นางเกษมศรี หอมชื่น ผู้ว่าการ วว. ชี้แจงว่า วว.รู้สึกเป็นเกียรติและยินดียิ่งที่ได้มีโอกาสร่วมมือในโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยและการตั้งถิ่นฐานในชนบทตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งความร่วมมือระหว่าง วว.และ กคช.ในครั้งนี้เป็นการพัฒนาและบูรณาการความรู้ด้านบล็อกประสาน วว. โดยจะร่วมกันถ่ายทอดเทคโนโลยีบล็อกประสานให้แก่ชาวชนบทที่อยู่ห่างไกล ให้มีมาตรฐานความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ก่อให้เกิดความภาคภูมิใจ รักและหวงแหนในท้องถิ่น ไม่เกิดการอพยพถิ่นฐาน ตลอดจนเป็นการสร้างความเจริญในท้องถิ่น
“เทคโนโลยีบล็อกประสาน วว. ได้คิดค้นมาเป็นเวลากว่า 30 ปี ปัจจุบันเป็นที่รู้จักและนิยมใช้กันอย่างกว้างขวางทั้งในประเทศและต่างประเทศ และ ด้วยคุณสมบัติที่โดดเด่นของบล็อกประสาน วว. ที่มีความคงทนถาวร สวยงาม เรียบง่าย และที่สำคัญสามารถสร้างได้จากวัสดุที่มีในท้องถิ่น ใช้ทดแทนไม้ได้เป็นอย่างดี ช่วยเสริมสร้างการพึ่งตนเอง ลดการนำเข้าและยังสามารถพัฒนาเป็นอาชีพเสริมได้อีกด้วย ...ด้วยศักยภาพและความพร้อมของทั้งสองหน่วยงาน วว.เชื่อมั่นว่าโครงการดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชนบท อีกทั้งยังช่วยลดการบุกรุกทำลายป่า สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงเป็นอย่างยิ่ง...”ผู้ว่าการ วว.กล่าวเพิ่มเติม
นายวิฑูรย์ เจียสกุล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ (กคช.) กล่าวเสริมว่า โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยและการตั้งถิ่นฐานในชนบทตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงนี้ จัดทำขึ้นเพื่อสนองตอบต่อนโยบายของ กคช. ในการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่ครอบคลุมถึงพื้นที่ในชนบท โดยที่ผ่านมาได้จัดทำโครงการนำร่องในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ 1) หมู่บ้านข่วงก่อม จ.ลำปาง 2)หมู่บ้านนาต้นจั่น จ.สุโขทัย และ3) หมู่บ้านร้องแง จ.น่าน ทั้งนี้เมื่อปี 2553 ทาง วว.ได้ให้ความอนุเคราะห์ส่งเจ้าหน้าที่ถ่ายทอดความรู้เทคโนโลยีการผลิตบล็อกประสาน วว. ซึ่งปรากฏว่าได้รับความสนใจจากชาวบ้านเป็นอย่างมาก และสามารถรวมกลุ่มยึดเป็นสร้างเป็นอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่ครอบครัวและชุมชน ทั้งนี้การลงนามความร่วมมือระหว่าง วว.และ กคช. ในครั้งนี้ ถือว่าเป็นไปตามนโยบายของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือ สคร. ในการกำหนดให้มีการใช้ทรัพยากรและความร่วมมือระหว่างกัน อีกทั้งยังเป็นไปตามข้อเสนอแนะของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่เสนอให้ใช้บล็อกประสาน วว.ในการก่อสร้างและซ่อมแซมที่อยู่อาศัยในชนบท