“จากภาวะน้ำท่วมที่ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและคาดเดาไม่ได้ ทำให้เกษตรกรกังวลว่าจะเกิดปัญหาขึ้นมาอีกอย่างที่เคยเป็นมา สิ่งที่เกษตรกรจะทำได้ในวันนี้ คือการจับหมูออกขายที่น้ำหนัก 85-90 กก. จากปกติต้องจับที่น้ำหนัก 105-110 กก. ทำให้เกษตรกรเสียโอกาสทางการตลาดประมาณ 15-25 กก.ต่อตัว หรือคิดเป็นมูลค่าถึง 1,200-2,000 บาทต่อตัว หากคำนวนจากราคาที่ถูกควบคุมที่ 81 บาทต่อกก.ในปัจจุบัน และก่อนนี้ในหลายพื้นที่มีปัญหาอากาศแปรปรวน และปัญหาระบาด โดยเฉพาะโรค FMD หรือปากเท้าเปื่อย ที่เริ่มจากเกิดฟาร์มเล็กๆ ในภาคเหนือและภาคอีสาน แล้วลามไปสู่ภาคกลาง ทำให้ฟาร์มใหญ่ๆ บางฟาร์มเสียหายสูงถึง 70-80% หรือบางแห่งก็ตายเกือบทั้งฟาร์ม ทำให้ปริมาณหมูที่จะออกสู่ตลาดน้อยลง ผู้ค้าหลายรายเมื่อไม่มีหมูจำหน่ายก็ขอให้ผู้เลี้ยงหมูขายหมูน้ำหนักก่อนกำหนดที่ประมาณ 90 กก. เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ทำให้สามารถคาดการณ์ได้เลยว่าในช่วงสิ้นปีนี้ ปริมาณสุกรในท้องตลาดจะขาดแคลนอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ผลของความวิตกเกี่ยวกับปัญหาน้ำท่วมและโรคระบาดดังกล่าว ทำให้ปริมาณหมูหนีตายที่ออกมาสู่ตลาดมากขึ้นในปัจจุบัน มีผลต่อราคาขายหมูเป็นหน้าฟาร์มลดลงจาก 81 บาทต่อกก. มาอยู่ที่ 75-77 บาทต่อกก. และเชื่อว่าราคาหมูเนื้อแดงน่าจะลดลงตามราคาหมูเป็น ซึ่งจะเป็นผลดีต่อผู้บริโภคที่จะได้ซื้อหมูเนื้อแดงที่ราคาถูกลงในปัจจุบัน” นายวีระ กล่าว
ขณะนี้ ปริมาณผลผลิตสุกรในภูมิภาคเอเชียโดยรวมลดลงถึง 30 — 40% จากปัญหาโรคระบาดในสุกรรุมเร้า ตั้งแต่โรคที่มีอยู่เดิมอย่าง PRRS แต่ความรุนแรงของโรคเพิ่มขึ้นเพราะไม่เพียงทำให้แม่สุกรแท้งเท่านั้นแต่ยังทำให้แม่สุกรถึงตาย โรคปากเท้าเปื่อยที่จะยิ่งประทุหนักในช่วงฤดูฝน รวมทั้งโรคอุบัติใหม่อย่างโรคพีอีดี (PED) ซึ่งเป็นไวรัสชนิดร้ายแรงจากประเทศจีนและเกาหลีใต้ที่กำลังลุกลาม ก่อความเสียหายแก่แม่สุกรและลูกสุกรจะมีอาการท้องเสียตายยกคอก สาเหตุเหล่านี้ ทำให้สุกรของประเทศไทยลดจำนวนลงที่ 35,000-36,000 ตัวต่อวัน แต่เมื่อผนวกกับการแก้ปัญหาของเกษตรกรด้วยการขายก่อนกำหนด ส่งผลให้ปริมาณสุกรที่ออกสู่ตลาดลดลงเหลือเพียงแค่ 32,000 ตัวต่อวัน.