นางภรณี ลีนุตพงษ์ รองประธานสภาที่ปรึกษาฯ กล่าวรายงาน และนายโอกาส เตพละกุล ประธานสภาที่ปรึกษาฯ กล่าวเปิดการสัมมนา ณ โรงแรมดุสิต ไอส์แลนด์ รีสอร์ท จ.เชียงราย
นายโอกาสฯ กล่าวเปิดประเด็นการสัมมนาว่า ปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาที่เรื้อรังมานาน และมีความเชื่อมโยงทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและความมั่นคง เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2554 ที่ผ่านมา สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทรงพระราชทานพระราชดำรัสเกี่ยวกับปัญหายาเสพติดว่า ปัจจุบันปัญหายาเสพติดในประเทศไทยยังมีความรุนแรงอยู่ เพราะมีผู้ใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่านของยาเสพติด อยากให้รัฐบาลชุดใหม่สานต่อโครงการหมู่บ้านกองทุนแม่ของแผ่นดิน และหากสังคมไทยปล่อยให้รัฐบาลทำงานเพียงฝ่ายเดียวคงไม่สำเร็จ คนไทยทุกคนต้องผนึกกำลังช่วยกัน และกำหนดให้การแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ เป็นคำแถลงในนโยบายของคณะรัฐมนตรี
ในช่วงเช้าเป็นการอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างวิทยากรและผู้เข้าร่วมสัมมนา โดยมีนายชั่งทอง โอภาสศิริวิทย์ เลขาธิการสภาที่ปรึกษาฯ เป็นผู้ดำเนินรายการ
นายชลัยสิน โพธิเจริญ ผอ.ส่วนยุทธศาสตร์ฯ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ชี้แจงในประเด็นการสัมมนาว่า ปัญหายาเสพติดนั้นมีความสัมพันธ์กับปัญหาอื่นๆ และมีความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา และถือเป็นปัญหาอาชญากรรมที่ปราศจากผู้เสียหายและเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมข้ามชาติและการก่อการร้าย โดยพื้นที่หลักสำคัญคือชายแดนภาคเหนือซึ่งมีพื้นที่ติดกับประเทศพม่า ในจังหวัดเชียงรายนั้นพื้นที่ที่มีการลักลอบขนยาเสพติดคืออำเภอแม่สาย ในปัจจุบันมีการประมาณการตัวเลขผู้ที่ใช้ยาเสพทั่วประเทศไทยประมาณ 8 แสนคน โดยตัวยาหลักที่นิยมใช้กันมากที่สุดคือ ยาบ้า รองลงมาคือ ฝิ่น
ด้าน พล.ต.ต ปรีชา ลิมปโอวาท ผู้บังคับการกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด กล่าวว่า เมื่อมองความเป็นจริงแล้ว การจะทำให้ยาเสพติดหมดไปจากประเทศนั้นเป็นเรื่องยาก แต่สามารถทำให้น้อยลงได้ ตนได้ให้คำจำกัดความปัญหายาเสพติดว่า เมื่อใดก็ตามที่มีผู้ใช้ยาเสพติดเป็นจำนวนมากเมื่อเทียบกับสัดส่วนประชากรในประเทศ จึงจะถือว่าเป็นปัญหายาเสพติดที่เป็นปัญหาใหญ่ อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหายาเสพติดมี 3 หลักสำคัญคือ การจับกุมผู้ค้า การลดการใช้ยาเสพติด และการป้องกันผู้ที่ยังไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติด โดยเน้นการใช้ พรบ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้เสพยาเสพติดอย่างจริงจัง
นายพิรุณ หน่อแก้ว ผู้บัญชาการเรือนจำกลางเชียงใหม่ กรมราชทัณฑ์ กล่าวเกี่ยวกับสถานการณ์ในเรือนจำว่า สถิติผู้ต้องราชทัณฑ์ มีผู้ต้องคดีตาม พรบ.ยาเสพติด ในปี 2554 จำนวนกว่า 130,000 ราย และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น ในเรือนจำโดยทั่วไปนั้นจะมีผู้ต้องหาที่เป็นทั้งผู้ค้ารายใหญ่ ผู้ค้ารายย่อย ผู้มีอิทธิพล และผู้เสพยาเสพติด ซึ่งมีโอกาสที่จะพบเจอกันและร่วมกันก่อคดีอีก ทางกรมราชทัณฑ์จึงมีมาตรการป้องกันและปราบปรามทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยเน้นการตรวจค้น เช่น การใช้เครื่องแสกน การตรวจต้นสัมภาระหรือสิ่งของที่จำนำเข้ามาในเรือนจำ เป็นต้น ซึ่งในปัจจุบันยังมีการลักลอบค้ายาเสพติดจากผู้ต้องหาในเรือนจำ โดยติดต่อผ่านการเยี่ยมญาติ และการลักลอบการนำเข้าโทรศัพท์มือถือ รวมไปถึงการซุกยาเสพติดไว้ในสิ่งของต่างๆ เช่น การใช้เครื่องบินวิทยุบังคับ เป็นต้น
ด้านนางพรประภา แกล้วกล้า ผอ.กลุ่มงานพัฒนาระบบการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้เสพยาเสพติด กรมคุมประพฤติ พูดถึงการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดว่า กระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้เสพยาเสพติดนั้น เมื่อถูกจับกุมแล้วจะทำการตรวจพิสูจน์ว่าเป็นผู้ติดยาเสพติดหรือไม่ หากผ่านเกณฑ์ก็จะพ้นจากความผิดและกลับสู่ชุมชน แต่หากไม่ผ่านเกณฑ์ก็จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป ซึ่งบุคคลที่จะช่วยในการบำบัดฟื้นฟูนั้นจะมีแพทย์ นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ และผู้ทรงคุณวุฒิที่จะทำงานร่วมกัน
นางพรประภาฯ กล่าวต่อว่า ทิศทางของระบบบังคับบำบัดในการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดนั้นคือ สนับสนุนให้มีการฟื้นฟูในระบบสมัครใจให้มากที่สุด ขยายสถานฟื้นฟูแบบควบคุมตัวให้ครอบคลุมทั่วประเทศ สนับสนุนครอบครัวและชุมชนให้มีส่วนร่วมในการบำบัด รวมถึงการพัฒนามาตรฐานการปฏิบัติงานด้านการตรวจพิสูจน์ผู้เสพยาเสพติด และการพัฒนากฎหมายเพื่อลดช่องว่างและความอ่อนแอของกฎหมาย
นายแพทย์อังกูร ภัทรากร รอง ผอ.สถาบันธัญญารักษ์ กรมการแพทย์ กล่าวถึงยุทธศาสตร์พลังแผ่นดิน ที่เรียกผู้เสพยาเสพติดว่าเป็น “ผู้ป่วย” ที่จะต้องได้รับการบำบัดรักษา โดยเน้นการสมัครใจมากกว่าการบังคับบำบัด เพื่อคืนคนดีสู่สังคม นอกจากนั้นยังต้องบูรณาการการแก้ไขปัญหายาเสพติดคู่กับการแก้ไขปัญหาพื้นฐาน เช่น ปัญหาครอบครัว ความยากจน คุณภาพชีวิต เป็นต้น รวมถึงให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นเจ้าภาพหลักในการแก้ไขปัญหาผู้เสพยาเสพติดในทุกระบบการบำบัด
นายแพทย์อังกูรฯ กล่าวเริ่มเรื่องข้อเสนอนโยบายสุขภาพด้านยาเสพติด ของกระทรวงสาธารณสุขว่า ควรจัดให้มีสถานบำบัดรักษาครอบคลุมพื้นที่กลุ่มเป้าหมาย พัฒนาโปรแกรมและกระบวนการติดตามโดยครอบครัว ชุมชนและอาสาสมัคร สนับสนุนให้อำเภอมีพื้นที่เชิงบวกและกิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อสร้างแรงจูงใจไม่ให้เสพยาเสพติด ควรมีหลักสูตรที่เหมาะสมเกี่ยวกับยาเสพติดในสถานศึกษา เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่เยาวชน รวมถึงมีนโยบายการควบคุมตัวยาและสารตั้งต้นในการผลิตยาเสพติดอย่างเข้มงวดและใกล้ชิด และผู้เข้ารับการบำบัดรักษาสามารถใช้สิทธิ์ในโครงการหลักประกันสุขภาพได้
จากนั้นในช่วงบ่ายเป็นการแบ่งกลุ่มย่อยสามกลุ่มคือ กลุ่มที่หนึ่ง : แนวทางการป้องกันปัญหายาเสพติดกลุ่มที่สอง : แนวทางการปราบปรามการค้ายาเสพติด และกลุ่มที่สาม : แนวทางการบำบัดและฟื้นฟูผู้เสพยาเสพติด
หลังจบการสัมมนา สภาที่ปรึกษาฯ จะรวบรวมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้มาวิเคราะห์และสังเคราะห์เพื่อจัดทำเป็นความเห็นและข้อเสนอแนะเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป