1. การแต่งตั้งคณะโฆษกกระทรวงการคลัง
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มีคำสั่งกระทรวงการคลังที่ 1053/2554 ลงวันที่ 26 สิงหาคม 2554 แต่งตั้งคณะโฆษกกระทรวงการคลัง โดยมี นายนริศ ชัยสูตร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ดำรงตำแหน่งโฆษกกระทรวงการคลัง นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักนโยบายระบบการคุ้มครองผลประโยชน์ทางการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และ นายปิ่นสาย สุรัสวดี นักวิชาการภาษีชำนาญการพิเศษ รักษาการในตำแหน่งนักวิชาการภาษีเชี่ยวชาญ กรมสรรพากร ดำรงตำแหน่งรองโฆษกกระทรวงการคลัง และนายสุภวุฒิ รังษีภโนดร นักประชาสัมพันธ์ชำนาญการพิเศษ รักษาการในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านสารนิเทศด้านการคลัง ดำรงตำแหน่งเลขานุการคณะโฆษกกระทรวงการคลัง
โดยคณะโฆษกกระทรวงการคลังมีอำนาจหน้าที่ในการแถลงข่าว เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารอันเกี่ยวกับนโยบาย และการดำเนินมาตรการต่างๆ ภายใต้ภารกิจของกระทรวงการคลังให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และถูกต้องแก่สาธารณชน
สำหรับคณะโฆษกมีประวัติโดยย่อดังนี้
นายนริศ ชัยสูตร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โฆษกกระทรวงการคลัง จบปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์ มีความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์มหภาค นโยบายการเงิน และการเงินการธนาคารในอดีตเคยรับราชการเป็นอาจารย์ที่คณะเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ เป็นคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และอธิการบดีมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ 2 สมัย ประวัติการรับราชการในกระทรวงการคลังเคยดำรงตำแหน่ง ผอ. สศค. หัวหน้าผู้ตรวจราชการ และรองปลัดกระทรวงภารกิจด้านรายจ่าย เคยเป็นและดำรงตำแหน่งในสถาบันการเงินของรัฐ 6 แห่ง ปัจจุบันเป็นกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ประธานธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า และกรรมการในบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ประสบการณ์อื่นๆ เป็นประธานสภาวิจัยแห่งชาติสาขาเศรษฐศาสตร์ 4 สมัย (ตั้งแต่ปี 2540-ปัจจุบัน) นายกสมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ นายกสมาคมธรรมศาสตร์ 2 สมัย และประธานคณะกรรมการสเปเชียลโอลิมปิคแห่งประเทศไทย
นายลวรณ แสงสนิท ผอ.สำนักนโยบายระบบการคุ้มครองผลประโยชน์ทางการเงิน สศค. รองโฆษกกระทรวงการคลัง จบปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์จากสหรัฐอเมริกา รับราชการใน สศค. ตั้งแต่ปี 2535 มีประสบการณ์การทำงานทั้งในส่วนของสำนักนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สำนักนโยบายภาษี สำนักกฎหมาย และสำนักนโยบายระบบการคุ้มครองผลประโยชน์ทางการเงิน ปัจจุบันเป็นโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลังอีกตำแหน่งหนึ่งด้วย
นายปิ่นสาย สุรัสวดี รักษาการนักวิชาการภาษีเชี่ยวชาญ กรมสรรพากร รองโฆษกกระทรวงการคลัง จบปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาตรีนิติศาสตร์ จามหาวิทยาลัยรามคำแหง และปริญยาโทเศรษฐศาสตร์จากสก็อตแลนด์ รับราชการที่กรมสรรพากร ตั้งแต่ปี 2538 มีความเชี่ยวชาญในด้านการจัดทำนโยบายภาษี
นายสุภวุฒิ รังษีภโนดร รักษาการผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านสารนิเทศด้านการคลัง เลขานุการคณะโฆษกกระทรวงการคลัง จบปริญญตรีนิติศาสตร์ ปริญญาโทด้านรัฐศาสตร์ มหาสิทยาลัยรามคำแหง เคยรับราชการที่กรมสรรพากร ปัจจุบันดำรงตำแหน่งนักประชาสัมพันธ์ชำนาญการพิเศษ กรมธนารักษ์ รักษาการในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านสารนิเทศการคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง เคยดำรงตำแหน่งรองโฆษก และโฆษกกรมธนารักษ์
2. กระทรวงการคลังจึงได้กำหนดมาตรการในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติดังกล่าว ทั้งด้านการเงิน การให้ความช่วยเหลือของกรมบัญชีกลาง และกรมสรรพากร ดังนี้
2.1 มาตรการด้านการเงิน
ผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐทั้ง 8 แห่ง ได้แก่ ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม และบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย รวมทั้งธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ลูกค้าเดิมของธนาคารในเรื่องการพักชำระหนี้ ขยายระยะเวลาชำระหนี้ และลดดอกเบี้ย รวมทั้งให้เงินกู้ใหม่แก่ลูกค้าเดิมและประชาชนทั่วไป เพื่อฟื้นฟูอาชีพและซ่อมแซมบ้าน/อาคารที่เสียหาย โดยลดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำกว่าปกติ และลดหย่อนเกณฑ์การพิจารณา โดยมีรายละเอียดการให้ความช่วยเหลือของแต่ละสถาบันการเงิน ดังนี้
2.1.1 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้กำหนดมาตรการให้ความช่วยเหลือ ดังนี้
(1) กรณีลูกค้าเสียชีวิตจากอุทกภัยดังกล่าว จะจำหน่ายลูกหนี้ออกจากบัญชีเป็นหนี้สูญ โดย ธ.ก.ส. รับภาระเอง
(2) กรณีลูกค้าประสบภัยอย่างร้ายแรงและไม่เสียชีวิต
(2.1) หนี้เงินกู้เดิมที่มีอยู่ก่อนประสบภัย จะขยายเวลาการชำระหนี้เงินกู้เป็นเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปีบัญชี 2554-2556 และงดคิดดอกเบี้ยเงินกู้เป็นเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปีบัญชี 2554-2556 ทั้งนี้ หากการให้ความช่วยเหลือข้างต้นยังคงเป็นภาระหนักแก่ลูกค้า ธ.ก.ส. จะพิจารณาให้ความช่วยเหลือด้วยการปรับโครงสร้างหนี้และฟื้นฟูอาชีพให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้
(2.2) การให้เงินกู้ใหม่เพื่อฟื้นฟูการประกอบอาชีพและพัฒนาคุณภาพชีวิต ธ.ก.ส. จะพิจารณาให้เงินกู้ใหม่เพื่อฟื้นฟูอาชีพ รายละไม่เกิน 100,000 บาท โดย ธ.ก.ส. จะลดดอกเบี้ยเงินกู้จากอัตราปกติที่ ธ.ก.ส. เรียกเก็บจากลูกค้าลง ร้อยละ 3 ต่อปี เป็นเวลาไม่เกิน 3 ปี ตลอดจนลดหย่อนหลักประกันการกู้เงินจากหลักเกณฑ์ปกติ
สำหรับเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยที่ยังมิได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลตามหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน แต่มีความจำเป็นต้องใช้เงินทุนเพื่อฟื้นฟูการผลิตของตนเอง ธ.ก.ส. จะพิจารณาให้เงินกู้แก่เกษตรกรดังกล่าวไปก่อน เพื่อให้เกษตรกรสามารถฟื้นฟูการผลิตของตนเองได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
2.1.2 ในส่วนของสถาบันการเงินเฉพาะกิจอีก 7 แห่ง และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ได้กำหนดมาตรการให้ความช่วยเหลือและบรรเทาความเดือนร้อนแก่ผู้ประสบภัยธรรมชาติ ดังนี้
(1) การผ่อนปรนให้แก่ลูกหนี้เดิม ให้การพักชำระหนี้ ปรับลดเงินงวด และ/หรือขยายระยะเวลาการผ่อนชำระหนี้ และลดดอกเบี้ย
(2) การให้กู้ใหม่แก่ลูกค้าเดิมและประชาชนทั่วไป เพื่อฟื้นฟูอาชีพ ซ่อมแซมบ้าน/อาคารที่ได้รับความเสียหาย ปลูกสร้างอาคารแทนอาคารเดิม โดยลดหย่อนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้ต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ และลดหย่อยเกณฑ์การพิจารณา
ทั้งนี้ สำหรับธนาคารออมสินกำหนดให้ลูกค้าที่ต้องการขอรับความช่วยเหลือติดต่อสาขาภายใน 6 เดือนนับแต่วันที่เกิดอุทกภัยหรือวาตภัย
สำหรับ ธอส. กำหนดระยะเวลาการยื่นคำขอกู้และขอรับความช่วยเหลือตั้งแต่วันที่ 17 สิงหาคม — 31 ธันวาคม 2554
สำหรับ ธพว. กำหนดให้ยื่นคำขอภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2554
สำหรับธนาคารกรุงไทยกำหนดให้ยื่นคำขอภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2554
2.2 การเร่งรัดการเบิกจ่ายและขยายวงเงินทดรองราชการเพื่อบรรเทาสาธารณภัย โดยกรมบัญชีกลางได้อนุมัติเงินทดรองราชการแล้วทั้งสิน 346,046,998 บาท (ข้อมูล ณ วันที่ 23 สิงหาคม 2554) และได้ขยายวงเงินทดรองราชการแล้วในจังหวัดต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบรุนแรง อาทิ จังหวัดสุโขทัย และจังหวัดแพร่ 200 ล้านบาท รวมเป็น 250 ล้านบาท จังหวัดอุตรดิตถ์ 150 ล้านบาท รวมเป็น 200 ล้านบาท จังหวัดตาก 50 ล้านบาท รวมเป็น 100 ล้านบาท
2.3 มาตรการด้านภาษี โดยผู้ประสบอุทกภัยจะได้รับการบรรเทาภาระทางภาษี อาทิ การได้รับยกเว้นภาษีในส่วนเงินได้สำหรับเงินชดเชยที่ได้รับจากภาครัฐ และเงินได้จากค่าสินไหมทดแทนที่ได้รับจากการประกันภัย รวมทั้ง การขยายเวลาการยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีสรรพากรให้กับบางพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยรุนแรงตามความจำเป็นและสมควร และในส่วนของผู้บริจาคเงินช่วยเหลือ จะสามารถนำเงินบริจาคมาหักเป็นรายจ่ายทางภาษีได้
ทั้งนี้ ในช่วงบ่ายของวันนี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการ ธ.ก.ส. โดยมีนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานกรรมการ