ปตท. มอบถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี “สิ่งประดิษฐ์ด้านพลังงาน” โครงการเพื่อเด็กและเยาวชนประจำปี 2554

อังคาร ๑๓ กันยายน ๒๐๑๑ ๑๔:๓๖
บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) มอบถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี แก่โรงเรียนที่ชนะเลิศการประกวด “สิ่งประดิษฐ์ด้านพลังงาน” พร้อมทุนการศึกษากว่า 300,000 บาท ในโครงการเพื่อเด็กและเยาวชนประจำปี 2554 (PTT YOUTH CAMP 2011) โดยมุ่งหวังให้เป็นการ “เปิดพื้นที่” และ “เปิดโอกาส” ให้เยาวชนไทยเป็นนักคิด นักประดิษฐ์ คิดสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ด้านพลังงาน ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง รวมไปถึงการรณรงค์ให้สังคมไทย “ตระหนัก” ถึงการใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่า มีประสิทธิภาพ เพื่อชีวิตที่พอเพียงและยั่งยืน

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่การตลาดพาณิชย์และต่างประเทศ และรักษาการผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สื่อสารองค์กรและกิจการเพื่อสังคม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ประธานในพิธีมอบรางวัลสุดยอดนักประดิษฐ์ใน “โครงการเพื่อเด็กและเยาวชน ประจำปี 2554 (PTT YOUTH CAMP 2011)” ณ ศูนย์เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ เปิดเผยว่า ปตท. ดำเนินโครงการนี้ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 แล้ว ด้วยเล็งเห็นว่าโครงการดังกล่าว จะช่วยพัฒนาศักยภาพของเยาวชนให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น รวมทั้งสร้างกระบวนการคิดอย่างมีระบบ รู้จักนำทฤษฎีมาปรับใช้อย่างมีเหตุมีผล อันนำไปสู่การคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ด้านพลังงานที่ยั่งยืน มีประสิทธิภาพ สามารถนำไปใช้ได้จริง รวมถึงเป็นต้นแบบให้กับชุมชน โดยในแต่ละปีเปิดโอกาสให้นักเรียนนักศึกษา ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนปลาย และอาชีวศึกษา (ปวช. ปวส. ปวท. หรือเทียบเท่า) ส่งผลงานเข้าประกวดชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งแนวคิดหลักในการดำเนินงานในปีนี้ คือ “แรงบันดาลใจจากพ่อ Inspired by The King”

นายอรรถพล กล่าวต่อว่า ได้ติดตามความคืบหน้าของโครงการเป็นระยะๆ พบว่า บนเส้นทางของ นักประดิษฐ์ทุกคนมุ่งมั่นต่อการสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์เป็นอย่างมาก แต่วันนี้ผลแห่งความเพียรพยายาม เอาชนะอุปสรรคปัญหาต่างๆ เป็นบทพิสูจน์ได้ว่าทุกคนสามารถเอาชนะตัวเองได้ วันนี้การแข่งขันมาถึงจุดสิ้นสุดแล้ว สำหรับทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศนั้น ต้องขอแสดงความยินดีด้วย ส่วนทีมที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศก็ขอเป็นกำลังใจและต้องการให้เยาวชนทุกคนระลึกถึงสิ่งดีๆ ที่ได้ร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานสิ่งประดิษฐ์ด้านพลังงาน และขอให้นำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับจากการเข้าร่วมโครงการฯ ครั้งนี้ กลับไปแลกเปลี่ยน แบ่งปัน ให้กับเพื่อนๆ ซึ่งทุกผลงานที่ผ่านเข้ารอบมาในวันนี้ เชื่อว่าจะสามารถต่อยอด เพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับชุมชนต่อไป

สำหรับทีมที่ผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ 9 ทีม เพื่อชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ประกาศนียบัตรและทุนการศึกษากว่า 300,000 บาท แบ่งออกเป็น 3 ระดับดังนี้

ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น

ภายใต้หัวข้อ “สิ่งประดิษฐ์จากวัสดุเหลือใช้ที่ได้จากชุมชน”

โรงเรียนสงวนหญิง จังหวัดสุพรรณบุรี

ชื่อผลงาน โครงงานภาชนะถนอมผัก

โรงเรียนวิเชียรกลิ่นสุคนธ์อุปถัมภ์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ชื่อผลงาน โครงงานบล็อกปูพื้นกันกระแทกจากเศษยางของรองเท้าแตะ

โรงเรียนสัมมาสิกขาศีรษะอโศก จังหวัดศรีสะเกษ

ชื่อผลงาน โครงงานเตาหุงข้าวพลังแสงแดดชนิด8 แผ่น สะท้อนความร้อน

ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย

ภายใต้หัวข้อ “สิ่งประดิษฐ์ด้านพลังงานเพื่อโลกสีเขียว”

โรงเรียนปทุมเทพวิทยาคาร จังหวัดหนองคาย

ชื่อผลงาน โครงงานกังหันลมจากล้อจักรยาน

โรงเรียนสุราษฏร์พิทยา จังหวัดสุราษฏร์ธานี

ชื่อผลงาน โครงงานเซลล์แสงอาทิตย์ผลึกนาโนจาก แอนโทไซยานิน

โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่

ชื่อผลงาน โครงงานนวัตกรรมพลังงานทดแทนจากของไหล

ระดับอาชีวศึกษา ( ปวช. ปวส. ปวท. หรือเทียบเท่า )

ภายใต้หัวข้อ “สิ่งประดิษฐ์เพื่อชุมชนบนวิถีชีวิตพอเพียง”

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานวิทยาเขตสกลนคร จังหวัดสกลนคร

ชื่อผลงาน โครงงานเครื่องแยกเมล็ดมะเขือเทศเพื่อการขยายพันธุ์

วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ

ชื่อผลงาน โครงงานกังหันลมผลิตไฟฟ้า

วิทยาลัยการอาชีพศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ

ชื่อผลงาน โครงงานเครื่องเสียบลูกชิ้น

นายอรรถพล กล่าวต่อว่า การตัดสินในวันนี้ ปตท. ได้รับเกียรติจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่าน ประกอบด้วย รศ.ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี พระจอมเกล้าธนบุรี ผศ.ดร.พงษ์สิทธิ์ ศรีคิรินทร์ ภาควิชาวิศวกรรมพลังงาน คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ผศ.ดร.วิทยา วัณณสุโภประสิทธิ์ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.มยุรพันธุ์ สัจจกุลนุกิจ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน และ ผศ.พบสิทธิ์ กมลเวชช คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ทั้งนี้คณะกรรมการทุกท่านลงคะแนนเป็นเอกฉันท์ให้ทีม โรงเรียนสงวนหญิง จังหวัดสุพรรณบุรี “โครงงานภาชนะถนอมผัก” ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับ มัธยมศึกษาตอนต้น ด้วยการนำหลักการง่ายๆ ของวิทยาศาสตร์เรื่องการระเหยของน้ำช่วยลดอุณหภูมิภาชนะเก็บผักจากดินเผาที่หาได้ทั่วไปในชนบท เมื่อน้ำระเหยก็จะนำความร้อนส่วนหนึ่งออกไปด้วย ทำให้โมเลกุลของน้ำที่เหลืออยู่มีอุณหภูมิที่เย็นลง ภาชนะถนอมผักจึงเย็นลงตามไป แบบไม่ต้องพึ่งพาตู้เย็น ในขณะที่ทีมจากโรงเรียนวิเชียรกลิ่นสุคนธ์อุปถัมภ์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา “โครงงานบล็อกปูพื้นกันกระแทกจากเศษยางของรองเท้าแตะและทีมจากโรงเรียนสัมมาสิกขาศีรษะอโศก จังหวัดศรีษะเกษได้รับรางวัลรองชนะเลิศ

ส่วนทีมจากโรงเรียนสุราษฎร์พิทยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ส่ง โครงงานเซลล์แสงอาทิตย์ผลึกนาโนจากแอนโทไซยานิน ได้รับรางวัลชนะเลิศ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ทีมนี้นำสารสีจากเม็ดมะปริง พืชที่สามารถดูดซับแสงได้มาก เมื่อแสงที่ดูดซับเข้ามากระตุ้นให้อิเล็กตรอนในสารสีเคลื่อนที่ไปสะสมกันที่ประจุลบ (ไทเทเนียมไดออกไซด์) เมื่อต่อเข้ากับอุปกรณ์ไฟฟ้าอิเล็กตรอนจะเคลื่อนที่ผ่านอุปกรณ์ไฟฟ้าเข้าสู่ขั้วบวก (แพลทตินัม) ก็ทำให้เกิดความแตกศักย์ของไฟฟ้าขึ้นก็จะทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าหากนำเซลล์แสงอาทิตย์นี้ไปแปะไว้ที่ป้ายจราจรตามท้องถนน โดยเฉพาะท้องถนนในเขตชนบท ก็จะช่วยลดอุบัติเหตุและลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าลงได้มาก ที่สำคัญการค้นพบครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกของโลกที่พบว่าเม็ดมะปริงมีสารแอนโทไซยานินสูงกว่าเปลือกมังคุดที่เคยมีผู้ทดสอบมาแล้ว ขณะที่ทีมจากโรงเรียนปทุมเทพวิทยาคาร จังหวัดหนองคาย เจ้าของผลงาน “โครงงานกังหันลมจากล้อจักรยาน” และทีมจากโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ ในผลงาน “นวัตกรรมพลังงานทดแทนของไหล”คว้ารางวัลรองชนะเลิศ

สำหรับทีมผู้ชนะเลิศระดับอาชีวศึกษา( ปวช. ปวส. ปวท. หรือเทียบเท่า ) ได้แก่ทีมจากวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานวิทยาเขตสกลนคร จังหวัดสกลนคร ภายใต้ผลงาน “โครงงานเครื่องแยกเมล็ดมะเขือเทศเพื่อการขยายพันธุ์” นำของเหลือใช้อย่างจักรยาน ถังน้ำ และใบมีดมาประกอบเข้าเป็นตัวเครื่อง เมื่อคนขึ้นปั่นจักรยานใบมีดตัดก็จะหมุนปั่นมะเขือเทศให้ละเอียดก่อนที่น้ำและเมล็ดมะเขือเทศจะไหลลงสู่ท่อ ซึ่งติดแผ่นกรองเอาเนื้อและเมล็ดออก ช่วยให้เกษตรกรเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เองโดยไม่ต้องซื้อ ตอบโจทย์สิ่งประดิษฐ์เพื่อชุมชน บนวิถีชีวิตพอเพียงได้ตรงที่สุด ส่งผลให้ ทีมจากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ ที่ส่งผลงานกังหันลมผลิตไฟฟ้า และทีมจากวิทยาลัยการอาชีพศรีษะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ ในผลงานเครื่องเสียบลูกชิ้นได้เพียงรางวัลรองชนะเลิศ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version