องค์กรเกษตร 7 สมาคม ยื่นเสนอชะลอการบังคับใช้กฎกระทรวงฯ วอนรัฐบาลใหม่เร่งแก้พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช ปี 2542 ที่เป็นอุปสรรคต่อเศรษฐกิจการเกษตร

อังคาร ๑๖ สิงหาคม ๒๐๑๑ ๑๐:๕๘
องค์กรเกษตร 7 สมาคมและเครือข่ายเกษตรของไทย ประกอบด้วยสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย (THASTA) โดยนายพาโชค พงษ์พานิช ,สมาคมปรับปรุงพันธุ์และขยายพันธุ์พืชแห่งประเทศไทย, สมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย, สมาคมผู้ส่งออกดอกกล้วยไม้ไทย,สมาคมพฤกษชาติแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์, สมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย และสมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร ร่วมลงนามยื่นเสนอหนังสือมติต่อปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ขอให้ชะลอการบังคับใช้กฎกระทรวงฯจนกว่า พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช ปี 2542 จะได้รับการแก้ไข ชี้ปมปัญหาการร่างกฎหมายยังขาดองค์ความรู้ด้านมิติการเกษตรและวิทยาศาสตร์การเกษตรของโลกปัจจุบันที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยีการวิจัย รัฐบาลชุดใหม่ต้องเข้ามาแก้อุปสรรค ปรับปรุงกฎหมายและกฏระเบียบ สนับสนุนภาคการเกษตร โดยภาคเอกชนร่วมงานกับภาครัฐในการนำพาเกษตรประเทศไทยสู่ความก้าวหน้า ส่งเสริมความเข้มแข็งด้านการแข่งขันด้านการพัฒนาพันธุ์พืชเพื่อรองรับการค้าเสรีทั้งในระดับอาเซียนและระดับโลก

สืบเนื่องจากที่ผ่านมาเครือข่ายสมาคมที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรได้ออกมาชี้หลายประเด็นปัญหาในพ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืชปี พ.ศ. 2542 เช่น การระบุคำจำกัดความของ “พันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป “ ที่ครอบคลุมพันธุ์พืชทุกชนิดที่ปลูกในประเทศไทย และที่เป็นประเด็นปัญหาต่อภาคอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์คือการที่พันธุ์พืชหลายชนิดทั้งพืชไร่ พืชผัก และไม้ดอก เป็นต้น ที่พัฒนาโดยบุคคลทั่วไปอันเป็นทรัพย์สินทางปัญญาชนิดหนึ่งที่ไม่ได้เป็นพันธุ์ที่พัฒนามาจากภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือเป็นพันธุ์ที่ปลูกต่อเนื่องกันมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษในประเทศไทย ถูกจัดเป็นพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป ซึ่งพันธุ์ที่บุคคลทั่วไปหรือเอกชนที่ทำงานปรับปรุงพันธุ์พืชต้องใช้พันธุ์เหล่านี้สำหรับเป็นเชื้อพันธุกรรมเป็นการเฉพาะของตนเองเป็นพันธุ์ตั้งต้นในการปรับปรุงพัฒนาให้ได้พันธุ์เพื่อการค้า กลับต้องมาขออนุญาตการรวบรวมพันธุ์พืชของตนเองที่ไม่ได้มีอยู่ทั่วไปหรือในความครอบครองของผู้อื่นเพื่องานวิจัยเพื่อประโยชน์ทางการค้าและแบ่งปันผลประโยชน์กับรัฐ ซึ่งก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการทำงานวิจัยและปรับปรุงพันธุ์พืช กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมวิชาการเกษตรได้ทำร่างแก้ไขในประเด็นคำจำกัดความที่เป็นปัญหาใน พ.ร.บ.นี้เสร็จแล้ว ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีและกำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีต่อไป แต่ปรากฎว่าได้มีประกาศกฎกระทรวง เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข การขออนุญาต เก็บ จัดหา หรือรวบรวมพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไปหรือพันธุ์พืชป่า เพื่อการปรับปรุงพันธุ์ ศึกษาทดลอง หรือวิจัยเพื่อประโยชน์ในทางการค้า และการทำข้อตกลงแบ่งปันผลประโยชน์ เมื่อ วันที่ 21 มกราคม 2554 และเตรียมออกแบบคำขออนุญาต เก็บ จัดหา หรือรวบรวมพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไปฯ เพื่อดำเนินการตามมาตรา 52 จี้เอกชน บุคคลทั่วไป รวมถึงนักวิจัยของภาครัฐด้วยที่มีงานวิจัยปรับปรุงพันธุ์ หรือคัดเลือกพันธุ์พืช เพื่อจำหน่ายเป็นการค้า ทั้งพืชไร่ พืชผัก พืชไร่ พืชสวน และไม้ดอก เป็นต้น ต้องมาขออนุญาตและทำข้อตกลงแบ่งปันผลประโยชน์ให้รัฐ โดยหากไม่ปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าว ต้องมีโทษตามที่ระบุในกฎหมาย คือต้องโทษจำหรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ

นายพาโชค พงษ์พานิช (Mr.Pachok Pongpanich) นายกสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย (THASTA) กล่าวว่า “ปัจจุบัน ธนาคารโลกจัดอันดับ ความน่าลงทุน ของไทยร่วงจากอันดับ 16 เป็นอันดับ 19 นอกจากนี้ World Economic Forum ยังรายงานอันดับความสามารถในการแข่งขันของไทย ลดลงจากอันดับที่ 36 เป็นอันดับที่ 38 อีกด้วย ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเซีย อย่างประเทศมาเลเซีย รัฐบาลจับมือสนับสนุนภาคเอกชนวางวิสัยทัศน์และเป้าหมายของประเทศสู่การเป็น Green Economy ในปี 2020 กันแล้ว อินเดีย จีน และเวียดนามเองก็วางแผนกลยุทธ์การพัฒนานวัตกรรมมาปฏิรูปการเกษตรไล่หลังประเทศไทยมาแล้ว แต่ประเทศไทยของเรากลับปล่อยให้ห่วงโซ่อุตสาหกรรมการเกษตรและอาหารที่มีความสำคัญยิ่งและมีมูลค่าปีละกว่า 5.6 แสนล้านบาท ต้องเผชิญกับอุปสรรคกฎหมายที่ไม่เป็นสากล ที่กีดกันการพัฒนาพันธุ์พืชและการค้าการลงทุนในอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ ดังเช่นพ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช ปีพ.ศ. 2542

นายพาโชค พงษ์พานิช กล่าวสรุปถึงประเด็นปัญหาในพ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช ปี 2542 ซึ่งสร้างผลกระทบต่อประเทศไทย และห่วงโซ่การเกษตรทุกฝ่ายตั้งแต่ นักปรับปรุงพันธุ์ นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ เกษตรกร ประชาชนผู้บริโภค การค้าการลงทุน รวมไปถึงผลเสียหายที่มีต่อความก้าวหน้าด้านการพัฒนานวัตกรรมเกี่ยวกับพันธุ์พืชของประเทศไทย ว่า มี ประเด็นหลักด้วยกัน

1. การระบุความหมายของพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป ในพ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช 2542 ที่ครอบคลุมพันธุ์พืชทุกชนิดที่ปลูกในประเทศไทย รวมถึง พืชไร่ พืชสวน พืชผัก พันธุ์ไม้ดอก ไม้ประดับ และพันธุ์ทุกชนิดที่พัฒนาโดยบุคคลทั่วไปอันเป็นทรัพย์สินทางปัญญาอย่างหนึ่งมาเป็นพันธุ์สาธารณะที่จะต้องขออนุญาตการรวบรวม จัดเก็บ เพื่องานวิจัย เพื่อการค้าและตกลงแบ่งปันผลประโยชน์กับรัฐ ซึ่งอาจขัดต่อบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ และเป็นอุปสรรคต่อการทำงานวิจัยและปรับปรุงพันธุ์พืช ที่สนองตอบต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมและสภาวะการแข่งขันของตลาด ในที่สุดจะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาการเกษตรและลดขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดโลกของประเทศไทย

2. การกำหนดเพิ่มประเภทของ “พันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป” ซึ่งกินความหมายครอบคลุมพันธุ์พืช 3 กลุ่ม คือ 1)พันธุ์พืชที่กำเนิดภายในประเทศ 2) พันธุ์พืชที่มีอยู่ในประเทศไทยที่มีการใช้ประโยชน์อย่างแพร่หลาย 3)ให้หมายความรวมถึงพันธุ์พืชอะไรก็ตามที่ไม่ใช่พันธุ์พืชใหม่ พันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น หรือพันธุ์พืชป่า หมายถึงว่า เหมารวมถึงพืชพันธุ์อะไรก็ตามที่ปลูกในประเทศไทยนั่นเอง ซึ่งในหลักสากลไม่มีการปฏิบัติเช่นนี้

3. ผลต่อเนื่องจากปัญหาของคำจำกัดความของ “ พันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป” จึงส่งผลให้เกิดความไม่ชอบธรรมในการดำเนินการตามกฎหมายฉบับนี้ในมาตรา 52 ที่กำหนดให้ “ผู้ใด” หรือใครก็ตามที่จัดเก็บ จัดหา หรือปรับปรุง “พันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป”เพื่อการวิจัยเพื่อประโยชน์ทางการค้า ต้องทำก็คือ 1.ต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ 2.ต้องทำข้อตกลงแบ่งปันผลประโยชน์ โดยให้ทำตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวง หากไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่และไม่ได้ทำข้อตกลงแบ่งผลประโยชน์ ถือว่าจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 400,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ไทยจะก้าวสู่การเป็นประเทศเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไม่ได้ หากรัฐบาลไปมุ่งมาตรการลงโทษอาญาอย่างกับเป็นผู้ร้ายฆ่าคนแทนที่จะกระตุ้นจูงใจนักวิจัยปรับปรุงพันธุ์

4. เมื่อการวิจัยพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆด้านพันธุ์พืช ที่ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพของการได้พันธุ์พืชที่ดีที่เชื่อมโยงถึงอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์สำหรับการเพาะปลูก ซึ่งถือเป็นต้นน้ำและต้นทุนของผลิตผลการเกษตร อาหารสำหรับคน และอาหารสำหรับสัตว์ ส่งผลให้เกษตรกร มีต้นทุนสูง จากการใช้พันธุ์พืชที่ไม่เหมาะสม และมีความเสี่ยงขาดทุนจากการเพาะปลูก ผู้บริโภคต้องซื้อสินค้าอาหารที่แพงขึ้น และประเทศอาจเสียดุลการค้าต้องนำเข้าผลิตผลการเกษตรและอาหาร

5. นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นในการลงทุนในธุรกิจเมล็ดพันธุ์ เนื่องจากระเบียบที่ไม่เป็นสากล และผู้ประกอบการต้องเปิดเผยข้อมูลความลับทางด้านการค้าที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยปรับปรุงพันธุ์พืช ประเทศไทยจะไม่สามารถก้าวเป็นศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์แห่งเอเชียได้ หากมีกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่องานวิจัยเพื่อพัฒนานวัตกรรมด้านพันธุ์พืช ไทยจะมีโอกาสสูญเสียการเป็นผู้นำส่งออกผลิตผลทางการเกษตร เมล็ดพันธุ์ และพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ ในอนาคต ทั้งในตลาดประชาคมอาเซียน (ASEAN Economic Community - AEC)และตลาดโลก การพัฒนาบุคลากรด้านงานวิจัยและปรับปรุงพันธุ์จะหยุดชะงักไม่ต่อเนื่อง ขาดการศึกษาและพัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยีที่ทันสมัย

ดังนั้น 7 สมาคมและเครือข่ายเกษตรกร จึงขอเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าจากผลกระทบของ พรบ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 นี้ โดยได้ยื่นข้อเสนอแก่กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ชะลอการบังคับใช้กฎกระทรวงฯ เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไข การขออนุญาตเก็บ จัดหา หรือรวบรวมพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไปหรือพันธุ์พืชป่า เพื่อการปรับปรุงพันธุ์ ศึกษา ทดลองหรือวิจัย เพื่อประโยชน์ทางการค้า และการทำข้อตกลงแบ่งปันผลประโยชน์ ออกไปก่อน จนกว่า พ.ร.บ. คุ้มครองพันธุ์พืช จะได้รับการแก้ไข เนื่องจาก พ.ร.บ. คุ้มครองพันธุ์พืช กำลังอยู่ในขั้นตอนการแก้ไขคำจำกัดความของพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกากำลังพิจารณา 7 สมาคม ขอเรียกร้องให้รัฐบาลชุดใหม่ลงมาแก้ไขปัญหา พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืชปี พ.ศ. 2542 อย่างเร่งด่วน ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีโดยเร็ว และที่สำคัญคือ ผลักดันให้กำหนดแผนยุทธศาสตร์ศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์ซึ่งเป็นต้นน้ำของคุณภาพและนวัตกรรมการเกษตร ตลอดจนอุตสาหกรรมอาหารอย่างชัดเจนและมีประสิทธิภาพ ภาครัฐต้องส่งเสริมสนับสนุนภาคเอกชนและห่วงโซ่การเกษตรขจัดอุปสรรค และนำพาเมล็ดพันธุ์อันเป็นต้นน้ำของการเพิ่มผลผลิตการเกษตรและการพัฒนานวัตกรรมที่ดีสู่วงการเกษตรประเทศไทย ให้เจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน เสริมสร้างคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ยืนอยู่ได้ และสร้างคุณภาพมูลค่าเพิ่มให้พืชผลการเกษตรของไทยซึ่งจะมีประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนของผู้คนที่เกี่ยวข้องกับวงจรเกษตรกรรม อีกทั้งยกระดับประเทศไทยสู่การเป็นครัวของโลกที่มีคุณภาพและปลอดภัย ทางออกที่ดีที่สุดและเป็นสากลในด้านกฎหมาย ต้องแยกกฎหมายของแต่ละวัตถุประสงค์ให้ชัดเจน ระหว่างการค้นคว้าวิจัย การอนุรักษ์พืชป่า และพันธุ์พืชท้องถิ่นดั้งเดิม “

สำหรับแนวโน้มตลาดเมล็ดพันธุ์ในครึ่งปีหลัง ของปี 2554 จากการคาดการณ์ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สาขาพืช จะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 6.5 — 7.5 โดยคาดว่าสถานการณ์การผลิต ข้าว และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จะมีทิศทางที่ดีขึ้น สำหรับการส่งออกเมล็ดพันธุ์ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายปีที่ผ่านมา ทั้งนี้คาดการณ์ว่าราคาผลผลิตมีแนวโน้มสูงขึ้นอีก เนื่องจากสภาวะภูมิอากาศโลกที่แปรปรวน และ น้ำท่วม อาจส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหาย ผลผลิตไม่พอกับความต้องการบริโภคในแต่ละประเทศและราคาจะปรับตัวตามความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นด้วย

www.thasta.com

PR AGENCY : BRAINASIA COMMUNICATION

Tel. 081-899-3599, 02-911-3282 (5 Auto Lines) Fax 02-911-3208

Email: [email protected]

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ