อันดับเครดิตของ SCBS สะท้อนถึงสัดส่วนการถือหุ้นทั้งหมดและการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นคือ ธนาคารไทยพาณิชย์จำกัด (มหาชน) หรือ SCB (ซึ่งได้รับการจัดอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘AA(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ ‘F1+(tha)’) ซึ่งเป็นธนาคารที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสามของประเทศไทยตามขนาดสินทรัพย์ และมีความแข็งแกร่งในส่วนของธุรกิจธนาคารเพื่อลูกค้ารายย่อย และการที่ SCBS ได้รวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานกับ SCB แผนการดำเนินธุรกิจของ SCBS มีความสอดคล้องกับธนาคารแม่ นอกจากจะมีการเชื่อมโยงในส่วนของคณะผู้บริหารระดับสูงและการใช้ชื่อของธนาคารแม่ในการดำเนินธุรกิจ SCBS ยังได้โอนสายงานที่เกี่ยวกับการบริหารความเสี่ยง ทรัพยากรบุคคล บัญชีและการเงิน การตรวจสอบและกำกับดูแล และด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ไปยัง SCB ตั้งแต่ปี 2552
SCBS มีธุรกิจหลักคือนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 77% ของรายได้ในช่วงครึ่งแรกปี 2554 SCBS ได้หยุดการลงทุนที่เป็นการซื้อขายหลักทรัพย์เพื่อการเก็งกำไรในส่วนของบริษัทเอง หลังจากเผชิญกับผลขาดทุนที่เกิดจากการประเมินทรัพย์สินตามราคาตลาด (mark-to-market) ของพอร์ทการลงทุนในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2551 การลงทุนที่มีอยู่ในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนประเภทค้ากำไรส่วนต่าง (Arbitrage Trading) คิดเป็น 15% ของส่วนของผู้ถือหุ้น ณ สิ้นเดือนมิถุนายนปี 2554 แผนการดำเนินธุรกิจของ SCBS ยังคงมุ่งเน้นในการสร้างเครือข่ายธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ให้แข็งแกร่ง และการออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีโครงสร้างเฉพาะ (Structured Financial Products) อาทิเช่น หุ้นกู้อนุพันธ์ที่อ้างอิงกับราคาหุ้น (Equity Linked Notes) ให้แก่นักลงทุนรายย่อยประเภท High Net Worth โดยอาศัยเครือข่ายสาขาที่มีขนาดใหญ่ของ SCB
SCBS มีผลประกอบการที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างมากจากช่วงต่ำสุดในปี 2551 SCBS มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 86% ในปี 2553 และ 188% ในครึ่งแรกของปี 2554 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า กำไรสุทธิที่แข็งแกร่งในช่วงครึ่งแรกของปี 2554 ยังมีส่วนสนับสนุนจากรายได้ธุรกิจการจัดจำหน่ายตราสารทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ยต่อปี (ROA) และ อัตราผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้นเฉลี่ยต่อปี (ROE) เพิ่มขึ้นมาที่ระดับ 8.6% และ 13.2% ตามลำดับในช่วงครึ่งแรกของปี 2554 เทียบกับ 5.8% และ 8.6% ตามลำดับ ในปี 2553 ฟิทช์ให้ความเห็นว่าการเปิดเสรีค่านายหน้าค้าหลักทรัพย์เต็มรูปแบบตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นไป น่าจะส่งผลกระทบในเชิงลบต่อส่วนแบ่งการตลาดและความสามารถในการทำกำไรของบริษัท
SCBS มีสินเชื่อด้อยคุณภาพซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 อยู่ที่ 273 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2554 หรือ 12% ของสินทรัพย์ที่เกี่ยวกับธุรกิจหลักทรัพย์ ซึ่งสินเชื่อด้อยคุณภาพในส่วนนี้ได้มีการตั้งสำรองครบถ้วนแล้ว เงินทุนในการประกอบธุรกิจของ SCBS มาจากส่วนของผู้ถือหุ้นเป็นหลักและบริษัทไม่มีภาระเงินกู้ยืม สภาพคล่องของ SCBS ประกอบไปด้วยระดับของเงินสดที่ 1.5 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายนปี 2554 และยังได้รับวงเงินเพื่อเสริมสภาพคล่องจากธนาคารแม่ในวงเงินไม่เกิน 2.0 พันล้านบาท SCBS มีเงินกองทุนที่แข็งแกร่งอัตราส่วนส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์และมีอัตราส่วนเงินกองทุน (NCR) ของบริษัท ยังอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งที่ 52.9% และ 114% ตามลำดับ ณ สิ้นเดือนมิถุนายนปี 2554 ซึ่งยังคงแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับระดับขั้นต่ำที่กำหนดไว้ที่ 7% สำหรับธุรกิจหลักทรัพย์ในประเทศไทย
แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพสะท้อนถึงแนวโน้มเครดิตของธนาคารแม่ การเปลี่ยนแปลงใดๆในการถือหุ้นของ SCB รวมทั้งการสนับสนุนของ SCB ที่มีต่อ SCBS อาจส่งผลกระทบต่อระยะห่างระหว่างอันดับเครดิตภายในประเทศของ SCBS และธนาคารแม่ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 2 อันดับ นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงของอันดับเครดิตของ SCB อาจส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตของ SCBS ได้เช่นกัน
SCBS ก่อตั้งขึ้นในปี 2538 โดยเป็นบริษัทลูกที่ดำเนินธุรกิจหลักทรัพย์ โดย SCB ถือหุ้นของบริษัททั้งหมด SCBS เป็นบริษัทหลักทรัพย์ขนาดกลาง โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นอันดับที่ 15 จากทั้งหมด 41 บริษัทหลักทรัพย์ โดยมีส่วนแบ่งอยู่ที่ 3% ในช่วงครึ่งแรกปี 2554