นางนภา เศรษฐกร รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า การจัดสวัสดิการสังคม เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายให้ความสำคัญ โดยในประเทศไทยได้มีพระราชบัญญัติส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม พ.ศ.๒๕๔๖ และที่ปรับปรุงแก้ไข (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๐ ทั้งนี้ ตามมาตรา ๑๓ กำหนดให้คณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม มีอำนาจหน้าที่เสนอแผนพัฒนางานสวัสดิการสังคมต่อคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติเป็นแผนแม่บท จึงได้มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ ๕ ปี สร้างสวัสดิการสังคมไทย ขึ้น ฉบับแรก ระหว่าง พ.ศ.๒๕๕๐-๒๕๕๔ และต่อเนื่องมาถึงยุทธศาสตร์สวัสดิการสังคมไทย ฉบับที่ ๒ (พ.ศ.๒๕๕๕-๒๕๕๙ ) ซึ่งอยู่ในช่วงของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๑ (พ.ศ.๒๕๕๕-๒๕๕๙) โดยมีประเด็นสำคัญในการผลักดันให้สังคมไทยเป็นสังคมสวัสดิการและจัดสวัสดิการถ้วนหน้าให้แก่ประชาชนทุกคน ภายในปี ๒๕๖๐ ร่างยุทธศาสตร์ฉบับนี้ จึงมีแนวทางการดำเนินงานประกอบด้วย ๑.การเสริมพลังสู่สังคมสวัสดิการ ๒.การจัดสวัสดิการถ้วนหน้าเพื่อความเป็นธรรมแก่กลุ่มเป้าหมาย ๓.การพัฒนาคุณภาพบริการและประสิทธิภาพการบริหารจัดการ ๔.การส่งเสริมมาตรการการเงิน การคลัง การระดมทุนเพื่อเข้ามารับผิดชอบสังคม ๕. การดำเนินการเพื่อก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนและกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ
นางนภา กล่าวต่อว่า นอกจากปัจจัยภายในที่เห็นความสำคัญในงานสวัสดิการสังคมแล้ว หน่วยงานสหประชาชาติก็ได้ให้ความสำคัญในงานสวัสดิการสังคมในมิติการคุ้มครองทางสังคม ซึ่งได้มีการลงนามความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและสหประชาชาติ ตามกรอบความร่วมมือเพื่อการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ โดยชูประเด็นเรื่องการสร้างหลักประกันการคุ้มครองทางสังคมขั้นพื้นฐาน Social Protection Floor ซึ่งถือเป็นสิทธิของประชาชนที่ต้องได้รับหลักประกันขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิตในฐานะพลเมืองของประเทศและของโลก โดยสหประชาชาติ ได้ให้ความสำคัญในการร่วมมือกับประเทศไทย ในการส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิบริการทางสังคม การพัฒนาระบบการช่วยเหลือทางสังคมแก่ผู้มีรายได้ต่ำ การพัฒนาระบบประกันสังคมแก่แรงงานนอกระบบ เป็นต้น.