นายสิงหะ นิกรพันธุ์ ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) เปิดเผยว่าในวันที่ 11 ส.ค.54 นี้ นับเป็นวันแรกที่ตาม พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก 2551 กำหนดให้มีการคุ้มครองเงินฝากตามจำนวนที่ฝากไว้ รวมถึงดอกเบี้ยคงค้างจากเงินฝากดังกล่าวในวงเงินรวมไม่เกิน 50 ล้านบาทต่อรายผู้ฝากต่อสถาบันการเงิน และในวันที่ 11 ส.ค.55 เป็นต้นไป จะได้รับความคุ้มครองเงินฝากวงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อรายผู้ฝากต่อสถาบันการเงิน โดยผู้ฝากทุกคนทั้ง 100% จะได้รับความคุ้มครองเหมือนกันหมด และผู้ฝากที่ได้รับคุ้มครองเต็มวงเงินคือผู้ฝากที่มีเงินฝากไม่เกิน 1 ล้านบาทซึ่งมีอัตราส่วนสูงถึง 98.5% ของผู้ฝากทั้งหมด
ดังนั้น การคุ้มครองดังกล่าวเป็นการ “คุ้มครองประชาชนผู้ฝากเงินทุกราย” ในระบบสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้ความคุ้มครอง ตามอัตราวงเงินคุ้มครองที่กฎหมายกำหนด ซึ่งปัจจุบันบัญชีเงินฝากที่ได้รับความคุ้มครองโดย สคฝ. มีจำนวน 60 ล้านบัญชี หรือคิดเป็นจำนวนเงิน 7.4 ล้านล้านบาท ที่จะได้รับการดูแลในกรณีที่เกิดวิกฤติสถาบันการเงินปิดกิจการ ผู้ฝากเงินจึงมั่นใจได้ ไม่ต้องตื่นตระหนก
อย่างไรก็ตาม สถาบันคุ้มครองเงินฝากยังเป็นกลไกที่จะสร้างวินัยทางการเงิน ซึ่งจะเสริมสร้างความมั่นคงและเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน รวมทั้งยังช่วยพัฒนาศักยภาพในการแข่งขันให้กับสถาบันการเงินต่างๆ ให้ดำเนินการอย่างระมัดระวัง โปร่งใส ซึ่งเป้าหมายสุดท้ายก็คือจะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อผู้ฝากเงินทุกคน
นอกจากนี้ ในวันที่ 11 ส.ค.54 วันเดียวกันนี้ ยังนับเป็นวันครบรอบการดำเนินการ 3 ปี ของสถาบันคุ้มครองเงินฝากอีกด้วย ซึ่งสถาบันคุ้มครองเงินฝากได้ยึดมั่นในภารกิจการทำหน้าที่ดูแลผลประโยชน์ของประชาชนผู้ฝากเงินกับสถาบันการเงินด้วยระดับมาตรฐานสากลอย่างต่อเนื่อง
ก้าวต่อไปสู่ปีที่ 4 ของสถาบันคุ้มครองเงินฝากนี้ สคฝ.ได้เตรียมจัดทำ “แผนกลยุทธ์สถาบันคุ้มครองเงินฝาก 3 ปี” ( พ.ศ. 2555-2557 ) เพื่อเป็นถ้อยแถลงเกี่ยวกับทิศทางในอนาคต และเป็นกลไกสื่อสารให้ผู้ที่มีส่วนร่วมในองค์กรได้ยึดถือเป็นแนวปฏิบัติร่วมกัน ในการกำหนดแผนงานและตัวชี้วัดต่างๆต่อไป โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาสถาบันไปสู่องค์กรแห่งความเป็นเลิศ มีการบริหารงานอย่างมีธรรมาภิบาล มีความรับผิดชอบต่อผู้เกี่ยวข้อง และมุ่งส่งเสริมสร้างความมั่นคงและเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินต่อไป
ทั้งนี้ จากแผนยุทธศาสตร์หลักๆ ดังกล่าวได้มุ่งเน้นให้เกิดการขับเคลื่อนในประเด็นที่สำคัญ ได้แก่ การเป็นเลิศด้านการปฎิบัติการ (Operational Excellent) ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกา
เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการดำเนินการกรณีที่สถาบันการเงินถูกเพิกถอนใบอนุญาต มีระบบติดตามฐานะและดูแลการดำเนินงานของสถาบันการเงินและมีแผนรองรับกรณีเกิดวิกฤติ มีการบริหารเงินกองทุนคุ้มครองเงินฝากให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด มีกระบวนการชำระบัญชีที่มีประสิทธิภาพ มีการควบคุมภายในและการบริหารความเสี่ยงขององค์กร รวมทั้งพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศให้ครบถ้วนทันสมัย
นอกจากนี้ แผนกลยุทธ์ยังให้ความสำคัญกับการสร้างและพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ ความสามารถเพิ่มขึ้น และทำงานอย่างมีความสุข พร้อมดำเนินงานและบริหารสถาบันอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล (Good Governance) รวมทั้งสถาบันฯ ยังได้ให้ความสำคัญกับการมีสัมพันธภาพที่ดีกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อสถาบัน (Effective Partnerships) และการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับระบบการคุ้มครองเงินฝาก และการเสริมสร้างภาพลักษณ์ของสถาบัน (Educated & Informed Stakeholders)
ทั้งนี้ “แผนกลยุทธ์สถาบันคุ้มครองเงินฝาก 3 ปี”จะเป็นเสมือนกรอบและทิศทางการดำเนินงานของสถาบัน ที่ได้ผ่านการประเมินสภาวะแวดล้อมและปัจจัยต่างๆที่เกี่ยวข้อง ทั้งภายในและภายนอกองค์กรด้วยเครื่องมือต่างๆ ที่เหมาะสมกับสถานการณ์ เพื่อให้สถาบันสามารถก้าวต่อไปโดยบรรลุวัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง ตาม พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ.2551