“พี่เลี้ยงเยาวชน” ภารกิจเพื่อภาพลักษณ์ไทยในงานคอมพิวเตอร์โอลิมปิกโลก

พฤหัส ๑๘ สิงหาคม ๒๐๑๑ ๐๙:๑๗
ผ่านพ้นไปแล้วกับการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 23 (The 23rd International Olympiad in Informatics: IOI 2011) ที่จัดได้ยิ่งใหญ่สมศักดิ์ศรีกับการเป็นเจ้าภาพครั้งแรกของประเทศไทย โดยมีสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการที่เป็นแม่งานใหญ่ รวมทั้งมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์การศึกษา (สอวน.) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยผนึกกำลังขับเคลื่อนให้งานเดินหน้าไปด้วยดีและเป็นที่ยอมรับจากผู้เข้าร่วมงาน

นอกจาก สสวท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะช่วยกันจัดงานระดับนานาชาติแล้ว ยังมีมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ(ABAC) ที่มีส่วนร่วมทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงดูแลและอำนวยความสะดวกให้กับคณะผู้เข้าร่วมแข่งขันจากนานาประเทศอย่างทุ่มเท ถือเป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ประเทศไทยในสายตาชาวต่างชาติอีกด้วย

นายธงไชย คูบุรัตถ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ พี่เลี้ยงทีมไทย เล่าให้ฟังถึงกระบวนการคัดเลือกพี่เลี้ยงเพื่อทำหน้าที่ดูแลและอำนวยความสะดวกให้เยาวชนคนเก่งจากนานาประเทศที่เข้าร่วมการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระหว่างประเทศว่ามหาวิทยาลัยได้เปิดรับสมัครมีผู้สมัครทั้งหมด 535 คน จากนั้นทำการสอบข้อเขียน เพื่อคัดเลือกนักศึกษาให้เหลือ 200 คน แล้วเข้ารับการสัมภาษณ์กับอาจารย์ที่เป็นกรรมการคัดเลือกให้เหลือเพียง 100 คน เมื่อผ่านการคัดเลือกแล้ว มหาวิทยาลัยยังได้จัดอบรมติวเข้มให้ ก่อนที่จะได้มาปฏิบัติหน้าที่ตรงนี้

“ผมรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติที่ได้รับคัดเลือกให้มาดูแลทีมไทยในโอกาสที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานยิ่งใหญ่ระดับโลก และที่สำคัญผมต้องการมาใช้ชีวิตอยู่กับน้อง ๆ คนเก่งในทีมไทย ซึ่งการทำงานครั้งนี้ต้องใช้ความเข้าใจและความอดทนสูง แต่สิ่งที่ได้รับจะเป็นประโยชน์จากการทำงานในอนาคต” นายธงไชยกล่าว

นางสาวเกศรา สุพรศิลป์ชัย นักศึกษามหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ พี่เลี้ยงประเทศฝรั่งเศส เปิดใจว่า การทำหน้าที่พี่เลี้ยงดูแลผู้เข้าแข่งขันจากประเทศฝรั่งเศส ต้องมีการปรับตัวในช่วงแรก เนื่องจากมีปัญหาในเรื่องของการสื่อสาร โดยเฉพาะภาษาอังกฤษที่ผู้แทนจากประเทศฝรั่งเศสไม่สามารถสื่อสารได้ จึงใช้ภาษามือ เพื่อช่วยให้เกิดความเข้าใจมากขึ้น การทำงานครั้งนี้ได้ประสบการณ์ที่แปลกใหม่ รวมทั้งสามารถเรียนรู้ที่จะปรับตัวทำงานร่วมกับผู้อื่น

นางสาวเมลานี พรรณกุลบดี นักศึกษามหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ พี่เลี้ยงประเทศอาร์เมเนีย กล่าวว่า ครั้งแรกรู้สึกหนักใจที่ได้เป็นพี่เลี้ยงผู้แทนจากประเทศอาร์เมเนีย เนื่องจากมีผู้เข้าแข่งขันที่อายุน้อยที่สุด คือ เอ็ดเวิร์ด กริกอร์ยาน อายุ 13 ปี ซึ่งผู้แทนจากอาร์เมนส่วนใหญ่จะไม่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้มากนัก จึงมีปัญหาในเรื่องของการสื่อสาร แต่ทั้งนี้ได้มีการเตรียมตัวมาเป็นอย่างดี โดยได้ค้นหาข้อมูลของประเทศดังกล่าว ศึกษาวัฒนธรรม และใช้ภาษาอังกฤษที่เข้าใจง่ายและเหมาะสม เพื่อให้การสื่อสารเป็นไปได้ด้วยดี

สอดคล้องกับนางสาวณัฐนี หงส์จำรัสศิลป์ นักศึกษามหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ พี่เลี้ยงประเทศ United Arab Emirates ยอมรับว่า รู้สึกเหนื่อยกับงานนี้มาก เพราะต้องทำงานกว่า 12 ชั่วโมงต่อวัน รู้สึกเครียดที่ได้รู้ว่าต้องมาเป็นพี่เลี้ยงประเทศนี้ เพราะสำเนียงในการพูดภาษาอังกฤษฟังค่อนข้างเข้าใจยาก แต่ก็พยายามปรับตัวโดยใช้ภาษาอังกฤษที่ฟังง่าย และพยายามอธิบายว่ามันคืออะไร ส่วนประโยชน์ที่ได้รับจากการทำงานนี้ คือ เรียนรู้ลักษณะนิสัยของคน การทำงานเป็นทีม ความรับผิดชอบต่อตัวเองและผู้อื่น และเรียนรู้ภาษาอาหรับ

เช่นเดียวกับนายปารมี สว่างเพียร นักศึกษามหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ พี่เลี้ยงประเทศอิตาลี กล่าวว่า ภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของงานคอมพิวเตอร์โอลิมปิกครั้งที่ 23 ถือเป็นประสบการณ์ที่ดี ขณะเดียวกันผู้แทนจากประเทศอิตาลีก็เป็นเด็กที่มีความรับผิดชอบและตรงต่อเวลามาก ทำให้การทำงานครั้งนี้ผ่านพ้นเป็นไปด้วยดี สิ่งที่ได้รับจากการเป็นพี่เลี้ยงทำให้เกิดการเรียนรู้วัฒนธรรมจากหลายประเทศ

ขณะเดียวกันนางสาวณฤดี เจนปัญญากุล นักศึกษามหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ พี่เลี้ยงประเทศ Czech Republic กล่าวว่า รู้สึกตื่นเต้นที่ได้ทำงานด้านนี้ เพราะถือเป็นหน้าเป็นตาให้กับประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้มีการค้นหาข้อมูลต่าง ๆ เพื่อนำมาใช้ประกอบในการทำงาน ส่วนประโยชน์ที่ได้รับคือ สามารถเรียนรู้กระบวนการทำงานว่ามีอะไรบ้าง รวมทั้งการแก้ไขปัญหาฉพาะหน้า รู้จักเพื่อนและเยาวชนจากต่างประเทศ

ด้านนางสาววรรณรัตน์ หรินทรานนท์ นักศึกษามหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC) พี่เลี้ยงประเทศตุรกี กล่าวว่า ต้องการมีประสบการณ์และใช้ภาษาอังกฤษกับชาวต่างชาติ จึงตัดสินใจมาเป็นพี่เลี้ยง โดยส่วนตัวรู้สึกตื่นเต้นที่ได้มาเป็นพี่เลี้ยงประเทศตุรกี เนื่องจากตุรกีไม่ใช้ภาษาอังกฤษกว่า 80% จึงทำให้ตนเองต้องพัฒนาภาษาอังกฤษให้มากขึ้น และสิ่งที่ประทับใจมากที่สุดในครั้งนี้ คือการได้เพื่อนใหม่

นี่คือเสียงสะท้อนของนิสิตนักศึกษาไทยที่ทำหน้าที่ดูแลและอำนวยความสะดวกให้กับคณะผู้เข้าร่วมแข่งขันจาก 78 ประเทศ ในการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกครั้งที่ 23 แม้พวกเขาจะเหน็ดเหนื่อย แต่ก็ไม่เคยย่อท้อ ในทางตรงกันข้ามพวกเขากลับตั้งใจและพยายามทำหน้าที่ให้ดีที่สุด

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๕๐ รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๑๖:๑๔ ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๑๖:๑๓ Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๑๖:๑๐ ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๑๖:๕๒ โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version