รางวัลดังกล่าวเป็นรางวัลการประกวดบูธนิทรรศการ เนื่องในงานนิทรรศการและกิจกรรมส่งเสริมการวิจัย "การนำเสนอผลงานวิจัยแห่งชาติ 2554" (Thailand Research Expo 2011) ซึ่ง วช. จัดขึ้น ระหว่างวันที่ 26-30 สิงหาคม 2554 ณ ศูนย์ประชุมบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ ราชประสงค์ กรุงเทพฯ เพื่อแสดงศักยภาพทางการวิจัยของไทยในระดับประเทศและระดับภูมิภาค อันจะเชื่อมโยงกับการนำผลผลิตจากงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์สู่การใช้ประโยชน์
สำหรับบูธนิทรรศการของ วว. ในครั้งนี้ ได้นำเสนอความสำเร็จของโครงการความร่วมมือเครือข่ายวิจัยพลังงานจากสาหร่ายขนาดเล็กแห่งประเทศไทย (คพท.) ซึ่งบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สนับสนุนทุนวิจัยจำนวน 140 ล้านบาท โดยมีหน่วยงานเครือข่ายร่วมวิจัยฯ คือ วว. ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีเป้าหมายเชิงพาณิชย์เพื่อให้ต้นทุนของน้ำมันจากสาหร่ายน้อยกว่า 150 เหรียญต่อบาเรล และเป้าหมายเชิงเทคนิคให้สาหร่ายมีผลผลิตสูงกว่า 30 กรัมต่อตารางเมตต่อวัน และมีปริมาณน้ำมันประมาณ 40% หรือสามารถคิดเป็นผลผลิตน้ำมันสาหร่ายประมาณ 6 ตันต่อน้ำมันต่อไรต่อปี ไม่รวมผลิตภัณฑ์พลอยได้จำพวกโปรตีนคุณภาพสูง และสารสกัดจำพวกกรดไขมันที่จำเป็นต่อร่างกาย
สำหรับการดำเนินงานของ วว. ภายใต้เครือข่ายนี้เป็นการวิจัยพัฒนาการผลิตน้ำมันจากสาหร่าย Botryococcus braunii ซึ่งเป็นสาหร่ายสีเขียวขนาดเล็กที่ทั่วโลกยอมรับว่า มีการสะสมน้ำมันในปริมาณสูงสุด รวมถึงการวิจัยพัฒนาการผลิตน้ำมันจากสาหร่าย ที่เจริญเติบโตในสภาพแวดล้อมที่อุณหภูมิสูงหรือสภาพการตรึงคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีความเข้มข้นสูง ซึ่ง วว. ได้ประสบผลสำเร็จในการใช้เทคนิคย้อมสีไนล์ เรด (Nile Red staining) เพื่อคัดเลือกสายพันธุ์สาหร่ายที่ผลิตน้ำมันได้รวดเร็วเป็นแห่งแรกของประเทศไทย โดยปัจจุบันพบว่ามีสาหร่ายสายพันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของไทยแล้วกว่า 40 สายพันธุ์ และจากนี้จะนำสาหร่ายสายพันธุ์ดังกล่าวมาขยายผลในระบบการเพาะเลี้ยงกลางแจ้งต่อไป
นอกจากจัดแสดงผลงานวิจัยด้านสาหร่าย ในงานนิทรรศการนำเสนอผลงานวิจัยแห่งชาติ 2554 แล้ว วว. ยังได้นำผลงานวิจัยด้านการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ที่ประสบผลสำเร็จในการผลิตครบ 1 ล้านกระสอบ หรือเท่ากับ 60,630 ตัน คิดเป็นเงินหมุนเวียนเกิดขึ้นในชุมชนกว่า 1,200 ล้านบาท ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม โดยการลดรายจ่าย สร้างงาน สร้างรายได้ เพิ่มมูลค่าทรัพยากรในท้องถิ่น กระจายความเจริญและฟื้นฟูทรัพยากรดินให้สมบูรณ์อย่างยั่งยืน
และจัดแสดงรถนั่งเคลื่อนที่อเนกประสงค์ ซึ่งมีลักษณะเด่นแตกต่างจากรถนั่งเคลื่อนที่ทั่วไปในท้องตลาดคือ สามารถสนองตอบความต้องการในด้านการบริหารส่วนต่างๆของร่างกาย การทำกายภาพบำบัดสำหรับแก้ปัญหาเรื่องเอ็นยึดติดบริเวณหัวเข่าและข้อเท้า (CPM-Continuous Passive Motion) การลุกยืนเพื่อให้กระดูกส่วนต่างๆ ได้รับน้ำหนักแทนการนอนอยู่กับที่ ตลอดจนการเคลื่อนที่ไปมา นอกจากนี้ยังมีระบบขับถ่ายอุจจาระและปัสสาวะขณะนั่งบนรถ ในส่วนของการบังคับควบคุมการเคลื่อนที่ก็สะดวกเพียงบังคับคันโยก เลี้ยวซ้าย-ขวา เดินหน้า-ถอยหลัง หรือปรับนอนราบ นั่ง ยืน ได้ นอกจากนี้ยังมีราคาถูกกว่าเครื่องนำเข้าประมาณ 50%