ก.ล.ต. ยืดหยุ่นหลักเกณฑ์เพื่อเอื้อต่อการทำธุรกิจของภาคเอกชน

พุธ ๑๗ สิงหาคม ๒๐๑๑ ๑๔:๒๕
นายชาลี จันทนยิ่งยง รองเลขาธิการ รักษาการเลขาธิการ ก.ล.ต. ในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับตลาดทุน กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการกำกับตลาดทุนในการประชุมครั้งที่ 8/2554 ประจำเดือนสิงหาคมว่า คณะกรรมการมีมติให้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจบางเรื่องให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อสนับสนุนการประกอบธุรกิจและลดอุปสรรค รวมทั้งสร้างความชัดเจนของหลักเกณฑ์เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ที่แก้ไขจะมีผลใช้บังคับในเดือนกันยายนนี้ โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. เปิดกว้างการทำธุรกรรมสัญญาซื้อขายล่วงหน้า โดยอนุญาตให้ผู้ได้รับใบอนุญาตค้าสัญญาซื้อขายล่วงหน้าสามารถทำธุรกรรมกับนิติบุคคลที่ไม่ใช่ผู้ลงทุนสถาบันได้ จากเดิมที่เคยจำกัดให้ต้องทำธุรกรรมกับผู้ลงทุนสถาบันเท่านั้น แต่ต้องเป็นธุรกรรมเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการประกอบธุรกิจ (hedging) และต้องเป็นสัญญาซื้อขายล่วงหน้าขั้นพื้นฐาน (plain vanilla derivatives)

2. ผ่อนคลายให้ผู้จัดจำหน่ายตราสารหนี้ ผู้ร่วมจัดจำหน่าย รวมถึงบริษัทใหญ่และบริษัทย่อย สามารถจองซื้อ

ตราสารหนี้ที่ตนเป็นผู้จัดจำหน่ายได้ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้เกิดสภาพคล่องในตลาดรองมากขึ้น ภายใต้เงื่อนไข

ที่กำหนด เช่น จำนวนที่สามารถจองซื้อและได้รับจัดสรรทุกรายรวมกันแล้วต้องไม่เกินค่าเฉลี่ยที่ผู้ลงทุนสถาบันแสดงความสนใจจองซื้อ (book build) และต้องไม่มีส่วนร่วมหรือชี้นำในการกำหนดราคาเสนอขาย รวมทั้งต้องเปิดเผยความประสงค์และวิธีการจองซื้อไว้ในหนังสือชี้ชวน และต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ระหว่างหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาทางการเงินและด้านการลงทุน

3. กำหนดราคาเสนอซื้อหลักทรัพย์ในการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ของกิจการ (tender offer) ให้มีความเป็นธรรม โดยในกรณีที่ผู้มีหน้าที่ทำคำเสนอซื้อยื่นคำเสนอซื้อล่าช้ากว่าเวลาที่กำหนดไว้ ราคาที่จะเสนอซื้อต้องเป็นธรรมกับผู้ลงทุนและไม่ทำให้ผู้ทำคำเสนอซื้อล่าช้าได้รับประโยชน์ที่ไม่ควรได้ โดยราคาดังกล่าวต้องไม่ต่ำกว่าราคาสูงสุดระหว่าง (1) ราคาสูงสุดที่ได้หลักทรัพย์นั้นมาในช่วง 90 วันก่อนวันที่มีหน้าที่ยื่นทำคำเสนอซื้อตามเวลาที่กำหนดบวกต้นทุนทางการเงินที่เกิดขึ้นจากการทำคำเสนอซื้อล่าช้า* และ (2) ราคาตลาดถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของหุ้นระหว่าง 5 วันทำการก่อนยื่นคำเสนอซื้อจริง

“ก่อนหน้านี้ธนาคารพาณิชย์มีการให้บริการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้านอกศูนย์ซื้อขายแก่ลูกค้าที่มีความจำเป็นต้องบริหารความเสี่ยงและส่วนหนึ่งไม่ใช่ผู้ลงทุนสถาบัน ต่อมาเมื่อ ก.ล.ต. กำหนดเพิ่มสินค้าและตัวแปรบางประเภทให้เข้ามาอยู่ภายใต้ พ.ร.บ. สัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 จึงจำเป็นผ่อนคลายหลักเกณฑ์ เพื่อลดอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชน และจะช่วยให้ผู้ประกอบการมีช่องทางในการบริหารความเสี่ยงเพิ่มเติมจากการเข้าซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในตลาดอนุพันธ์ (TFEX )

นอกจากนี้ ได้ผ่อนคลายการลงทุนของผู้จัดจำหน่ายตราสารหนี้ให้สามารถจองซื้อและได้รับจัดสรรตราสารหนี้ได้ แต่ยังคงมาตรการเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า การกำหนดราคามีความโปร่งใส และมีมาตรการจัดการความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่เหมาะสม” นายชาลี กล่าว

* ราคาสูงสุดที่ได้มาในช่วง 90 วันก่อนวันที่มีหน้าที่ยื่นทำคำเสนอซื้อตามเวลาที่กำหนด + (ราคาสูงสุดที่ได้มาในช่วง 90 วันก่อนวันที่มีหน้าที่ยื่นทำคำเสนอซื้อตามเวลาที่กำหนด* MLR เฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ใหญ่ 4 แห่ง*จำนวนวันที่ล่าช้า/365)

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ