“ สมุนไพรของไทยได้รับการยอมรับในแง่สรรพคุณความเป็นยามายาวนาน บริษัทเลือกเห็ด เป็นหัวหอกทำตลาด ประกอบด้วย เห็ดนางรมทอง และเห็ดนางรมดอย สำหรับทำ เซรั่ม และแผ่นมาร์กหน้า เห็ดแครง ใช้สำหรับทำครีมทาหน้า ภายใต้ชื่อยี่ห้อ ชิโซเดอม่า บริษัทได้รับการคัดเลือกจาก วว. ให้เป็นผู้รับถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตและจัดจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียวในประเทศ รวมถึงการเตรียมการสำหรับนำเครื่องสำอางไทยไปบุกตลาดต่างประเทศ ซึ่งบริษัทได้ทำการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ทั้ง 3 ชนิดโดยจะเน้นการทำตลาดในกรุงเทพก่อนจะขยายไปทั่วประเทศ ปัจจุบันมีจำหน่ายแล้วที่ ร้านวัตสัน เดอะมอลล์ (Home Fresh Mart) ตั้ง ฮั่ว เส็ง แคตตาล็อค 7-11 และในเว็บไซต์ของบริษัท โดยกลุ่มลูกค้าเป้าหมายหลักจะเน้นไปที่ผู้หญิงวัยทำงาน อายุ 30 ปีขึ้น สินค้าราคาไม่ได้แพงมากนัก ” นายพัฒน์โรจน์ กล่าว
ด้านคุณเกษมศรี หอมชื่น ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย หรือ วว. เปิดเผยเพิ่มเติมถึงนโยบายของ วว. ต่อสมุนไพรไทยว่า วว. เป็นหน่วยงานของภาครัฐ รับผิดชอบวิจัยและพัฒนาผลงานวิจัยให้ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ อีกทั้งยังคิดต่อยอดไปถึงการขยายผลไปสู่ภาคการเกษตร เพื่อให้มีการผลิตวัตถุดิบให้เพียงพอความต้องการของผู้ประกอบการในเชิงพาณิชย์ได้ เมื่อได้ผลงานวิจัยออกมาแล้ว ก็ส่งต่อให้ภาคเอกชนต่อยอดเป็นงานเชิงธุรกิจ เพราะเชื่อมั่นว่ากระบวนการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งผลงานวิจัยของเราจะช่วยพัฒนาประเทศในการนำวัตถุดิบที่มีมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ ซึ่งสามารถแข่งขันกับผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าได้ โดยทำการคัดเลือกบริษัทที่มีนโยบายการตลาด และศักยภาพที่ดี สามารถต่อยอดผลงานวิจัยเป็นนโนยบายการตลาดที่ทำได้จริง โดยที่เลือกบริษัท ไนน์บีบี พลัส มารับผิดชอบต่อยอดผลงานวิจัยชิ้นนี้ ของ วว. ก็เพราะแผนงานด้านการตลาดที่นำเสนอให้ วว. เห็นเป็นรูปธรรม และเชื่อว่าจะสามารถปฎิบัติได้จริง
คุณภัทรา อะหมะดี พีรซะหีด นักวิชาการฝ่ายเภสัชและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ จาก วว. เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ในแง่ของความปลอดภัยแล้ว เครื่องสำอางจากสมุนไพรมีความปลอดภัยสูงกว่าเครื่องสำอางทั่วๆไปเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะผลงานวิจัยของ วว. นั้นจะเน้นคุณภาพและความปลอดภัยมาก่อนเป็นอันดับแรก ภายใต้โครงการวิจัยนี้ วว. นำเห็ดเพื่อบริโภคมากกว่า 10 ชนิด มาทำการวิจัยทดสอบและพบว่าเห็ดนางรมทอง เห็ดนางรมดอย และเห็ดแครง เหมาะที่จะนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ เพราะอุดมด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ผลงานวิจัยนี้ยังจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตเห็ดของไทย เนื่องจากมีเห็ดอีกหลายชนิดที่ยังไม่สามารถผลิตได้ในเชิงการค้า และยังไม่ได้ถูกพัฒนามาใช้ประโยชน์ในด้านอื่น หากมีการนำมาพัฒนาให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางก็จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค เกิดการขยายตัวของการเพาะเห็ดในเชิงอุตสาหกรรมมากขึ้น ทำให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่ม และเกิดการกระจายรายได้ เป็นเครือข่ายการผลิตของอุตสาหกรรม เอสเอ็มอี ที่ต่อเนื่องและยั่งยืนได้
สอบถามข้อมูลข่าวเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์
โทร. 0-2956-5276 E-mail : [email protected]