กรมควบคุมโรคห่วงใย แนะ!! ประชาชนใช้ 4 ส. เป็นแนวทางป้องกันโรคและภัยสุขภาพที่อาจเพิ่มมากขึ้นในช่วงน้ำท่วม

จันทร์ ๑๒ กันยายน ๒๐๑๑ ๑๖:๐๑
กรมควบคุมโรคเผย ช่วงน้ำท่วมประชาชนอาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคเพิ่มมากขึ้น ทั้งโรคติดต่อที่เกิดจากน้ำไม่สะอาด โรคติดต่อจากแมลงเป็นพาหะ รวมทั้งอุบัติเหตุและการบาดเจ็บต่างๆ เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพและชีวิต แนะ!! ประชาชน ใช้ 4 ส.เป็นแนวทางป้องกัน

นายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ช่วงที่เกิดน้ำท่วมหลายพื้นที่ของประเทศไทยอาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเพิ่มมากขึ้น ทั้งโรคติดต่อจากน้ำที่ไม่สะอาด ได้แก่ ไทฟอยด์ อหิวาตกโรค โรคฉี่หนู และไวรัสตับอักเสบ A โรคติดต่อจากแมลงเป็นพาหะ ได้แก่ ไข้เลือดออก ไข้มาลาเรีย รวมทั้งอุบัติเหตุและการบาดเจ็บต่าง ๆ เช่น การจมน้ำ เป็นต้น

“โรคติดต่อที่เกิดจากน้ำไม่สะอาด” เนื่องจากภาวะน้ำท่วม ทำให้มีความเสี่ยงในการได้รับเชื้อโรคต่างๆจากน้ำไม่สะอาดเพิ่มมากขึ้น ทั้งจากการบริโภคและการสัมผัส ประชาชนจะมีโอกาสติดเชื้อโรคและเจ็บป่วยได้ง่าย โดยพบว่าเชื้อโรคที่สามารถติดต่อทางน้ำ ได้แก่ 1.เชื้อไวรัส เช่น เชื้อไวรัสตับอักเสบ A 2.เชื้อแบคทีเรีย เช่น เชื้อ อหิวาต์ ไทฟอยด์ เชื้อ Coliform ที่ทำให้มีอาการท้องเสีย 3.เชื้อโปรโตซัว เช่น cryptosporidium, amoeba , giardia

น้ำที่ไม่สะอาดจะทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นผิวหนังอักเสบ แผลติดเชื้อ ตาอักเสบ หรือ การติดเชื้อทางเดินอาหาร และยังมีบางโรค เช่น โรคฉี่หนู( leptospirosis) ซึ่งเป็นแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ที่สามารถติดต่อผ่านทางผิวหนังหรือเนื้อเยื่อของร่างกาย จากการสัมผัสกับน้ำไม่สะอาดที่มีการปนเปื้อนจากฉี่หนูหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ติดเชื้อ ซึ่งเป็นโรคที่เคยมีการระบาดในประเทศไทยมาแล้วเมื่อปี พ.ศ. 2543 ผู้ที่ได้รับเชื้อโรคฉี่หนูอาจมีอาการหลังได้รับเชื้อ 2 — 4 วัน อาการเริ่มต้นอาจจะมีไข้เฉียบพลัน ไข้สูง ปวดหัวมาก ปวดเมื่อยตามตัว ถ้าเป็นรุนแรงอาจจะมีอาการตัวเหลืองตาเหลือง ตับวาย ไตวาย หรือระบบทางเดินหายใจล้มเหลวได้ ต้องรีบไปพบแพทย์โดยด่วน เพื่อตรวจและรักษาโดยเร็วเพราะอาจทำให้เสียชีวิตได้

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวต่ออีกว่า โรคไวรัสตับอักเสบ A เป็นโรคติดต่ออีกโรคหนึ่งที่เกิดจากน้ำไม่สะอาด เพราะติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ A จากการรับประทานอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อน โรคนี้จะมีระยะฟักตัวประมาณ 15-45 วัน ผู้ที่ได้รับเชื้อจะมีอาการอักเสบของตับ เริ่มต้นจะมีอาการปวดเมื่อยตามตัว ไม่อยากอาหาร คลื่นไส้ ไข้ต่ำ ๆ อุจจาระสีซีด และปัสสาวะสีเข้ม มีอาการตัวเหลืองตาเหลืองดีซ่าน ซึ่งโรคนี้สามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีน

โรคติดต่อต่างๆที่เกิดจากน้ำไม่สะอาดส่วนใหญ่จะมาจากการปนเปื้อนของอาหารและน้ำ แต่สามารถป้องกันได้ ด้วยการเลือกดื่มน้ำที่สะอาด และต้องเพียงพอเพื่อป้องกันร่างกายขาดน้ำ ใช้น้ำที่ต้มสุกหรือผ่านคลอรีน ถ้ามีอาการท้องเสียหรือขาดน้ำ ควรดื่มน้ำเกลือแร่เสริม หากมีอาการไข้ หรืออาการผิดปกติควรพบแพทย์ สามารถใช้ยาลดไข้ บรรเทาอาการไข้ได้ ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำสะอาด ทำความสะอาดอาหารและปรุงอาหารให้สุกทุกครั้ง

ด้านนายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเสริมว่าในช่วงน้ำท่วม นอกจากโรคติดต่อจากน้ำไม่สะอาดแล้ว ยังทำให้เกิด “โรคติดต่อที่เกิดขึ้นจากแมลงเป็นพาหะ” มากขึ้นด้วย เพราะน้ำที่ท่วมจะทำให้แมลงที่เป็นพาหะของโรคต่าง ๆ เพิ่มจำนวนมากขึ้น เช่น ยุงลาย ทำให้เสี่ยงต่อการระบาดของไข้เลือดออก หรือในป่า มียุงก้นป่อง ที่ทำให้เกิดไข้มาลาเรีย ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นหลังจากการเกิดน้ำท่วมประมาณ 6 สัปดาห์ ส่วนโรคอื่น ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในภาวะน้ำท่วม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอุบัติเหตุ และการบาดเจ็บต่างๆ ถ้ามีบาดแผลควรฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก และรับยาแก้อักเสบเพื่อป้องกันการติดเชื้อ หรือถ้าหากติดอยู่ในน้ำเป็นเวลานาน ๆ ร่างกายมีภาวะอุณหภูมิต่ำผิดปกติ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะพบในเด็กเล็ก ซึ่งจะทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อทางเดินหายใจ หากเกิดอาการดังกล่าวต้องรีบพาเด็กไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาทันที

“ในช่วงน้ำท่วมประชาชนควรเพิ่มความระมัดระวังการดูแลสุขอนามัยมากขึ้นกว่าปกติ เนื่องจากมีโอกาสที่จะเกิดโรคและภัยสุขภาพได้ง่าย จึงขอแนะให้ใช้ 4 ส. เป็นแนวทางป้องกัน ส. ที่หนึ่ง “น้ำ อาหารสะอาด” ต้องดื่มน้ำและกินอาหารที่สุกสะอาด ส. ที่สอง “ร่างกายสะอาด” ต้องรักษาร่างกาย มือเท้าให้สะอาดอยู่เสมอ ไม่ขยี้ตาเมื่อมีฝุ่นหรือน้ำสกปรกเข้าตา ให้ล้างด้วยน้ำสะอาด ไม่ควรลงแช่น้ำที่ท่วมขัง หากจำเป็นต้องรีบล้างตัวให้สะอาดโดยเร็ว ส. ที่สาม “สัตว์มีพิษ” ต้องระวังสัตว์มีพิษ ที่อาจหลบหนีเข้ามาในที่พักอาศัย เช่น งู แมงป่อง ตะขาบ ส.ที่สี่ “สิ่งแวดล้อม” ต้องใส่ใจสิ่งแวดล้อม ปรับปรุงสุขาภิบาลรอบตัว เน้นการกำจัดขยะ ถ่ายอุจจาระลงถุง ตัดวงจรไฟฟ้าภายในบ้าน อย่าเข้าใกล้เสาไฟฟ้าแรงสูงเพราะอาจมีกระแสไฟฟ้ารั่วได้ และให้ระวังการจมน้ำด้วย หากประชาชนปฏิบัติได้ตามคำแนะนำก็จะเกิดความปลอดภัยต่อสุขภาพและชีวิต”รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวปิดท้าย

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 025822965 กรมควบคุมโรค

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐ ธ.ค. ASMT ผนึก TFT ร่วมลงนามด้านวิชาการด้านอุตสาหกรรมการบิน
๒๐ ธ.ค. กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตอะโวคาโดคุณภาพ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรกว่า 2 แสนบาท/ไร่
๒๐ ธ.ค. Dow มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ Personal Care ควบคู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดเครื่องสำอางในภูมิภาคเอเชีย
๒๐ ธ.ค. โอซีซี มอบความรู้ พัฒนาอาชีพให้ผู้ต้องขังหญิง
๒๐ ธ.ค. ดร.นุชนารถ ชลคงคา นำทีมสถาบัน ESTC จัดอบรมให้ Karmakamet
๒๐ ธ.ค. กนภ. เห็นชอบร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลไกสำคัญสู่เส้นทางเศรษกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันฯ
๒๐ ธ.ค. WePlay x คอลแลบตัวละครสุดปัง! พบกับมินิเกมใหม่ และการ์ตูนสุดน่ารักที่คุณจะต้องหลงรัก
๒๐ ธ.ค. เดลต้า ประเทศไทย และ WEnergy Global ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อขับเคลื่อนอนาคตพลังงานสีเขียว
๒๐ ธ.ค. ความภาคภูมิใจของ ไลอ้อน กับ 3 รางวัลแห่งเกียรติยศ เผยผลงานโดดเด่นกับหลายรางวัลที่ได้รับในปี 2567
๒๐ ธ.ค. NOBLE คว้าเรทติ้งสูงสุด ระดับ AAA SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนภายในแนวคิด Live Different ตามกรอบ