นายสิงหะ นิกรพันธุ์ ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.)เปิดเผยว่าสถานการณ์ต่างๆในปัจจุบัน เป็นไปในทิศทางที่เอื้ออำนวยต่อการเริ่มปรับลดเพดานวงเงินคุ้มครองเงินฝากตามกฎหมาย ทั้งในด้านภาวะการณ์ทางเศรษฐกิจ ความพร้อมของผู้ฝากเงินและสถาบันการเงินในปัจจุบัน ตลอดจนความพร้อมของหน่วยงานกำกับดูแล...ซึ่งท้ายที่สุดแล้วส่งผลให้การเปลี่ยนผ่านการลดเพดานการคุ้มครองเงินฝากเป็นวงเงินไม่เกิน 50 ล้านบาทต่อรายผู้ฝากต่อสถาบันการเงินในปีนี้ (11 ส.ค. 54) เป็นไปได้อย่างราบรื่น
โดยภาพรวมโดยทั่วไปพบว่าภาวะเศรษฐกิจของประเทศอยู่ในเกณฑ์ดี การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีแรกที่ผ่านมาสามารถขยายตัวได้ดีต่อเนื่องอยู่ในอัตราร้อยละ 3.5-4.5 ประกอบกับทางด้านธนาคารพาณิชย์เอง ก็พบว่ามีความพร้อมในการรองรับจังหวะการลดวงเงินคุ้มครองเงินฝาก และสามารถรับมือการแข่งขันด้านราคาได้ในระดับหนึ่ง จากฐานะทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ไทยที่อยู่ในเกณฑ์ที่ดีในปัจจุบัน ต่างมีการปรับกลยุทธ์รักษาฐานลูกค้าเงินฝากไว้กับธนาคาร นอกเหนือจากเพื่อบริหารสภาพคล่องให้เพียงพอต่อการขยายตัวของสินเชื่อและการดำเนินธุรกิจหลักของธนาคาร ซึ่งธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ได้มีการออกผลิตภัณฑ์เงินออม เพื่อตอบโจทย์การออมของลูกค้าในลักษณะที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น ในขณะที่ให้ความสำคัญกับการแสดงถึงความมั่นคงของตนด้วย
นอกจากนี้นายสิงหะยังกล่าวเพิ่มเติมว่า “สำหรับเสียงตอบรับของประชาชนผู้มีเงินฝากไม่เกิน 1 ล้านบาท ซึ่งมีอยู่ 98.5% ของระบบ พบว่ามีความเข้าใจและมีความสบายใจ ที่เมื่อเวลาสถาบันการเงินถูกเพิกถอนใบอนุญาต ก็จะได้รับเงินคืนเต็มจำนวน ภายในกำหนดเวลาที่ชัดเจน กล่าวคือ ผู้ฝากเงินมั่นใจได้ว่าจะได้รับเงินฝากคืนภายในระยะเวลา 30 วันตามที่กฎหมายกำหนด นอกจากนี้ ผู้ฝากเงินมีความเข้าใจเพิ่มขึ้นด้วยว่าการฝากเงินนั้นต้องพิจารณาเลือกสถาบันการเงินที่มีความมั่นคงแข็งแรง มีความน่าเชื่อถือในระยะยาวด้วย ไม่ใช่เพียงดูแค่เพียงอัตราดอกเบี้ยเหมือนแต่ก่อน
ในขณะที่ ผู้ฝากบางส่วนอาจมีความกังวล เนื่องจากเป็นผู้ฝากที่มีเงินเกิน 1 ล้านบาท อยากให้ขยายสัดส่วนการคุ้มครองให้เพิ่มมากขึ้น และอยากให้มีการส่งเสริมให้ข้อมูลความรู้ประกอบการตัดสินใจแก่ผู้ฝากเงินให้มากขึ้นไปอีก”
อย่างไรก็ตาม ในลำดับต่อไปของปี 2555 ที่วงเงินคุ้มครองจะอยู่ที่ 1 ล้านบาทนั้น คาดว่าจะมีการปรับตัวของผู้ฝากเงินต่อเนื่องระยะหนึ่ง ซึ่งผู้ฝากเงินต้องมีการศึกษาข้อมูลให้รอบด้านก่อนการตัดสินใจ และไม่ควรตื่นตระหนกกับข่าวสารต่างๆ เกินไปโดยขาดข้อมูล
นายสิงหะเน้นย้ำอีกว่า “การมีสถาบันคุ้มครองเงินฝากก็เหมือนที่รัฐบาลมาตั้งสถานีดับเพลิงไว้ที่ปากซอยบ้านเรา” ซึ่งไม่ได้หมายความว่าซอยบ้านเราจะมีโอกาสเกิดไฟไหม้มากขึ้น แต่มีเพื่อป้องกันหากเกิดเหตุเพลิงไหม้ที่อาจไม่คาดคิด ตำรวจดับเพลิงก็สามารถดับไฟได้ทันท่วงที ความเสียหายก็จะน้อยลง ทำนองเดียวกันกับการมีสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ก็หมายถึงเงินฝากของเราในสถาบันการเงินต่างๆ จะได้รับการดูแลอย่างดีจากสถาบันคุ้มครองเงินฝาก เพราะสถาบันคุ้มครองเงินฝากจะจ่ายคืนเงินเพื่อเข้ามาบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนผู้ฝากเงินอย่างรวดเร็วในกรณีที่สถาบันการเงินปิดกิจการ
แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือการป้องกันไม่ให้เกิดเพลิงไหม้ ซึ่งหมายถึงการกำกับดูแลสถาบันการเงินอย่างใกล้ชิด เมื่อสถาบันการเงินใดเริ่มมีสัญญาณว่าจะมีปัญหา ทางการจะเข้าดูแลเพื่อรักษาเยียวยาทันที ประกอบกับการให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับระบบ ซึ่งนับว่าเป็นมาตรการป้องกันเพลิงไหม้ที่มีประสิทธิผล
สำนักผู้บริหารและสื่อสารองค์กร โทร. 02-272-0300 ต่อ 127/ www.dpa.or.th