โดย นายดนัย หวังบุญชัยผู้ จัดการแผนงานทุนอุปถัมภ์เชิงรุกเพื่อสื่อศิลปวัฒนธรรมและกิจกรรมสร้างสรรค์ (สสส.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาในพื้นที่ของตลาดน้ำลัดหลวงมีปัญหาเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากเนื่องมาจากความเจริญเติบโตที่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง ที่เห็นเด่นชัดมากที่สุดคือปัญหาความทันสมัยของเทคโนโลยีอย่างการใช้มือถือ เกมออนไลน์ การแชท ตามมาด้วยการหนีเรียนไปเที่ยวห้างสรรพสินค้า การสูบบุหรี่ตามแฟชั่น ปัญหาเด็กแว้นมอเตอร์ไซค์ —เด็กสก๊อย ซึ่งปัญหาเหล่านี้ส่งผลให้เด็กถูกมองว่าเป็นคนมีปัญหา ถนนเด็กเดินริมคลองที่ตลาดน้ำลัดหลวงครั้งนี้ถือเป็นการสร้างมิติการมีส่วนร่วมให้เกิดขึ้นระหว่างเด็ก-เยาวชนและคนในชุมชนโดยใช้เครื่องมือที่เป็นรากเหง้าศิลปวัฒนธรรมในชุนชน มาเป็นกระบวนการปลูกฝังและสร้างจิตสำนึกใหม่ให้กับเยาวชน ทั้งยังเป็นการสานสัมพันธ์ให้เกิดขึ้นระหว่างคนในครอบครัวโดยเริ่มต้นจาก “วันแม่แห่งชาติ” แล้วค่อยๆ สร้างและสะสมไปยังทุกๆ วันด้วยการใช้ศิลปวัฒนธรรมชุมชนเป็นสื่อกลางนั่นเอง ที่สำคัญยังก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนทั้งทางกาย จิต สังคม และปัญญากับเด็กและเยาวชน เกิดจิตสำนึกรักท้องถิ่น หวงแหน ช่วยกันสืบสาน สืบทอดวัฒนธรรมของตนเองจากรุ่นสู่รุ่น นำไปสู่การเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ มีภูมิคุ้มกันจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่จะเข้ามาสู่ตัวเอง ครอบครัว และชุมชนได้
“ด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรมของชุมชนลัดหลวงที่มีทั้งชนชาติมอญ ชนชาติไทยเดิม ชนชาติจีน ชนชาติอิสลาม ร่วมทั้งชนชาติลาว จึงทำให้ชุมชนลัดหลวงมีความโดดเด่นและหลากหลายทางวัฒนธรรมมากไปด้วยเช่นกัน ทำให้เด็กและเยาวชนชุมชนลัดหลวงได้รับวัฒนธรรมต่างๆ เหล่านั้นมาผสมผสานจนเข้ากันได้อย่างลงตัว และน่าสนใจ” นายดนัย หวังบุญชัย กล่าว
ด้านอาจารย์ไพจิตร ศุภวารี ประธานสมาพันธ์ศิลปินเพื่อสังคม กล่าวว่า การสะท้อนวัฒนธรรมของไทยโดยเฉพาะวัฒนธรรมไทยท้องถิ่นที่มีในชุมชนลัดหลวงไม่ว่าจะเป็น เซิ้งกะโป๋ ดิเกฮูลู รำกลองยาว ซึ่งกลองยาวนี้ถือว่าเป็นกลองยาวที่ยาวที่สุดในประเทศเพราะมีความยาวถึง 70 ลูก การแสดงเครื่องสายไทย การแสดงรำมอญ การร้องเพลง การแสดงดนตรีไทย นอกจากนี้ยังมีการหนุนเสริมและผสมผสานวัฒนธรรมกับชุมชนอื่นๆ ด้วยอาทิ การแสดงดนตรีจีนจากเยาวชนชุมชนบางหลวง การแสดงละครใบ้จากชุมชนงามดูพลี การฉายหนังสั้นจากโครงการปิ๊งส์ สสส. โดยการแสดงเหล่านี้จะเป็นเสมือนอีกมิติหนึ่งเพื่อเปิดตลาดน้ำลัดหลวงให้กลายเป็นตลาดที่คนได้มาพักผ่อน ได้ชมน้ำใสสะอาด เป็นตลาดที่มีทั้งศิลปวัฒนธรรม การแสดงของเด็กและเยาวชน รวมทั้งการออกร้านโดยเด็กและเยาวชนด้วยเช่นกัน
“ปัจจุบันได้มีการอบรมให้มีมัคคุเทศก์น้อยเพื่อนำเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวของตลาดน้ำแล้วโดยเบื้องต้นจะมีในวันเสาร์-อาทิตย์ เพื่อเป็นการสร้างรายได้ให้แก่เด็กๆ และต่อไปก็จะมีการขายสินค้าในวันพุธเพิ่มขึ้นอีก 1 วัน โดยจะมีเยาวชนได้ผลัดเปลี่ยนกันมาแสดงเป็นประจำ และสม่ำเสมอเป็นเสมือนถนนเด็กเดินริมคลอง ที่มีเวทีให้เยาวชนได้มาพัฒนาความรู้ความสามารถของตนเองเพื่อก้าวไปสู่ความยั่งยืนสามารถแสดงออกทางด้านดนตรีและด้านอื่นๆ จนเป็นที่ยอมรับของสังคมได้” อาจารย์ไพจิตร ศุภวารี กล่าว
ทั้งนี้ นายดนัย หวังบุญชัย ยังได้กล่าวเสริมอีกว่า งานถนนเด็กเดินในครั้งนี้ถือเป็น 1 ใน 18 พื้นที่ที่กำลังจะเกิดขึ้นทั่วประเทศภายในปีนี้ หลังจากได้เกิดถนนเด็กเดินต้นแบบไปแล้วที่ชุมชนนางเลิ้งเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้เยาวชนและชุมชนมีพื้นที่สร้างสรรค์ร่วมกันนำไปสู่การเป็นชุมชนเข้มแข็งในอนาคตได้ แต่อย่างไรก็ตามโดยบทบาทแล้ว สสส. ทำได้แค่เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงที่จะช่วยหล่อเลี้ยงเท่านั้น ถ้าหากมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในชุมชนเห็นความสำคัญและสนับสนุนได้อย่างต่อเนื่องยาวนาน ก็จะสามารถทำให้พื้นที่สร้างสรรค์นั้นมีความเข็มแข็งมากขึ้น ซึ่งนั่นจะนำไปสู่การเกิดเป็นถนนเด็กเดินที่จัดได้ทุกเดือนทุกสัปดาห์ และมีความต่อเนื่องได้อย่างแน่นอน...
นอกจากถนนเด็กเดินริมคลองที่ชุมชนลัดหลวงแล้วในปีนี้ยังจะมีถนนเด็กเดินทยอยมาสร้างปรากฏการณ์ “ถนนเด็กเดิน ถนนสายศิลปวัฒนธรรม เพื่อสืบสานรากเหง้าของชุมชนเผยแพร่ผ่านเด็กและเยาวชนในชุมชน” ในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป มาให้ประจักษ์แก่สังคมอีกมากมาย สามารถติดตามความเคลื่อนไหวของโครงการต่างๆ พร้อมทั้งดูรายชื่อของทุกพื้นที่ได้ที่ www.artculture4health.com หรือที่ www.facebook.com/Sponsorship.TH
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ ฤทัยรัตน์ ไกรรอด(จ๋า)
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ แผนงานทุนอุปถัมภ์เชิงรุกเพื่อสื่อศิลปวัฒนธรรมและกิจกรรมสร้างสรรค์ สสส.