banking & Finance ที่แท้จริงของผู้กำกับดูแล รวมทั้งยังมีปัญหาที่เกี่ยวกับกฏหมายและภาษีอากร ที่มีผลต่อการดำเนินธุรกิจตามหลักอิสลามของธนาคาร ทำให้ธนาคารมีผลขาดทุนสะสมจำนวนมากกว่า 800 ล้านบาท ดังนั้นด้วยข้อจำกัดที่ต้องดำเนินการให้ธนาคารสามารถผ่านพ้นภาวะขาดทุนดังกล่าวให้ได้ โดยไม่เป็นภาระกับทางการมากเกินไป จึงได้กำหนดแผนการฟื้นฟูธนาคารเป็น 3 ระยะ คือระยะที่ 1 การฟื้นฟูกิจการ ระยะที่ 2 เป็นการจัดวางระบบงานและวางโครงสร้างองค์กรให้สอดคล้องกับแผนธุรกิจ โดยในปีที่ผ่านมาธนาคารสามารถล้างขาดทุนสะสมและจ่ายปันผลให้ผู้ถือหุ้นได้เป็นปีแรก
ทั้งนี้ ธนาคารเริ่มมีความพร้อมที่จะเข้าสู่การพัฒนาในระยะที่ 3 ซึ่งเป็นการกำหนด Port สินเชื่อหลักของธนาคารให้เติบโตทางด้าน MSMEs และ Consumer Finance หลังจากที่ธนาคารได้ขึ้นระบบ Core Banking System หรือ CBS รวมทั้ง ERP และ CAP เรียบร้อยแล้วเมื่อเดือนที่ผ่านมา ทำให้ธนาคารมีความพร้อมในการให้บริการทั้ง Mobile Banking, Internet Banking และ Credit Card ได้ภายในเดือนกันยายนนี้ นอกจากนั้นธนาคารยังมีความพร้อมด้านสาขาที่ให้บริการได้มากขึ้นกว่า 70 สาขาทั่วประเทศ
ดังนั้นตามที่สคร. ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลแบงค์รัฐทั้งหมดได้แสดงความกังวลต่อการดำเนินงานของธนาคารนั้นอาจมีความคลาดเคลื่อนในข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารได้นำส่งแผนยุทธศาสตร์ให้สคร.เห็นชอบตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดโดยไม่ได้รับแจ้งให้ดำเนินการจัดทำแผนอื่นๆ เพิ่มเติม และยังเห็นว่า การแสดงความกังวัลของ สคร. ผ่านสื่อนั้นเป็นวิธีการที่ไม่เหมาะสม หน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลสถาบันการเงินของรัฐควรมีความระมัดระวังในการให้ข่าว เพราะจะทำให้ประชาชนทั่วไปเกิดความเข้าใจผิด ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายได้ นายธีรศักดิ์กล่าว
ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย รัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงการคลัง ให้บริการลูกค้าทุกศาสนา สำหรับลูกค้าที่สนใจผลิตภัณฑ์สินเชื่อและเงินฝากของธนาคาร สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Call Center 1302 หรือสาขาของธนาคารทั่วประเทศ ธนาคารของคุณ ...อุ่นใจเมื่อใช้ ibank