ทั้งนี้ ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัย การพัฒนาแรงงานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ(ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงเป้าหมายเชิงนโยบายในการพัฒนาแรงงานสู่ภาคธุรกิจไทยว่า 1) ยกระดับการเรียนการสอน โดยคำนึงถึงเรื่องการพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐานตั้งแต่การเรียนการสอนในห้องเรียน โดยเน้นเรื่องของความสามารถในการสื่อสาร ไปจนถึงการให้โอกาสได้ฝึกงาน และทำงานที่ตนเองมีความถนัด รวมถึงการเสริมสร้างการศึกษาสายอาชีพให้เข้มแข็งมีสมรรถนะสูงเป็นที่ยอมรับทั้งในระดับประเทศ และในระดับสากล เพื่อยกระดับความรู้ความสามารถต่อยอดเป็นแรงงานที่มีคุณภาพออกสู่ตลาดภาคธุรกิจ 2) พัฒนาในด้านมาตรฐานฝีมือแรงงาน และมาตรฐานวิชาชีพ โดยมีระบบการบริหารจัดการแรงงานที่ดี เสริมสร้างบุคลากรที่มีความสามารถให้ได้แสดงออกถึงศักยภาพเฉพาะตน รวมถึงการพัฒนาอาชีพเพื่อการต่อยอดเป็นธุรกิจอื่นๆ 3) พัฒนาและเสริมสร้างระบบข้อมูลสารสนเทศให้ก้าวล้ำ ควบคู่ไปกับการพัฒนากำลังคนให้เข้มแข็ง พร้อมรับการพัฒนาตนเองสู่การเรียนรู้ในนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น
ทางด้าน ดร.พานิช เหล่าศิริรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ เสนอแนวทางการพัฒนาบุคลากรว่า จากปัญหาที่ระบบการศึกษาไทยผลิตแรงงานไม่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานนั้นแนวทางแรกต้องมีการประสานการทำงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนให้เดินหน้าไปด้วยกัน ในฐานะ “ผู้ผลิตแรงงาน กับ ผู้ใช้แรงงาน” ดังนั้น ควรช่วยกันหาวิธีที่จะทำอย่างไรให้ทั้ง 2 ฝ่ายรับทราบความต้องการของกันและกันมากที่สุด เพื่อประโยชน์ในแง่ทรัพยากรแรงงานที่จะออกสู่ภาคธุรกิจต่อไป โดยภาคเอกชนซึ่งมีบทบาทของ “ผู้ใช้แรงงาน” ควรเข้าไปเสนอแนะแนวทางการเรียนรู้ เช่น กระบวนการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย “ผู้ผลิตแรงงาน” มีหน่วยงานภาคเอกชนเข้าไปสอนวิชาที่อาจไม่มีในตำราเรียน ทั้งเรื่องของหลักธรรมมาภิบาลในระบบธุรกิจ การเรียนรู้เรื่องทักษะการบริการ การมีวินัย การเคารพผู้อื่น เรื่องทีมเวิร์ค การเจรจาต่อรอง หรือการสื่อสารให้เกิดประโยชน์ในเชิงธุรกิจ
คุณบุญชัย ปัณฑุรอัมพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซาบีน่า จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นเกี่ยวกับคุณภาพการศึกษาไทยในการผลิตทรัพยากรมนุษย์เข้าสู่ตลาดแรงงานในปัจจุบันว่า ทุกฝ่ายต้องช่วยกันขยายผลเรื่องการพัฒนาคนให้มากขึ้น โดยภาคเอกชนอาจเข้าไปร่วมมือจัดทำหลักสูตรผลิตคนที่มีคุณภาพออกสู่สายธุรกิจอย่างตรงความต้องการ เช่น อาจผลักดันให้บุคลากรในระดับบริหารของภาคเอกชนออกไปถ่ายทอดสู่นักศึกษาเป็นโรลโมเดลที่ดีให้พวกเขา ปัจจุบันพบปัญหาเรื่องคุณภาพของแรงงาน ส่วนใหญ่ความสามารถและทักษะการทำงาน มักไม่ตรงกับความต้องการของธุรกิจ เช่น เรียนภาควิชาบริหารธุรกิจระหว่างประเทศแต่ทักษะการพูดเจรจาไม่ดี บางคนพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ ทำให้แรงงานบางคนพลาดโอกาสได้ร่วมงานกับบริษัทธุรกิจใหญ่ๆ หรือบริษัทต่างชาติ หรืออีกแนวทางให้คิดกลับกัน ลองให้เด็กๆ ที่สอบตกวิชานี้ แต่ได้คะแนนอีกวิชาดี แทนที่จะให้พวกเขาไปนั่งสอบซ่อมวิชาเหล่านั้น ก็ให้ลองหันมาพัฒนาวิชาที่คิดว่าเรียนพอได้ พอไหว หรือดีแล้วให้ดีที่สุดขึ้นไปอีกขั้น ให้เกิดเป็นความถนัดติดตัว เพราะฉะนั้นคนรอบข้างต้องช่วยกันค้นให้เจอว่าเด็กถนัดอะไรที่สุด หรือทำคะแนนวิชาอะไรได้ดีกว่าวิชาอื่นที่เขาไม่ชอบ
สำหรับ คุณเพ็ญศรี สุธีรศาสนต์ ผู้อำนวยการสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย เปิดเผยถึงสถิติระดับความกังวลใจต่อปัจจัยเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจของบริษัทต่างๆ ในช่วง 6 เดือนข้างหน้า (ข้อมูลจากผลการสำรวจ ประจำวันที่ 23 มิ.ย.54) พบว่า ความกังวลใจด้านการขาดแคลนแรงงานที่มีฝีมือมีอัตรามากถึงร้อยละ 48 เมื่อเทียบกับความกังวลใจในด้านการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก และความกังวลใจด้านเสถียรภาพทางการเมืองร้อยละ 46 ในขณะที่ความต้องการจ้างงานเพิ่มของบริษัทมีอัตราเติบโตสูงขึ้น ซึ่งเห็นได้ว่าปัญหาการขาดแคลนกำลังคนที่มีคุณภาพถือเป็นปัจจัยใหญ่ที่ภาคธุรกิจให้ความสำคัญ และถือเป็นเรื่องเร่งด่วนในการคิดแก้ไขปัญหา ดังนั้น ภาคธุรกิจจึงวางนโยบายในการเตรียมรับมือกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจไทย และเศรษฐกิจโลก โดยหลายหน่วยงานได้เริ่มดำเนินการพัฒนาแรงงานภาคการผลิตของตนให้มีคุณภาพในแง่การเพิ่มประสิทธิภาพของผลงานการผลิต และการบริการในรูปแบบใหม่ๆ พร้อมกับพัฒนาทักษะของพนักงานในองค์กรอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยี เพื่อการลดต้นทุนในสายการผลิต เพื่อรองรับการปรับตัวของภาวะเศรษฐกิจผันผวนต่อไป
กรุงเทพธุรกิจร่วมสนับสนุน “ยุทธศาสตร์สร้างคน สร้างไทย”
การปรับตัวของภาคการศึกษา และภาคธุรกิจต้องเดินเคียงไปด้วยกัน
เพื่อเป้าหมายร่วมกันคือ “คน” และ “คุณภาพ”
ออกข่าวในนามส่วนงานประชาสัมพันธ์ ฝ่ายสื่อสารองค์กร
บริษัท กรุงเทพธุรกิจ มีเดีย จำกัด