Movie: คนโขน

จันทร์ ๒๕ กรกฎาคม ๒๐๑๑ ๐๙:๓๕
เบื้องหน้าคือความวิจิตรตระการตา เบื้องหลังคือตัณหาและมายาแห่งนาฎกรรม

25 สิงหาคม 2554

ทุกโรงภาพยนตร์

กำหนดฉาย 25 สิงหาคม 2554

แนวภาพยนตร์ เมโลดราม่า

บริษัทผู้สร้าง-จัดจำหน่าย สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล

บริษัทดำเนินงานสร้าง นับหนึ่ง นีโอฟิล์ม

อำนวยการสร้าง สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ

ควบคุมงานสร้าง ศรัณยู วงษ์กระจ่าง

กำกับภาพยนตร์ ศรัณยู วงษ์กระจ่าง

เรื่อง-บทภาพยนตร์ ศรัณยู วงษ์กระจ่าง

ควบคุมการแสดงโขน ประสาท ทองอร่าม, เกษม ทองอร่าม, จรัญ พูลลาภ, ตวงฤดี ถาพรพาสี

ผู้จัดการกอง สิริพันธุ์ สังข์น้อย

กำกับภาพ สุทศ เรืองจุ้ย

กำกับศิลป์ อนุสรณ์ ภิญโญพจนีย์

ลำดับภาพ บริษัท ซิซเซอร์ แมน จำกัด, กลินท์ ทับทรวง

เทคนิคพิเศษ รัชวีร์ บุษสาย

ดนตรีประกอบ เจษฏา สุขทรามร, ราชศักดิ์ เรืองใจ

ควบคุมการผลิตเพลง เจษฏา สุขทรามร

ออกแบบเสียง ออริจิน กัมปะนี, อิทธิเชษฐ์ ฉวาง

บันทึกเสียง ห้องบันทึกเสียงรามอินทรา

ฟิล์มแล็บ บริษัท สยามพัฒนาฟิล์ม จำกัด

ออกแบบเครื่องแต่งกาย สุวัจชัย นุ่มเขียว, บุศราภรณ์ น้ำผึ้ง, อุภัคพรรณ์ คุ้มพร้อม

ทำผม ธนกร ยิ้มงาม, จิรายุทธุ์ นุ่มสังข์

แต่งหน้า ภูกิจ เยี่ยมฉวี, ณัฐชานันท์ กิติเกรียงไกร

ทีมนักแสดง สรพงษ์ ชาตรี, นิรุตติ์ ศิริจรรยา, เพ็ญพักตร์ ศิริกุล, พิมลรัตน์ พิศลยบุตร,

อภิญญา รุ่งพิทักษ์มานะ, ขจรพงศ์ พรพิสุทธิ์, นันทรัตน์ ชาวราษฎร์,

กองทุน พงษ์พัฒนะ

เรื่องย่อ

เรื่องของคน เรื่องของโขนนี้เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2508 โดยเล่าเรื่องราวของ “ชาด” (อภิญญา รุ่งพิทักษ์มานะ) เด็กกำพร้าที่ถูกครูโขนฝีมือดีอย่าง “ครูหยด” (สรพงษ์ ชาตรี) เลี้ยงดูและฝึกหัดโขนให้ตั้งแต่เล็กๆ จนกระทั่งเติบใหญ่มีฝีไม้ลายมือเก่งกาจกลายเป็นศิษย์เอกในคณะโขนของครูหยด อีกทั้งชาดยังได้รับความช่วยเหลือและกำลังใจที่ดีเสมอมาจากเพื่อนรักอย่าง “ตือ” (กองทุน พงษ์พัฒนะ) และ “แรม” (นันทรัตน์ ชาวราษฎร์) ที่สนิทสนมรักใคร่ผูกพันกันมาตั้งแต่วัยเด็ก

ด้านครูหยดก็ได้มองเห็นแววที่จะเอาดีทางด้านนี้ของชาด และคิดจะเปิดตัวชาดในบทพระรามเป็นครั้งแรกในงานแสดงโขนประจำปีครั้งใหญ่ที่วัดอ่างทอง

เส้นทางชีวิตของชาดดูเหมือนจะไร้ซึ่งอุปสรรคในการก้าวตามความฝัน เพื่อมุ่งสู่จุดสูงสุดของชีวิตนักแสดงโขนตามความทะยานอยากในวัยหนุ่มของเขา

แต่เมื่อ “ครูเสก” (นิรุตติ์ ศิริจรรยา) อดีตเพื่อนรักของครูหยด ที่ปัจจุบันกลายมาเป็นศัตรูตัวฉกาจด้วยปมแค้นฝังลึก ได้รับรู้เรื่องการแสดงของคณะครูหยด จึงหาวิธีกลั่นแกล้งไม่ให้ครูหยดได้แสดงโขนที่วัดนี้ ซึ่งก็เข้าทางหลานชายสายเลือดโขนของครูเสกอย่าง “คม” (ขจรพงศ์ พรพิสุทธิ์) คู่อริเก่าของชาดที่ต้องการแก้แค้นและเอาคืนชาดอย่างสาสมเช่นกัน

บางครั้งเราก็ต้องพบกับฝันร้ายโดยไม่รู้ตัว...

เหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด เมื่อปัญหาที่ถาโถมเข้ามาหาครูหยดและชาดนั้นไม่ใช่แค่มายาแห่งนาฏกรรมโขนอันเกิดมาจากความอาฆาตแค้นไม่สิ้นสุดของครูเสกและคมเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ชาดยังหลงเข้าไปในวังวนแห่งตัณหาราคะที่ก่อเกิดจาก “รำไพ” (พิมลรัตน์ พิศลยบุตร) เมียรุ่นลูกของครูหยดที่จ้องจะเข้าหาชาดทุกครั้งที่มีโอกาส รวมทั้งมิตรภาพระหว่างเพื่อนรักอย่างชาด, แรม และตือที่ถูกสั่นคลอนลงอย่างไม่คาดฝัน นั่นเป็นเหตุให้ชีวิตของชาดซวนเซและพลิกผันไปอย่างไม่ทันตั้งตัว

ฉากสุดท้ายของชาดจะสามารถกลับลำและไปถึงฝั่งฝันได้หรือไม่ ถึงเวลาที่ชาดจะต้องต่อสู้เอาชนะด้านมืดของตัวเอง และพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่า ดีชั่วอยู่ที่ตัวทำ หาใช่หัวโขนที่สวมใส่

หลังม่าน...คนโขน

***หวนคืนเก้าอี้ผู้กำกับอย่างสมภาคภูมิ***

ห่างหายจากงานกำกับภาพยนตร์ไปนานถึง 5 ปี หลังจาก “อำมหิตพิศวาส” (The Passion) ผลงานนั่งแท่นกำกับภาพยนตร์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2549 มาปีนี้ ผู้กำกับฝีมือละเมียดอีกคนหนึ่งของวงการ “ศรัณยู วงษ์กระจ่าง” ก็มาพร้อมกับ “คนโขน” ผลงานเรื่องที่ 2 ที่ถ่ายทอดเรื่องราวของคน เรื่องเข้มข้นของโขน สะท้อนผ่านความรัก ชีวิต มิตรภาพของหลากหลายตัวละครที่มีสีสัน และพันผูกอยู่กับศิลปะนาฏกรรมการร่ายรำ “โขน” ที่เป็นดั่งชีวิตและจิตใจ

ภาพยนตร์เรื่องนี้ ผู้กำกับฯ มีแรงบันดาลใจและความตั้งใจอย่างแรงกล้าที่จะนำเสนอคุณค่าแห่งความเป็นไทยสะท้อนผ่านศิลปวัฒนธรรมกับการแสดง “โขน” ซึ่งอยู่คู่บ้านคู่เมืองมาอย่างยาวนานแต่เหมือนกำลังเลือนหายไปจากสังคมไทย ให้ออกมาเป็นภาพยนตร์ในรูปแบบสากลที่ดูสนุกน่าติดตามไปกับเรื่องราวชะตากรรมของตัวละครที่เต็มไปด้วยรักโลภโกรธหลงและกิเลสตัณหา รวมถึงการเข้าถึงอรรถรสของโขนอย่างลึกซึ้ง

“ที่มาที่ไปจุดกำเนิดโปรเจ็คต์ ‘คนโขน’ นี้มันก็เริ่มจากการที่เรามีอาชีพทำหนัง เมื่อถึงเวลาที่พร้อมก็ควรจะทำหนัง แล้วทีมงานรอบตัวก็พร้อมที่จะทำหนังแล้วก็เลยหาโปรเจ็คต์ทำกัน ตกตะกอนในเบื้องต้นมันชัดเจนตรงที่เราก็ผ่านโลกมาขนาดนี้แล้วเห็นชีวิตผู้คนมาขนาดนี้ ก็เลยมองจากตัวตนที่เรามีความเข้าใจในเรื่องของชีวิตมนุษย์ เพราะฉะนั้นอะไรก็แล้วแต่ควรเป็นเรื่องที่สะท้อนบอกกล่าวสังคม รวมทั้งตอบสนองต่อแรงบันดาลใจของเราด้วย ซึ่งเราก็เคยคุยกันกับทีมงานก็เห็นตรงกันว่า อยู่ๆ ทำไมวัฒนธรรมไทยมันเริ่มหายๆ ไป ทำไมไปคลั่งเกาหลี คลั่งฝรั่งกันมาก เพราะฉะนั้นหนังจึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่มันจะช่วยให้ดึงสิ่งเหล่านั้นกลับมาได้ มันอาจจะไม่ใช่คำตอบทั้งหมด แต่ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่กระตุ้นสิ่งเหล่านี้ได้ ก็เลยน่าจะทำเรื่องราวที่มันสะท้อนศิลปะวัฒนธรรมไทย ซึ่ง เราก็ต้องแยกตามความถนัดของเราออกมาด้วยว่าจะทำในแง่ไหน ก็คิดว่าเราต้องไม่พูดเป็นเชิงสารคดี ต้องไม่ใช่ว่าสอนอย่างงี้ๆ เราก็ได้เส้นร่างคร่าวๆ ว่าเป็นไปได้ หมายความว่าเราทำหนังที่มันครบรสชาติ ทำหนังไทยให้คนไทยดูละกัน ทำหนังชีวิตที่มันมีรัก โลภ โกรธ หลง ตามแบบฉบับของนวนิยายไทย ซึ่งพอมันออกมาแบบนี้แล้ว เด็กจะดูหรือผู้ใหญ่จะดู หรือวัยรุ่นจะดู ก็ดูได้ทั้งนั้น เพราะมันเป็นกลางๆ แล้วเป็นหนังไทยจริงๆ

พอได้ไอเดียนี้ก็เลยมีความคิดว่ามันน่าจะเป็นไปได้ เอาศิลปะวัฒนธรรมที่เราจะใส่เข้าไปเนี่ยเป็นฉากหลังของภาพยนตร์ พอพูดถึงศิลปะวัฒนธรรมในความเป็นไทยอะไรที่ควรจะถูกหยิบมาพูดในหนัง ก็มีการแตกความคิดกันเยอะมาก และ ‘โขน’ ก็เป็นความตั้งใจของพี่เองนานมากแล้ว เพราะมันมีความสวยงามที่น่าหยิบมาทำภาพยนตร์ อย่างหนังจีนก็ยังมีเรื่องงิ้ว ไทยก็น่าจะมีเรื่องนี้เข้ามาได้ พี่ก็นึกถึงโขน ลิเก ลำตัดอะไรแบบนี้ ก็คิดว่าเรื่องเหล่านี้น่าจะหยิบขึ้นมาทำได้ เพราะมันมีความสวยงามในเชิงศิลปะการร่ายรำ และน่าสนใจในการนำเสนอ ซึ่งมันก็พลิกจากเรื่องแรกไปมากเลย คือพลิกเพราะโจทย์ พี่เป็นคนทำหนังตามโจทย์ ซึ่งก็ถือว่าเป็นโชคเหมือนกัน เพราะก่อนที่จะขึ้นโปรเจ็คต์นี้ มีเพื่อนแนะนำว่า โปรเจ็คต์ดีๆ แบบนี้ ให้ไปขอการสนับสนุกจากกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งพี่ไม่เคยรู้เรื่องแบบนี้เลย อาทิตย์สุดท้ายพอดี ก็เลยยื่นโปรเจ็คต์เข้าไป ก็เลยได้รับการสนับสนุนด้านทุนส่วนหนึ่งมาจากกระทรวงวัฒนธรรมด้วย เขาก็บอกเลยว่าเรื่องนี้มันไม่สนับสนุนไม่ได้ ก็เลยเกิดเป็นโปรเจ็คต์นี้ขึ้นมา”

***ค้นคว้า ซึมลึก ตกผลึก โขนมีครู***

กว่าจะกลายมาเป็นเรื่องราว “คนโขน” ผู้กำกับและทีมงานต้องใช้เวลาศึกษาข้อมูลเฉพาะทางนี้อย่างลึกซึ้งนานถึง 2 ปีจากผู้เชี่ยวชาญทางด้านโขน เพื่อเรียนรู้, ทำความเข้าใจ, และตอบโจทย์ที่แท้จริงในการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ เพื่อกระตุ้นให้ผู้ชมคนไทยหันกลับมาสนในศิลปวัฒนธรรมของบ้านเกิดตัวเองอย่างจริงจัง

ในช่วงเวลาเดียวกันกับการค้นหาข้อมูล ผู้กำกับที่ควบตำแหน่งเขียนบทด้วยนี้ ก็ลองผิดลองถูกร่างบทภาพยนตร์ในแนวต่างๆ หลากหลายร่าง ซึ่งกว่าจะออกมาเป็นบทภาพยนตร์ร่างสมบูรณ์นี้ก็ใช้เวลากลั่นกรองถึง 1 ปีครึ่งในการเขียนและตรวจสอบความถูกต้อง เพื่อให้ได้เรื่องของคน เรื่องของโขนที่สมบูรณ์และถึงพร้อมในทุกๆ ด้าน

ยืนยันความถูกต้องสมจริงในทุกๆ รายละเอียดของบทภาพยนตร์ และควบคุมดูแลฉากการแสดงโขนโดย “ครูมืด ประสาท ทองอร่าม” ศิลปินด้านโขนละครและดนตรีไทย รวมถึงเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมไทยจากกรมศิลปากร (ศิษย์เอกของ “อาจารย์ เสรี หวังในธรรม” ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง เมื่อปี พ.ศ. 2531)

“การค้นคว้าข้อมูลก็ประมาณ 2 ปี แนวคิดวันแรกตั้งแต่ที่นั่งคุย แล้วก็รีเสิร์ชไป คือเราไม่ได้รีเสิร์ชจนเสร็จ 2 ปีถึงค่อยทำ แต่ขณะที่ข้อมูลเริ่มเข้ามา เราก็เริ่มวางโครง พอเราเอาเรื่องโขนมาทำ คนที่อยู่ในวงการโขนทุกคนก็รู้สึกดีใจ มีการสร้างหนังเรื่องนี้โดยตรง ก็เลยคิดว่า เอาเรื่องชีวิตของคนในแวดวงนี้ขึ้นมาทำดีกว่า ซึ่งก็จะมีหลากหลายอารมณ์ทั้งรักโลภโกรธหลงเป็นปกติวิสัยของมนุษย์ แล้วก็สร้างฉากหลังขึ้นเป็นสังคมของโขนอะไรแบบนี้ ซึ่งก็ต้องขอบคุณครูมืด (ประสาท ทองอร่าม) และครูหลายๆ คนมากที่กรุณาให้เราไปสัมภาษณ์ให้เรานั่งคุย ก็เลยเชิญครูมืดแกมาเป็นที่ปรึกษาซะเลย ก็เลยบอกแกว่าถ้ามันมีอะไรผิดพลาดก็โทษครูคนเดียวเลยนะ เพราะว่าขึ้นชื่อครูมืดไปแล้ว (หัวเราะ) แกก็บอกเป็นไงเป็นกันเอาให้เต็มที่ ก็เลยทำให้หนังเรื่องนี้มีความเป็นโขนครบถ้วนและผ่านการกลั่นกลองจากครูโขนอย่างแท้จริง โดยยังอยู่ในคอนเซ็ปต์เป็นฉากหลังของชีวิต มันก็เป็นการสะท้อนชีวิตที่เราได้เห็นแง่มุมของอารมณ์ผู้คนต่างๆ มันก็จะอยู่ในเนื้อของตัวละคร โดยตัวละครเหล่านี้เป็นนักแสดงโขนก็เลยมีเรื่องโขนให้เห็นอยู่ ก็เลยเป็นสัดส่วนที่ลงตัว และมีความสุขที่มันออกมาแบบนี้ได้ และก็น่าจะเป็นหนังที่ดีเรื่องหนึ่งที่สะท้อนศิลปะวัฒนธรรมเกี่ยวกับเรื่องโขนด้วย

พอเริ่มขั้นตอนก่อนการถ่ายทำได้สักปีหนึ่งเนี่ย เราก็ลองถ่ายทำ Prologue (การแสดงทั้งเรื่องให้เห็นตัวอย่างหน้าหนังประมาณนี้) ด้วย ถ่ายในสตูดิโอที่ไม่มีฉากยาว 60 กว่านาที มันทำให้พบว่าได้ผลและก็ทำตรงนั้น ก็ยังกลับมาแก้ไขอีกว่า บทเรื่องโขนบางทีมันหลุดไปอีกด้านหนึ่งต้องดึงแก้กลับไปกลับมา จนวันที่บทเรียบร้อยนั่นคือ 2 ปี ก็เริ่มแคสติ้ง แต่ตัวหลักๆ ก็ได้มาปีกว่าๆ แต่ตัวที่เหลือก็เริ่มแคสกันไป ถ้าเขียนบทอย่างเดียวรวมๆ แล้วก็ประมาณปีครึ่ง”

***เรื่องของคน เรื่องของโขน***

“คนโขน” ถ่ายทอดเรื่องราวชะตากรรมของคน เรื่องเข้มข้นของโขนที่สะท้อนผ่านหลากหลายแง่มุมชีวิตของตัวละครที่เบื้องหน้าคือความวิจิตรตระการตา แต่เบื้องหลังแฝงไว้ด้วยตัณหาและมายาแห่งนาฎกรรม

“เรื่องราวของ ‘คนโขน’ เป็นเรื่องพื้นฐานของชีวิตมนุษย์ที่มี รัก โลภ โกรธ หลง มีชะตากรรมเข้ามาเป็นตัวกำหนด คือเรื่องนี้ถ้าถอดเรื่องโขนออกจะชี้ให้เห็นว่าชีวิตคนเราไม่ว่าจะเดินไปทางไหนมันคือเรื่องจิตใจ เรื่องกิเลส ถ้าเราให้กิเลสเป็นตัวนำพา เราตัดสินใจอะไรผิดพลาดไปผลที่ตามมานั้นมันก็จะโยงใยหลายชีวิตเข้าด้วยกัน

จากโครงหลักนี้ก็เล่าผ่านตัวละครของเพื่อน 3 คนในวัยเด็กซึ่งเป็นเด็กกำพร้า แต่ละคนจะมีความฝันของตัวเองต่างๆ กันไป แน่นอนว่าตัวพระเอกฝันอยากจะเป็นนักแสดงโขน ตัวผู้หญิงก็มีความฝันที่ไม่แพ้ตัวพระเอก คืออยากเป็นนางเอกลิเก ส่วนเพื่อนอีกคนมีความฝันไปทางวาดรูป อยากเขียนฉากลิเกให้เพื่อนผู้หญิง เพื่อน 3 คนเป็นเพื่อนรักกันมาก สิ่งหนึ่งที่มันอยู่ในมนุษย์ทุกยุคทุกสมัยก็คือความสนิทสนมและความรักที่เกิดขึ้นโดยรู้ตัวบ้างไม่รู้ตัวบ้าง นี่คือโยงใยของคนทั้ง 3 คน แต่ชะตากรรมของพระเอกเมื่อเข้าไปอยู่ในคณะโขนก็เลยไปพบกับสิ่งเร้าใจต่างๆ จากตัวละครอื่นๆ อีก ซึ่งเขาก็จะมีชะตาชีวิตของเขา ด้วยความที่อยากจะประสบความสำเร็จมีชื่อเสียงนี่เอง ซึ่งตัวละครเหล่านี้เองทำให้ต้องมาเจอทางเลือกที่ทำให้เขาเลือกผิดหรือเลือกถูกจากกิเลสเหล่านั้น จึงนำไปสู่โศกนาฏกรรม ซึ่งเรื่องราวจะถูกขับเคลื่อนด้วยฉากของการแสดงโขนทุกรูปแบบเลยทีเดียว”

***รวมพลคนโขน เปิดตัวรุ่นใหม่ ไว้ลายรุ่นเก๋า***

ยกทีมนักแสดงชั้นครูมาปะทะฝีมืออย่างเข้มข้น ไม่ว่าจะเป็น “สรพงษ์ ชาตรี”, “นิรุตติ์ ศิริจรรยา”, “เพ็ญพักตร์ ศิริกุล” และการพลิกบทบาทการแสดงอย่างถึงใจที่ไม่เคยเห็นในเรื่องใดมาก่อนของ “พิมลรัตน์ พิศลยบุตร”

รวมถึงการคัดเลือกทีมนักแสดงหน้าใหม่มากฝีมือในการร่ายรำและแสดงโขนอย่างถูกต้องสวยงาม มารับบทนำให้ดูน่าเชื่อถือในบทบาทของตัวละครที่ผูกพันกับโขนมาตั้งแต่เกิด ซึ่งนักแสดงใหม่ทุกคนใช้เวลามุมานะในการซ้อมอย่างเต็มที่เพื่อให้งานแสดงของตนออกมาดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ไม่ว่าจะเป็น...

“อภิญญา รุ่งพิทักษ์มานะ” (“อาร์” เป็นนิสิตชั้นปีที่ 3 ภาควิชา นาฏยศิลป์ไทย คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ผ่านงานแสดงโขนมาหลากหลายงาน) - รับบท “ชาด” พระเอกของเรื่องที่ต้องการให้ผู้คนยอมรับในความสามารถและใฝ่ฝันที่จะขึ้นสู่จุดสุดยอดของโขน

“ขจรพงศ์ พรพิสุทธิ์” (“นัท” เป็นหลานชายพระเอกชื่อดังของกรมศิลป์ “ปกรณ์ พรพิสุทธิ์” ที่เชื้อโขนไม่ทิ้งลาย ชำนาญในนาฎศิลป์โขน, ศิลปะการป้องกันตัว เช่น กระบี่กระบอง พลองไม้สัน มวยคาดเชือก และการเต้นแบบศิลปะร่วมสมัย ผ่านงานแสดงโขนในรูปแบบต่างๆ มาอย่างเชี่ยวชาญ) - รับบทเป็น “คม” ตัวร้ายคู่อริของพระเอก มีความสามารถด้านโขนอย่างหาตัวจับยาก แต่มีนิสัยและภาพลักษณ์ขัดกับความดีงามของโขนอย่างสิ้นเชิง

“กองทุน พงษ์พัฒนะ” (“กอง” จบปริญญาตรี คณะดุริยางคศาสตร์ สาขาดนตรีแจ๊ส มหาวิทยาลัยศิลปากร มีความสามารถทางด้านดนตรีแจ๊สเป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งยังเคยแต่งเพลงและเล่นดนตรีประกอบละครเวทีคณะละครมรดกใหม่) — รับบทเป็น “ตือ” หนุ่มหน้ามนที่มีความสามารถในการวาดภาพ เป็นคู่ซี้ของชาด และแอบหลงรักเพื่อนหญิงที่ชื่อแรมอย่างหมดหัวใจ

“นันทรัตน์ ชาวราษฎร์” (“ตรี” เป็นนิสิตชั้นปีที่ 4 คณะศิลปกรรมศาสตร์ เอกนาฏยศิลป์ไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลานสาวของดาวค้างฟ้า “เพชรา เชาวราษฎร์” ได้รับรางวัลจากการประกวดด้านดนตรีและนาฏศิลป์มามากมาย และผ่านงานแสดงภาพยนตร์มาบ้างประปราย) — รับบทเป็น “แรม” สาวน้อยที่อาศัยอยู่ในคณะลิเก เป็นเพื่อนสนิทของชาดและตือ เธอมีความใฝ่ฝันจะเป็นนางเอกลิเก

“การคัดเลือกทีมนักแสดงหลักทั้งหมดของเรื่องนี้ เริ่มจากตัวพระเอก เราก็ได้นักแสดงที่เป็นโขนจริงๆ ‘น้องอาร์’ เรียนนาฏศิลป์ที่จุฬาฯ มีพื้นฐานทางนี้ดีพอตัวเลย ก็นำมาฝึกแอ็คติ้งการแสดงเพิ่มเติมก็เล่นได้ไหลลื่นเลย นางเอกเราแคสหลายคนมากๆ จนไปเห็นรูป ‘น้องตรี’ ในหนังสือแฟชั่น เห็นแล้วก็สวยดี แถมกำลังเรียนนาฏศิลป์ที่จุฬาฯ เหมือนกัน ก็เข้าตาเลย จากนั้นคนอื่นๆ ไม่น่าเชื่อว่าแม้กระทั่ง ‘น้องกอง’ ตัวเพื่อนในเรื่องก็เคยเรียนโขนคือได้มาจากกลุ่มโขน ส่วนตัวผู้ร้ายคู่ปรับอันนี้มาครั้งแรกก็ได้เลย ‘น้องนัท’ เป็นหลานของคุณปกรณ์ พรพิสุทธิ์ พระเอกและครูโขนชื่อดังในกรมศิลป์เลย และหน้าตาก็ใช่เลยเหมาะกับยุคสมัยก็ได้มาเป็นตัวร้ายทันทีเลย ใช้เวลานานทีเดียวกว่าจะลงตัว ช่วงนั้นที่แคสก็เกือบๆ 5 เดือนได้นะ แคสตัวหลักตัวรอง เชื่อว่านักเรียนโขนน่าจะครบทั่วประเทศนะที่ถูกเชิญมาแคสนะ

มาถึงนักแสดงรุ่นใหญ่ ซึ่งตามบทมันก็มีบทของครูโขน 2 คนที่เป็นรุ่นใหญ่ ที่มีภูมิหลังที่เขาเป็นเพื่อนเก่ากันมาและมาหักกันในยุคนี้ครูคนหนึ่งก็เป็นครูของพระเอก ครูอีกตัวก็เป็นครูของตัวร้าย เป็นคู่อริกัน ก็ตามสูตรหนังเลย ต้องเป็นคนที่มีบารมีที่จะมาค้ำทั้งหมดของหนัง คือถ้าดูแล้วไม่เชื่อ ตรงนี้ก็จะดูไม่แข็งแรง ในโลกการแสดงเมืองไทยต้องเป็นสองคนนี้เท่านั้น ‘สรพงษ์ ชาตรี’ และ ‘นิรุตติ์ ศิริจรรยา’ ซึ่งดูแล้วมีบารมี มีศักดิ์ศรีค้ำกันได้ ก็เลยมองว่าทั้งพี่เอกและพี่หนิงน่าจะเหมาะ โดยที่สรพงษ์อยู่กับความเป็นสมถะ และนิรุตติ์อยู่กับความยิ่งใหญ่ ศักดิ์ศรีชื่อเสียง

ตามมาด้วยอีกสองคนของเรื่องซึ่งเป็นหัวใจสำคัญไม่แพ้กัน คนหนึ่งก็คือแฟนเก่าของครูหยดคือสรพงษ์ เมื่อได้สรพงษ์มา ใครล่ะที่จะใส่ชุดนางรำได้สวยงาม เป็นคนรำแล้วสวยงาม ก็นึกถึง ‘พี่ต่าย เพ็ญพักตร์’ คุณต่ายก็ยินดีอยากใส่ชุดสวยงามเหล่านี้ ก็มีรำนิดๆ หน่อยๆ ซึ่งทุกคนก็ไปซ้อมนะ ทุกคนก็ไปฝึกที่กรมศิลป์

และอีกคนที่เป็นหัวใจของเรื่องที่เป็นคนทำให้เกิดโศกนาฏกรรมด้วยกิเลสตัณหาของเธอเอง ก็คือตัวที่เป็นครูสอนรำชื่อครูรำไพ เราก็ต้องการใครสักคนที่มีความเหมาะสมกับนางรำในยุคนั้น ต้องมีความเป็นไทย และต้องมีกิเลสตัณหามาจับในชีวิตของเขา ต้องสะท้อนเรื่องราวเหล่านี้ได้ ก็คิดและเลือกอยู่นาน สุดท้ายเราก็ต้องเลือก ‘กบ พิมลรัตน์’ ไม่มีเหตุผลใด คือเราวางกบไปแล้วมันพอดี มันตอบทุกอย่างได้ มันไม่ได้โดดเด่นจนข่มนักแสดงคนอื่นทั้งหมด และก็ไม่ได้กลืนหายจากการเป็นนางรำคนหนึ่ง น้องกบก็มีภาพความเรียบร้อย สาวไทย แต่ด้วยโครงหน้าด้วยตาเขาทำให้พี่เห็นว่าเขามีอารมณ์มีเรื่องราวแบบนั้นแฝงอยู่ด้วย และเขาก็ทำงานออกมาได้น่าชื่นชมมากๆ ด้วย”

***เตรียมพร้อมทำงานอย่างมืออาชีพ***

เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการถ่ายทำ ทางผู้กำกับและทีมงานจึงต้องจัดเต็มการซ้อมก่อนเปิดกล้องจริงให้เหล่านักแสดงได้มีโอกาสทำความรู้จักกัน ได้เรียนรู้และทำความเข้าใจในแต่ละบทบาทอย่างถึงแก่นจริงๆ

“การซ้อมก่อนถ่ายจริงมีส่วนช่วยเยอะมากครับ เพื่อให้ใช้เวลาหน้ากองน้อยที่สุด พี่ก็จะบอกทุกคนว่าต้องทำแบบนี้ พอไปถึงหน้ากองพี่จะไม่สามารถไปเจาะรายละเอียดเฉพาะคนได้ ทุกคนต้องทำการบ้านจากที่เราซ้อม พี่ก็จะดูภาพรวมในเรื่องของเซ็ต เรื่องไฟ พอถึงเวลาก็เรียกนักแสดงเข้าฉากเลย คือถ้าพูดถึงละคร ถ้านัดกันวันนี้ทุกคนเห็นคิวถ่ายฉากอะไรบ้าง พอเรียกมาก็มาซ้อมกันก่อนหนึ่งเที่ยว นั่นมันก็ละครคืออีกแบบหนึ่ง แต่นี่มันเป็นหนัง มันทำแบบนั้นไม่ได้ พี่ก็

คอยบอกแบบนั้นตลอด เพราะหนังนี่มันประวัติศาสตร์ เป็นเหมือนลายเซ็นคุณเลยนะ ที่จะอยู่ชั่วลูกชั่วหลาน คุณทำให้เต็มที่ อย่างน้อยคุณต้องตอบตัวเองได้ว่า คุณทำเต็มที่แล้วข้อบกพร่องมันคืออะไร แก้ไขที่มาที่ไป ไม่ใช่ทำไปแล้วมาคิดว่า ไม่น่าเลยเพราะอย่างนั้นอย่างนี้ ก็ต้องทำให้เต็มที่ งานหน้ากองก็จะไปได้เร็วขึ้น ไม่อย่างนั้นก็ต้องใช้คิวถ่ายกันบานเลย

ในส่วนของโปรดักชั่นและการถ่ายทำนั้นรู้สึกจะใช้เวลา 5 เดือนกว่า ซึ่งจริงๆ แล้วมันควรจะน้อยกว่านั้น แต่ไปเจอช่วงฝนตกน้ำท่วม ท่วมตรงที่เราจะถ่ายอยู่ 2 เดือนเลยนะทำอะไรไม่ได้ ซึ่งคิวถ่ายจริงๆ 25 คิวถือว่าน้อย เพราะตอนแรกพี่วางว่า 30 คิวแน่เลย พอมาทำจริงๆ 25 คิว จากการซ้อมนี่เองที่ทำให้ทุกอย่างลดน้อยลงมา พอซ้อมแล้วงานด้านอื่นก็ทำล่วงหน้าไป ถ้าไม่ติดตรงนั้น แค่ 3 เดือนก็คงเสร็จแล้ว พอไปติดตรงนั้นก็เลยยืดไป 5 เดือน เกือบ 6 เดือนได้ แต่ก็ไม่มีปัญหาอะไรมากนัก ถือว่าราบรื่นสำหรับการถ่ายทำหนังเรื่องหนึ่งครับ”

***ครบเครื่องเรื่องของโขน***

ศิลปะนาฏกรรม “โขน” นี้ จะแบ่งออกเป็นโขนโรงใน, โขนโรงนอกหรือโขนนั่งราว, โขนหน้าจอ, โขนกลางแปลง และ โขนฉาก นิยมแสดงเรื่อง “รามเกียรติ์” สุดยอดวรรณกรรมไทย ซึ่งแน่นอนว่า เราจะได้เห็นหลายตอนหลายฉาก หลากการแสดงโขนที่เรียงร้อยรายล้อมอยู่โดยรอบในเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นฉากยกรบ, ฉากนางลอย, ฉากขับพิเภก, ฉากหนุมานชูกล่องดวงใจ, ฉากศึกพรหมาศ, ฉากนกสดายุ ที่ถูกถ่ายทอดออกมาอย่างสวยงามและสมจริง

“พอเป็นเรื่องโขนก็ใหญ่ทุกฉาก คือใหญ่ด้วยขั้นตอนกระบวนการที่จะสร้างสรรค์ขึ้นมา กระบวนการที่จะเล่นฉากไหน ใช้คนเล่นยังไง ต้องมีอะไรบ้าง ฉากแรกเลยที่เราเห็นโขนในเรื่องนี้ คือฉากซ้อมแสดงที่ฉลองเปิดโรงละครเป็นตอนขับพิเภก คือมันก็ต้องเห็นการซ้อมข้างบน เห็นชีวิตของคนโขน เมื่อซ้อมมันเหมือนละครเวทีหรือเปล่า คนอื่นที่ไม่ได้เล่นแล้วมานั่งดูได้หรือเปล่า เราก็ไปเอาจริงๆ เลย เราต้องสร้างบรรยากาศให้เหมือนจริงในตอนนั้น เท่าที่สิ่งที่เรามีมันเอื้อในทุกๆ อย่าง ทั้งทรัพยากรบุคคล และการเซ็ตของเราก็เลยเป็นเรื่องใหญ่ ฉากวันซ้อมก็คือฉากขับพิเภก ฉากวันแสดงจริงก็เป็นฉากยกรบ เป็นเหมือนฉากบู๊ คือทัพสองทัพยักษ์กับลิงปะทะกัน เพราะฉะนั้นก็ต้องมีราชรถของทั้งสองฝั่ง และมีกองทัพมาเป็นแถวนี่คือฉากใหญ่เลย

จากนั้นก็เป็นเรื่องของงานประชันของครูหยดและครูเสก ครูหยดทำโขนนางลอย ครูเสกทำศึกพรหมาศ เป็นศึกใหญ่ที่สุด ก็ต้องมีการซ้อมและก็มีฉากจริง ฉากซ้อมก็จะเป็นฉากหนึ่ง ฉากเล่นจริงก็จะเป็นฉากหนึ่ง เราจะได้เห็นการแสดงครบ เราก็ต้องวางแผน ขั้นตอนวางแผนพี่ก็ต้องนั่งดูกันทุกตอน พี่ดูโขนเต็มไปหมดเลยทุกเรื่อง เอาตรงนี้ ตรงนี้สวย ตอนนี้มันตอนอะไรเราก็มาร์คกันเป็นช่วงๆ แล้วเอาไปให้ครูมืดดูแบบนี้ เราก็ต้องตั้งภาพใหญ่ไว้ก่อน แล้วลดลงมา ฉากมันก็ไม่เล็กหรอก กับเฟรมภาพที่เห็นมันก็ยิ่งใหญ่ แต่อย่างว่าเราก็ต้องลดดีเทลบางอย่าง ซึ่งตรงนี้ก็ต้องไปผ่านครูมืดหมด แต่มันก็ยังครบรสชาติความยิ่งใหญ่เหมือนเดิม เบื้องหลังการทำงานมันก็ค่อนข้างยุ่งยาก เพราะท่าโขน ไม่ใช่แค่แสดงกันตรงๆ มันต้องมีเยื้องย่าง ดนตรีปี่พาทย์มาถึงตรงนี้แล้ว พอคัทจะเปลี่ยนมุมตรงนี้ก็ต้องสื่อสารกันให้ดี ครูมืดช่วยตรงนี้ได้มาก ก็ต้องค่อยๆ เรียนรู้ มันจึงเป็นการทำงานที่ไม่ง่าย ที่จะต้องจูนให้เข้ากัน ด้วยความที่เป็นศิลปะ มันมีวัฒนธรรมมีระบบของมัน เราต้องเข้าใจมัน แล้วเทคโนโลยีสมัยใหม่เราก็ต้องเข้าไปหามันว่าเขาเป็นแบบนี้ มันถึงจะเป็นการช่วยอนุรักษ์และสืบทอดตรงนี้ได้ ทุกอย่างมันเป็นกระบวนการเดียวกัน นี่คือคุณค่าของมัน”

***พิถีพิถัน สรรสร้างงานละเมียด***

ด้วยการวางโครงเรื่องหลักให้เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2508 ทำให้งานออกแบบงานสร้าง, ออกแบบเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย และสถานที่ถ่ายทำถูกเคี่ยวกรำจากผู้กำกับสุดเนี้ยบเป็นพิเศษ เพื่อให้ได้งานออกมาอย่างถูกต้องสวยงามและตรงตามยุคสมัย โดยได้ถ่ายทอดผ่านหลากหลายโลเกชั่นไม่ว่าจะเป็น...

“อัมพวา จ. สมุทรสงคราม” ทีมงานลงทุนไปสร้างเป็นฉากบ้านครูหยด โขนริมคลอง ซึ่งถือเป็นฉากหลักที่มีเหตุการณ์หลายอย่างเกิดขึ้น ณ บ้านแห่งนี้ / “อ่างศิลา จ. ชลบุรี” ถูกเซ็ตเป็นฉากตลาดใหญ่ / “บ้านสวนพลู ของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช” (ผู้ให้กำเนิดโขนธรรมศาสตร์ และเคยแสดงเป็นตัวทศกัณฐ์ด้วย) ถูกเซ็ตเป็นฉากการแสดงโขนทิ้งทวนของครูเสก / “ทะเลแถบปราณบุรี หัวหิน จ. ประจวบคีรีขันธ์” เซ็ตเป็นฉากแสดงโขนบอกรักของคู่พระนาง ซึ่งได้บรรยากาศและทิวทัศน์ที่สวยงามมากฉากหนึ่งของเรื่อง / “วัดแถวนครไชยศรี จ. นครปฐม” ถูกเซ็ตเป็นฉากโขนประชันท้ายเรื่องสุดยิ่งใหญ่ / “โรงละครแห่งชาติ กรุงเทพฯ” เซ็ตเป็นฉากไฮไลต์ยิ่งใหญ่ งานเปิดโรงละครแห่งชาติ กรมศิลปากร เมื่อปี พ.ศ. 2508 ที่เซ็ตฉากทั้งการซ้อมและการแสดงโขนใน “ฉากยกรบ” ของกองทัพยักษ์และลิงที่สมบูรณ์สวยงามและสุดตระการตา

“ภาพรวมของโลกเกชั่นที่มันยากก็เพราะว่ามันเรื่องพีเรียดในยุค 2508-2510 ซึ่งพีเรียดไม่สุด มีรถแล้ว เสื้อผ้าหน้าผมก็แบบหนึ่งแล้ว เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก จะหลุดไปอยู่ในป่าเลยก็ไม่ใช่ พูดถึงย่านฝั่งธน บางกอกน้อย มีคลอง แต่ก็มีไฟฟ้า ตลาดก็ไปได้แถวอ่างศิลา แต่บ้านหลักที่เป็นบ้านของสรพงษ์เป็นบ้านที่พระเอกอยู่เนี่ยในเรื่องคือบางขุนเทียนบางกอกน้อย ในแง่อารมณ์ของหนังเราอยากได้เป็นสวนๆ สุดท้ายก็ไปได้ที่อัมพวา ต้องไปสร้างเอง

พอตัดฉากใหญ่ที่เป็นโขนที่เหลือก็เป็นฉากใหญ่ที่ไม่ใช่ผู้คน ฉากบู๊ก็เป็นเรื่องของการซ้อมและคิว ที่มันจะยากอีกหนึ่งเรื่องก็คือเป็นฉากรักที่พระเอกบอกรักนางเอก ก็ตั้งใจตั้งแต่แรกเลยว่าจะต้องบอกรักด้วยท่าโขน อยากให้สวยงามก็อิงๆ ล้อๆ เกาหลีนิดหนึ่ง คือเป็นชุดธรรมดาแต่เป็นที่ที่สวยโรแมนติก ก็นึกเลยว่าต้องเป็นภูเขา ก็คุยกับทีมงานว่าจะเอาป่าหรือทะเล คนก็เห็นด้วยว่าจะเป็นทะเล แต่พี่ว่ามันจะต้องอยู่บนที่สูง ก็เลยต้องหาเนินเขาที่อยู่ตรงทะเล ก็ได้ที่ตรงนี้ แต่ยุ่งยากคือรถมันไปไม่ถึง จอดและเดินเกือบกิโล แบกอุปกรณ์ เอาฮ็อตเฮดไป ต้องไปตั้งอุปกรณ์ล่วงหน้า 1 วัน ก็ต้องยอมเหนื่อยกันเพื่อให้ได้ภาพที่สวยงาม อันนี้ก็คือที่หัวหิน ประจวบฯ

ที่อ่างศิลาก็ต้องไปเซ็ตเป็นตลาด ในเรื่องเป็นตลาดบางแสน พระเอกหลงไปทางนั้นแล้วก็ไปเจอนางเอกจำนวนนาทีในหนังมันก็ไม่มาก ก็อยากได้ฉากที่มันเป็นโล่งๆ ก็เลยไปหาที่มันเป็นถนน ก็เป็นความสวยงามที่ให้เห็นว่ามีเด็กถือว่าว มีวิ่งเล่น เหมือนเพลงก็ต้องมีเร็วมีช้า ต้องมีผ่อนมีเบา ไม่ใช่อย่างเรื่องที่แล้วที่อยู่ในโรงหนังอย่างเดียว นอกจากนี้ยังมีอีกหลายๆ ฉาก ซึ่งทีมงานเราพิถีพิถันในการเลือกและสร้างสรรค์ในทุกๆ ฉากครับ”

***ย้อนวันวาน ผสานศิลปะ ตระการตาด้วยฟิล์มภาพยนตร์***

เพื่อคงเสน่ห์ที่แท้จริงของศิลปะแขนงที่ 7 นี้ ภาพยนตร์เรื่อง “คนโขน” นี้ได้ใช้ “ฟิล์ม” ในการถ่ายทำทั้งเรื่อง ซึ่งหาได้ยากมากในโลกภาพยนตร์ยุคปัจจุบันนี้

“พี่ยังเป็นคนรุ่นเก่าอยู่มั้ง (หัวเราะ) คือถ้าดูว่าระหว่างฟิล์มกับกล้อง SD ยังไงพี่ก็ชอบฟิล์มมากกว่า จะเห็นความแตกต่างทางอารมณ์ด้วยเนื้อฟิล์ม ทางด้านภาพก็จะสวยและมีเสน่ห์ในตัวของมัน สิ่งที่ได้มาจากการใช้ฟิล์มถ่ายคือสมาธิหน้ากองดีมาก ถ้าจะถ่ายเป็น SD เป็นวิดีโอ จะถ่ายกี่เทคก็ได้ สมาธิก็น้อย พอเป็นฟิล์มก็ต้องซ้อมนะ พอถ่ายจริงฟิล์มพี่ก็ไม่เปลือง ไม่ถึง 200 ม้วน บางคนอาจจะไม่ชอบที่มันยุ่งยาก แต่พี่ชอบที่มันมีสมาธิดี พี่รู้เลยว่าถ้าไม่ใช่ฟิล์มจะมีการถ่ายเผื่อเยอะมาก ซึ่งตรงนั้นจะทำให้ใช้คิวในการถ่ายเยอะไปอีก พอเป็นฟิล์มก็จะคิดเดี๋ยวเปลืองฟิล์มก็ต้องมีการทำงานบนโต๊ะเยอะ พอถ่ายทุกคนก็จะมีสมาธิที่จะเงียบที่จะฟัง คือถ้ามันยังผลิตฟิล์มอยู่ พี่ก็จะใช้มันไปเรื่อยๆ นะ”

***โดดเด่นโขนผงาด ครบรสชาติภาพยนตร์ทรงคุณค่า***

“ความน่าสนใจรวมๆ ของเรื่องนี้คือวางให้หนังเรื่องนี้มันมีอิสระจากการประทับยี่ห้อทุกอย่าง ทั้งตัวผู้กำกับเองหนังก็ไม่ได้เกี่ยวกับการเมืองใดๆ อย่างชื่อหนังที่ชื่อ ‘คนโขน’ แล้วผมก็ไม่อยากให้เป็นการประทับตราว่า หนังเรื่องนี้เป็นหนังวัฒนธรรม ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่อยากดู ความโดดเด่นของหนังก็จะเป็นเรื่องรสชาติของความเป็นหนังไทย ไม่ได้เข้าใจยาก มีความละเอียดอ่อน แต่ก็ไม่ใช่หนังที่สามารถเดาได้ มันจะมีลีลามีปมหลังของตัวละคร สามารถกลมกลืนทำให้เราลุ้นตาม เราเชียร์ตัวละคร สงสาร เห็นใจ เข้าใจชีวิตเขาได้ เพราะฉะนั้นคนดูก็ซึบซับเรื่องราวเหล่านี้ซึ่งเกือบจะเป็นดราม่า เป็นชีวิตน้ำเน่าด้วยซ้ำได้ แล้วแต่ว่าใครจะมองว่าหนังน้ำเน่าเป็นแบบไหน ซึ่งหนังฝรั่งก็มีหลายเรื่องที่เป็นแบบนี้

ในมุมคนที่ชอบโขนชอบศิลปะ แน่นอนมีครบถ้วน เพราะฉะนั้นอย่างน้อยคน 2 กลุ่มนี้สามารถดูได้ ในมุมของวัยรุ่นทั่วไป ถ้าชอบดูหนังคุณไม่ต้องรู้ก่อนเลยว่า คนโขนเป็นอะไร ถ้าเป็นคนรุ่นใหม่ที่ชอบศิลปะความเป็นภาพยนตร์ หนังเรื่องนี้มีให้ดูครบถ้วน จะครบ 100% หรือไม่ต้องให้ท่านผู้ชมตัดสินใจเอง แต่ในฐานะของคนทำภาพยนตร์ เราได้ทำเต็มที่กับปัจจัยต้นทุนในการทำภาพยนตร์อย่างเต็มร้อยเท่าที่เรามีแล้ว ในเรื่องของมุมมอง ภาพ จังหวะ บท การแสดงมีตรงนี้ให้ดูได้ เหมือนกับการที่เราเข้าไปดูหนังฝรั่งเรื่องหนึ่งที่นำเสนอเรื่องปฏิวัติวัฒนธรรม การเรียกร้องของสังคม ที่เราสามารถดื่มด่ำกับหนังเรื่องนั้นได้ก็เพราะบทและการนำเสนอ ซึ่งหนังเรื่องนี้ก็นำเสนอเช่นนั้นเหมือนกัน เพราะฉะนั้นอย่าเพิ่งไปกลัวว่าหนังเรื่องนี้เป็นโขน ถ้าคุณเข้าไปดูเรื่องนี้ มันมีมุมตรงนั้นให้ดูแน่นอน มีเพลงเพราะ มีพระเอกหล่อ นางเอกสวยๆ ให้เด็กดูก็ได้ มันเป็นหนังที่ครบรสชาติ คุณสามารถมีความสุขในการดูภาพยนตร์เรื่องนี้ และสามารถเลือกซึมซับสิ่งที่คุณชอบได้ครับ”

คาแร็คเตอร์ตัวละคร

ครูหยด (รับบทโดย สรพงษ์ ชาตรี) — ครูโขนฝีมือดีหาตัวจับยาก แต่มักจะเก็บตัวอยู่อย่างสมถะ ด้วยมีความหลังบางอย่างเกี่ยวกับเรื่องโขนและความรักฝังลึกเป็นปมในใจติดตัว รอเวลาชำระล้างอดีตที่ตนไม่อยากเอ่ยถึงนั้นเรื่อยมา

“ครูหยดจะเป็นครูโขนที่มีความสมถะ เรียบง่าย ไม่หวงวิชา จะถ่ายทอดวิชาโขนให้ลูกศิษย์เพื่อการดำรงอยู่ของศิลปะวัฒนธรรมไทย ตัวครูหยดจะถือว่าการถ่ายทอดศิลปะของตัวเอง แม้จะมีคนดูเพียงคนเดียวก็ต้องเล่น แล้วถ้ายิ่งคนที่ดูเพียงคนเดียวนั้นนำไปพูดเผยแพร่ต่อ เราก็ถือว่าเป็นคุณค่าของศิลปะนี้แล้ว มีประโยชน์แล้ว ครูหยดจะซื่อสัตย์ต่อหน้าที่อาชีพโขน เสียสละ ไม่มักใหญ่ใฝ่สูง ใครจะคิดยังไงก็คิดไป แต่ตัวเองแค่อยากเผยแพร่วัฒนธรรม แล้วก็เล่นโขนด้วยหัวใจด้วยความสุข ต้องเต็มที่กับงานแสดง”

ครูเสก (รับบทโดย นิรุตติ์ ศิริจรรยา) — เพื่อนรักในวัยหนุ่มของครูหยด ฝึกโขนอยู่กับพ่อครูเดียวกัน ครูเสกเป็นคนมักใหญ่ใฝ่สูงจนมีเหตุให้ต้องผิดใจกันกับครูหยด ถึงขั้นตัดขาดจากความเป็นเพื่อน ครูเสกดูถูกดูแคลนครูหยดว่าเป็นพวกโขนในคลอง หมายถึงโขนชาวบ้าน โขนชั้นต่ำไม่มีระดับ แต่ด้วยการที่รู้ในฝีมือครูหยด ครูเสกจึงมักจะจ้องหาโอกาสทำลายชื่อเสียงของครูหยดให้ได้ถ้ามีโอกาส

“เรื่องนี้มันเกี่ยวกับเรื่องของโขน ครูเสกเป็นเจ้าของคณะโขนซึ่งชิงดีชิงเด่นกับคณะโขนของคุณสรพงษ์ มันก็เหมือนกับวงดนตรีลูกทุ่งต่างๆ มันก็เปลี่ยนไปตามยุค เมื่อสมัยก่อนไม่มีวงดนตรีลูกทุ่งก็จะมีวงลิเก มีโขน มีเพลงฉ่อย คนพวกเนี้ยก็เป็นครูทั้งนั้น เมื่อมีอายุมากขึ้นแล้วเราก็มีประสบการณ์ก็มาตั้งคณะของตัวเอง ก็จะชิงดีชิงเด่นกันระหว่าง 2 คณะโขนที่คนดูชอบ ก็แล้วแต่ว่าใครจะมีไหวพริบอะไรที่ดีกว่า คณะของผมมันยิ่งใหญ่กว่าแล้วพยายามที่จะหักล้างหรือว่าจะข่มของคณะของคุณสรพงษ์อยู่ตลอด มันก็เป็นการชิงดีชิงเด่นเพื่อความอยู่รอด เพราะว่ามันเป็นอาชีพแสดงโขนแล้วก็ต้องเลี้ยงลูกน้องหลายชีวิตอย่างนี้ แต่เราก็จะไปชี้ว่าคนนั้นเลวหรือคนนั้นดีมันก็ไม่ได้เหมือนกันนะ”

ชาด (รับบทโดย อภิญญา รุ่งพิทักษ์มานะ) — เด็กชายกำพร้าที่ถูกทิ้งไว้กลางป่าช้าหลังวัดร้างแห่งหนึ่งของจังหวัดเพชรบุรี มีเพื่อนสนิทวัยเดียวกันสองคนคือ “ตือ” และ “แรม” เมื่ออายุได้ประมาณเจ็ดขวบ ครูหยดได้ขอตัวชาดมาเลี้ยงดูและจับฝึกหัดโขน เพราะเห็นว่าหน่วยก้านดี ชาดจึงได้รับการฝึกหัดโขนอย่างจริงจังครบทุกท่วงท่าโขนทั้งตัวพระ, ยักษ์ และลิง จนกลายเป็นศิษย์เอกของครูหยด ก่อนที่จะหลงเข้าไปอยู่ในวังวนแห่งรักโลภโกรธหลงซึ่งเขาอาจจะต้องแลกด้วยชีวิต

“หนังเรื่องนี้โดยเนื้อเรื่องมันก็สะท้อนการทำความฝันของเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่พยายามทำความฝันของตัวเองให้เป็นจริง ซึ่งในเรื่องนี้ตัวละครก็มีความฝันที่จะเป็นนักแสดงโขนที่โด่งดังให้ได้ ภายในเรื่องนี้เนี่ยเรื่องโขนจะเป็นความสุดยอดของยุคสมัยนั้นแล้ว เรื่องนี้จะมีการแสดงทางด้านศิลปะโขน ทำให้ท่านผู้ชมได้เห็นมุมมองการแสดงที่เป็นมรดกของชาติที่ไม่ได้มีเพียงแค่เสน่ห์แปลกใหม่เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีการสอดแทรกเรื่องราวที่เข้มข้น เป็นเรื่องราวของรักโลภโกรธหลงของมนุษย์เรานี่แหละ มีครบทุกอารมณ์ ครบทุกรสชาติความเป็นหนังไทย ประกอบกับการแสดงของนักแสดงชั้นครูแต่ะคน และความตั้งใจของพี่ตั้วผู้กำกับที่ต้องการถ่ายทอดแง่คิดดีๆ ให้กับผู้ชม ซึ่งรับรองได้ว่าเป็นหนังไทยเรื่องหนึ่งที่ไม่ควรพลาดนะครับ”

รำไพ (รับบทโดย พิมลรัตน์ พิศลยบุตร) — เด็กสาวบ้านนอกที่มีพรสวรรค์เรื่องการรำ เธอหวังจะมีชื่อเสียงโด่งดังในแวดวงนาฏศิลป์ จึงตัดสินใจหอบผ้าหอบผ่อนตามมาอยู่บ้านครูหยด แต่ก็ถูกเลี้ยงดูเป็นเพียงเมียเก็บเท่านั้น กระทั่งก้าวเข้าสู่การเป็นสาวใหญ่วัยใกล้สามสิบปี รำไพจึงเป็นเสมือนครูสอนรำเก็บกดที่ชอบดุด่าลูกศิษย์ลูกหาในคณะ และไม่มีใครกล้าเถียงหรือขัดใจรำไพ เพราะต่างรู้กันเป็นนัยว่ารำไพคือเมียครูหยด รำไพนั้นเห็น “ชาด” ศิษย์เอกของครูหยดมาตั้งแต่เล็กๆ กระทั่งเติบโตเป็นหนุ่มแน่น ด้วยความที่ครูหยดเฉื่อยชาลงและไม่สามารถสนองตอบกามารมณ์ของรำไพได้เต็มที่ จึงทำให้รำไพหวังจะได้ชาดเป็นชู้รักเข้าสักวัน

“จริงๆ จะว่าไป ตัวละครนี้ก็คือมนุษย์น่ะค่ะ มนุษย์มีความรักโลภโกรธหลง ไม่มีใครจะดีทุกด้านหรอก ทุกคนมีด้านดีแล้วก็ต้องมีด้านมืด เพราะฉะนั้นตัวรำไพนี่ก็เป็นตัวละครที่สะท้อนถึงความเป็นมนุษย์ผู้มีความต้องการอย่างแท้จริง ซึ่งมันก็คือธีมหลักของเรื่อง มันคือดราม่า มันคือชีวิตคนเรานี่แหละ”

คม (รับบทโดย ขจรพงศ์ พรพิสุทธิ์) — นักเรียนนาฏศิลป์ หลานชายเพียงคนเดียวของครูเสก หน่วยก้านดี มีสายเลือดโขนอยู่เต็มตัว แต่เขาเป็นเอาแต่ใจตัวและเลือดร้อนตามประสาวัยรุ่น คมมีความแค้นฝังลึกกับชาดมาตั้งแต่วัยเด็ก และตั้งปณิธานมั่นไว้ว่า สักวันจะต้องแก้แค้นเอาคืนกับชาดอย่างสามสมให้ได้

“สิ่งที่ต้องฝึกฝนในตัวเองมากขึ้นก็คือการมีสมาธิเพราะผมเป็นคนสมาธิสั้น ก็เลยต้องฝึกสมาธิแบบว่าจดจ่อกับสิ่งที่เราได้ทำอยู่ และก็ได้มีการฝึกแอ็คติ้ง ฝึกบทพูด เพราะผมเป็นคนพูดเร็วแล้วบางทีก็พูดไม่ชัด ก็ต้องฝึกพูดคำควบกล้ำให้พูด ร.เรืออะไรแบบนี้ แล้วก็ให้เข้าใจในบทที่เราจะได้รับ แล้วก็เคลียร์ตัวเองว่าบทนี้เป็นอย่างไร คาแร็กเตอร์เราเป็นอย่างไร และเราจะสื่อออกมาจากข้างในโดยคำพูด โดยสายตาอย่างไรที่ทำให้คนดูรู้ว่าเรากำลังรู้สึกอย่างไร และเรากำลังทำอะไร เหล่านี้คือสิ่งที่ผมยังมีไม่มากก็เลยต้องเรียนรู้ตรงนี้มากขึ้นครับ”

แรม (รับบทโดย นันทรัตน์ ชาวราษฎร์) — เด็กหญิงกำพร้าที่อาศัยอยู่กับคณะลิเกแม่ซ่อนกลิ่น แรมนั้นรักการรำลิเก เธอใฝ่ฝันอยากเป็นนางเอกลิเกเมื่อเติบโตขึ้น ด้วยเหตุที่คณะลิเกแม่ซ่อนกลิ่นมักจะมาเปิดวิกที่จังหวัดเพชรบุรีเป็นประจำ แรมจึงได้พบกับชาดและตือซึ่งเป็นเด็กวัยเดียวกัน ทั้งสามได้มีโอกาสเที่ยวเล่นกันตามประสาเด็กอยู่บ่อยๆ ทำให้สนิทสนมกันยิ่งนัก โดยไม่อาจคาดเดาได้เลยว่า เมื่อเติบใหญ่ขึ้นมาจะมีเหตุการณ์ทำให้ต้องหมางเมินกันไป

“ก่อนการถ่ายทำเรื่องนี้ ตรีและก็เพื่อนๆ ก็ต้องมีการเรียนและซ้อมการแสดงกับพี่ตั้วผู้กำกับด้วย พี่ตั้วจะสอนเองเลย และก็ให้ซ้อมบทบาทจนจำขึ้นใจเลยค่ะ ซึ่งก็จะช่วยเวลาถ่ายทำจริงหน้ากองถ่ายเยอะมาก ทำให้การแสดงไหลลื่นเป็นธรรมชาติ ช่วยได้มากจริงๆ ค่ะ แล้วก็ต้องมีการฝึกรำและร้องลิเกด้วยค่ะ เพราะที่ตรีเรียนอยู่มันเป็นนาฏศิลป์ไทยทั่วไป ซึ่งไม่เหมือนลิเก ก็ต้องไปปรับกับครูที่สอนลิเกอีกทีค่ะ แต่โชคดีที่ตรีมีพื้นฐานนาฏศิลป์อยู่แล้ว เรื่องรำเลยไม่ใช่เรื่องยากเท่าไหร่ แต่เรื่องร้องลิเกนี่สิคะยากมากๆ แต่ก็ฝึกและแสดงจนผ่านไปด้วยดีค่ะ”

ตือ (รับบทโดย กองทุน พงษ์พัฒนะ) - เด็กวัดกำพร้า เพื่อนสนิทของชาดและแรม เป็นคนจิตใจดี ตรงไปตรงมา ทำอะไรอย่างที่ใจคิด ตือรักการวาดรูป และทำได้เป็นอย่างดี เขาใฝ่ฝันที่จะเป็นจิตรกรเอกเมื่อเติบโตขึ้น ตือหลงรักแรมตั้งแต่วัยเด็ก แต่ไม่คิดว่าจะบอกเธอ เพราะเขาเชื่อว่าความรักเป็นความรู้สึกมิอาจหาคำพูดใดมาถ่ายทอดแทนได้ และเชื่อว่าแรมย่อมรู้สึกถึงความรักของเขาที่มีต่อเธอได้โดยไม่ต้องพร่ำบอก

“สำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ ผมว่ามันเป็นเรื่องที่ดีอย่างหนึ่งที่เราเอาวัฒนธรรมของเราออกมาทำในรูปแบบของภาพยนตร์ ซึ่งตั้งแต่สมัยเด็ก ผมก็เคยเล่นโขนมา เหมือนกับหลงลืมไปนาน อาจจะไม่มีโอกาสหรืออาจจะป็นเรื่องสื่อ สภาพแวดล้อมของเราในตอนนี้ที่ทำให้เราไม่ค่อยได้สัมผัสวัฒนธรรมไทยของเราทางด้านนี้นะครับ บางทีเด็กสมัยใหม่อาจจะมองว่าโขนเป็นเรื่องยากหรือเปล่า น่าเบื่อหรือเปล่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็อาจจะทำให้คนรุ่นใหม่หรือรุ่นเก่าก็ตามได้มาซึมซับเกี่ยวกับวัฒนธรรมของประเทศเราที่เป็นสิ่งสวยงามมากครับ รับรองมาดูเรื่องนี้ไม่ผิดหวังแน่นอนครับ”

ซ่อนกลิ่น (รับบทโดย เพ็ญพักตร์ ศิริกุล) - อดีตนางรำศิษย์รักของครูหยด ที่ออกไปตั้งคณะลิเกเพราะอกหักผิดหวังจากครูหยด แต่เมื่อเวลาผ่านไป ต่างฝ่ายต่างอายุมากขึ้นเรื่อยๆ ซ่อนกลิ่นก็มักจะแวะเวียนไปเยี่ยมเยียนและช่วยเหลือครูหยดบ้างเป็นครั้งคราว ด้วยสำนึกในบุญคุณครั้งเก่า

“เรื่องนี้ก็รับบทเป็น ซ่อนกลิ่น อดีตนางรำที่เคยอยู่ในคณะของครูหยด และเป็นแม่ของแรมที่น้องตรีแสดง ก็จะเป็นเจ้าของคณะลิเกที่เคยมีความหลังกับครูหยด ซึ่งจะว่าไปทุกตัวละครในเรื่องก็จะมีทั้งด้านดีและด้านมืดของแต่ละคน ก็เหมือนกับชีวิตของมนุษย์เรานี่เองค่ะ คุณตั้วผู้กำกับก็ต้องการทำหนังสะท้อนความเป็นมนุษย์ที่มีกิเลสตัณหาไม่ว่าจะอยู่ในแวดวงไหนก็มีแบบนี้ด้วยกันทั้งนั้น รวมถึงการสะท้อนวัฒนธรรมของไทยอย่างโขนก็ทำถ่ายทอดออกมาให้ดูสนุกและน่าติดตามเช่นกันค่ะ”

ผู้กำกับ...บันทึก

กว่าจะเป็น หนัง สักเรื่อง ไม่ใช่เรื่องง่าย

แต่ก็ไม่ได้ยากเกินกว่าความตั้งใจและพยายาม

กว่าจะเป็น โขน สักเรื่อง ไม่ใช่เรื่องยาก

แต่ก็ไม่ง่าย หากไม่มีใจและความมานะพากเพียร

กว่าจะเป็นหนังเรื่อง "คนโขน" ได้

ต้องใช้หัวใจที่รักศิลปะ

ต้องใช้กำลังกายที่เกิดจากศรัทธา

ต้องใช้การสนับสนุนจากผู้ที่เห็นถึงคุณค่า

ต้องระลึกเสมอว่า

นาฎกรรมไทย ย่อมบ่งบอก ความเป็นชาติไทย

ศรัณยู วงษ์กระจ่าง

๑๕ ก.ค. ๒๕๕๔

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ