ทีดีอาร์ไอไม่ห่วงแรงงานต่างด้าว จัดระบบดีคุมได้แน่

พุธ ๑๐ สิงหาคม ๒๐๑๑ ๑๖:๕๒
ทีดีอาร์ไอระบุ ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา แรงงานต่างด้าวเพิ่ม 7 เท่า จาก 2.9 แสนคนเป็นกว่า 2 ล้านคนในปัจจุบัน พิสูจน์นโยบายผ่อนผันไม่ช่วยแก้ปัญหาได้ยั่งยืน เสนอเร่งจัดระบบการใช้แรงงานต่างด้าวอย่างเหมาะสมเท่าที่จำเป็น และปฏิบัติตามกฎกติกาอย่างจริงจัง จะควบคุมได้ ไม่เพิ่มจำนวน คาดอีก 5 ปี หมดยุคแรงงานราคาถูก

ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยเปิดเผยประมาณการณ์ความจำเป็นในการใช้แรงงานต่างด้าว โดยสำหรับการใช้แรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือนั้น อีก 5 ปีข้างหน้าจะหมดยุค “แรงงานต่างด้าวราคาถูก” แนะนายจ้างเร่งปรับตัวใช้เทคโนโลยี เครื่องจักรเข้ามาเสริมแรงงานคน ส่วนกลุ่มแรงงานต่างด้าวระดับบน(ฝีมือดี) ซึ่งรัฐละเลยมานานและเป็นจุดอ่อนเสมอมา คือ ปล่อยให้นักลงทุนข้ามชาติใช้เงื่อนไขด้านการค้าและการลงทุน นำคนของตัวเองเข้ามาทำงาน โดยมักอ้างคุณสมบัติความเชี่ยวชาญเฉพาะ เช่น เฉพาะที่ผ่านช่องทางส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ มีจำนวนมากกว่า 2.3 หมื่นคน ทั้งที่มีแรงงานฝีมือไทยสายตรงที่สามารถทำได้เช่นสายวิทยาศาสตร์ ตกงานกว่า 3-4 หมื่นคน และหากต้องการแรงงานทั่วไปก็มีแรงงานไทยสายสังคมตกงานอีกกว่า 6-7 หมื่นคนซึ่งสามารถเพิ่มศักยภาพให้ทำงานได้ จึงไม่ค่อยยุติธรรมกับแรงงานไทยที่ยังว่างงานอยู่และมีศักยภาพเพียงพอ

ดร.ยงยุทธ กล่าวว่า ความจำเป็นของการใช้แรงงานต่างด้าวนั้นมีมานานแล้ว ผู้ประกอบการบางส่วนจำเป็นต้องรับแรงานต่างด้าวเข้าทำงานในลักษณะงานที่แรงงานไทยไม่ทำหรือไม่มีทักษะเพียงพอ การจัดการของรัฐมุ่งเน้นไปที่กลุ่มแรงงานต่างด้าวระดับล่างซึ่งเป็นปัญหาและมีจำนวนมาก โดยในช่วง 15 ปี (พ.ศ.2540-2554) มีจำนวนเพิ่มขึ้น จาก 2.9 แสนคนในปี 2540 เป็น 1.3 ล้านคน (เฉพาะส่วนที่มีการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง)ในปี 2554 และเมื่อรวมกับจำนวนแรงงานต่างด้าวที่จดทะเบียนสิ้นสุดไปเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมาซึ่งคาดว่ามีไม่น้อยกว่า 7 แสนคน จะทำให้มีจำนวนแรงงานต่างด้าวในปัจจุบันกว่า 2 ล้านคน และในช่วง 15 ปีก็พบว่าจำนวนแรงงานต่างด้าวขึ้น ๆ ลง ๆ มาตลอด เป็นผลจากนโยบายผ่อนผันที่ไม่ได้ผลและความไม่จริงจังในการดำเนินการตามมาตรการต่าง ๆรวมทั้งความไม่เข้มงวดเพียงพอของมาตรการ ตรวจ จับ ส่งกลับที่ ทำให้มีแรงงานย้อนกลับเข้ามาอยู่อย่างไม่ถูกต้อง ทำให้มีแรงงานต่างด้าวระดับล่างกว่า 40% ที่อยู่ในประเทศไทยในลักษณะกึ่งผิดกึ่งถูก

อย่างไรก็ตามในระยะยาวปัญหาแรงงานต่างด้าวไม่น่าวิตกเมื่อสามารถจัดการอย่างเป็นระบบ ซึ่งปัจจุบัน มีการควบคุมที่ชัดเจนขึ้นโดยครั้งนี้เป็นปีสุดท้ายที่เปิดให้มีการขึ้นทะเบียน และจะไม่มีการขยายจำนวนหรือผ่อนผันเพิ่มขึ้นอีก ยกเว้นในบางสาขาที่ปรับตัวไม่ทันก็อาจจำเป็นต้องใช้ภายใต้เงื่อนไข การนำเข้าแรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือจะเปลี่ยนไปใช้วิธีนำเข้าผ่าน MOUซึ่งไทยทำไว้กับประเทศเพื่อนบ้าน 3 ชาติ คือ พม่า ลาว กัมพูชา แต่ก็ไม่น่าห่วงเพราะแต่ละปีมีจำนวนเพียง 1% หรือราว 2 หมื่นคนของจำนวนแรงงานต่างด้าวทั้งหมดและในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ได้รับความร่วมมือจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างดีในการพิสูจน์สัญชาติ โดยเฉพาะประเทศพม่าซึ่งแรงงานมีปัญหาเรื่องการพิสูจน์สัญชาติมากที่สุดนั้น ก็สามารถพิสูจน์สัญชาติได้แล้วกว่า 5 แสนคน จึงคาดว่าอีก 5 ปีข้างหน้าจำนวนแรงงานต่างด้าวโดยรวมไม่น่าจะเพิ่มขึ้นมากกว่าปัจจุบัน

การดำเนินการต่าง ๆ จะนำไปสู่การปรับโครงสร้างหน้าใหม่ของอุตสาหกรรมและการจ้างงาน จะไม่มีแรงงานราคาถูกอีกต่อไป และการนำเข้าแรงงานมาเติมความขาดแคลนระหว่างปีโดยผ่านช่องทาง MOU นั้น จะเป็นแรงงานถูกกฎหมาย และได้สิทธิสวัสดิการต่าง ๆ เช่นเดียวกับแรงงานไทย ซึ่งจูงใจที่จะทำให้มีการนำเข้าแรงงานผ่านช่องทางนี้เพิ่มขึ้น แต่เชื่อว่า จะมีการนำเข้าได้ไม่มาก เนื่องจากแรงงานมีภาระต้นทุน “ค่าหัว”ในการเดินทางที่ต้องจ่ายทั้งในประเทศตนเองและประเทศปลายทาง โดยปัจจุบันค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจาก 1.2 หมื่นบาทเป็น1.5-2 หมื่นบาท ซึ่งถือว่าสูงสำหรับแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนนายจ้างไม่เพียงมีต้นทุนค่าจ้างแรงงานเพิ่มแต่ยังต้องเสียค่าใช้จ่ายให้กับโบรกเกอร์จัดหางานด้วย จึงเป็นต้นทุนที่สูง จึงต้องพิจารณาเรื่องการปรับตัวของอุตสาหกรรม การนำเทคโนโลยีและเครื่องจักร มาใช้ควบคู่กับการใช้จำนวนแรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือในจำนวนที่จำเป็นมาทำงานควบคู่กับแรงงานไทยซึ่งฝีมือดีกว่า ก็จะช่วยเพิ่มผลิตภาพและลดต้นทุนได้

ดร.ยงยุทธ กล่าวว่า ประเด็นที่น่าวิตกคือ ปัญหาคอร์รัปชั่นและการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งไทยเป็นประเทศที่ถูกจับตามองในเรื่องนี้ จึงต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างตรงไปตรงมา และต้องสร้างความชัดเจนในเชิงนโยบาย ทิศทางการใช้แรงงานของภาคอุตสาหกรรม ที่จะทำให้เกิดการใช้แรงงานระดับล่างหรือระดับกลางน้อยลง เพราะปัจจุบันเรามีปัญหามีแรงงานระดับสูงว่างงานจำนวนมาก ซึ่งการจะทำให้เกิดความชัดเจนได้นั้นควรเร่งรัดการออกกฎกระทรวงภายใต้ พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 ให้ออกมาอย่างครบถ้วนจะทำให้สามารถกำกับดูแลการใช้แรงงานต่างด้าวได้ชัดเจนทั้งในเชิงนโยบายและการปฎิบัติ อาทิ เรื่องการคุ้มครองอาชีพสำหรับคนไทย และการอนุญาตทำงานในช่วงเวลาต่าง ๆ ฯลฯ

นอกจากนี้ควรติดตามประเมินผลการดำเนินตามนโยบายอย่างต่อเนื่อง และสิ่งสำคัญคือ หน่วยงานภาครัฐควรมีการจัดทำระบบฐานข้อมูลแรงงานต่างด้าวซึ่งมีความจำเป็น เพราะการกำหนดโควต้าหรือจำนวนแรงงานต่างด้าวที่จะนำเข้ามานั้นมักมาจากการร้องขอของผู้ประกอบการแต่หน่วยงานกำกับดูแลและการตัดสินใจเชิงนโยบายไม่มีข้อมูลของตนเอง และไม่ได้ผ่านกลไกของสมาคมวิชาชีพต่าง ๆ ซึ่งในต่างประเทศ เช่น ประเทศเกาหลีหรือไต้หวัน จะให้ความสำคัญกับส่วนนี้ โดยภาครัฐกำหนดความต้องการของทั้งประเทศในแต่ละปี จากนั้นเป็นบทบาทของสมาคมวิชาชีพไปจัดสรรความต้องการแท้จริงของแต่ละสาขาอาชีพ สำหรับประเทศไทยไม่มีข้อมูลที่แท้จริงว่าจำเป็นต้องใช้แรงงานต่างด้าวในสาขาต่าง ๆ จำนวนมากน้อยแค่ไหน และควรจัดเก็บข้อมูลที่สามารถติดตามได้ว่าระหว่างมาทำงานนั้นแรงงานมีการย้ายที่อยู่หรือเปลี่ยนนายจ้างไปอยู่ที่ไหนอย่างไร ซึ่งตามเงื่อนไขของใบอนุญาตทำงานในปัจจบันเป็นการทำผิดเพราะเขาไม่สามารถเปลี่ยนนายจ้างหรือไปทำงานนอกพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตได้

“ ในอนาคตเรื่องแรงงานต่างด้าวในแง่จำนวนไม่น่าห่วง เพราะวงรอบของการใช้แรงงานต่างด้าวอยู่ในภาวะสูงสุดแล้ว และกำลังจะหยุดนิ่งและลดลง หากมีการจัดระบบควบคุมให้เป็นไปตามกฎกติกา อย่างจริงจังจึงจะทำให้มีการใช้แรงงานอย่างเต็มศักยภาพทั้งแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าวในสัดส่วนที่ไม่สร้างผลกระทบต่อประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม อาชญากรรม ซึ่งต้องใช้งบประมาณดำเนินการทั้งสิ้น”

ดร.ยงยุทธ กล่าวด้วยว่า สำหรับนโยบายของรัฐบาลการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท และเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาทนั้นหากทำได้จริงจะสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ให้กับโครงสร้างค่าจ้างและอุตสาหกรรมไทย ที่จะต้องปรับตัว และยกระดับการพัฒนาของประเทศขึ้นไปอีกขั้นหลังจากติดกับดักอยู่ในประเทศกำลังพัฒนามายาวนาน นโยบายนี้จึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง หากทำได้สำเร็จก็จะเกิดคุณูปการแก่ตัวแรงงานและประเทศชาติในการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำได้อีกทางหนึ่ง.

เผยแพร่โดย ทีมสื่อสารสาธารณะ-ทีดีอาร์ไอ

โทร.0-2270-1350 ต่อ 113 (ศศิธร) หรือ e-mail:[email protected]

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version