“อาศรมศิลป์” ปั้น “พิราบน้อยสายเลือดมังกร” สืบตำนาน “ย่านจีนถิ่นเก่า” ฝ่ากระแสความเปลี่ยนแปลง

จันทร์ ๑๙ กันยายน ๒๐๑๑ ๑๖:๓๓
ชุมชนจีนแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ กำเนิดขึ้นโดยชาวจีนโพ้นทะเลที่เข้ามาประกอบสัมมาชีพอย่างสุจริตในช่วงสมัยรัชกาลที่ 1 จนเป็นที่รู้จักในนาม “เยาวราช” ซึ่งเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจค้าส่งเก่าแก่ขนาดใหญ่ของไทย และเป็นศูนย์รวมความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่ผสมผสานอย่างกลมกลืนของชาวไทยและชาวจีน ที่อยู่ร่วมกันโดยเสรี จนเกิดเป็นสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น

ปัจจุบันย่านจีนถิ่นเก่าแห่งนี้กำลังเข้าสู่ยุคแห่งการปรับเปลี่ยนครั้งสำคัญ เมื่อกระแสอันเชี่ยวกรากของการพัฒนาพื้นที่ชุมชนเมืองและความเจริญทางเศรษฐกิจเข้ามาสู่พื้นที่ ชาวไทยเชื้อสายจีนในชุมชน จึงต้องร่วมกันหาแนวทางรับมือกับความเปลี่ยนแปลง เพื่อรักษาและป้องกันไม่ให้อัตลักษณ์ที่สะท้อนถึงรากเหง้า ประเพณี วัฒนธรรม ที่หล่อหลอมเป็นตัวตนของคนในยุคปัจจุบันสูญหายไป

ด้วยเหตุนี้ “ชาวเยาวราช” จึงได้ร่วมกับ “สถาบันอาศรมศิลป์” จัดทำโครงการ “ย่านจีนถิ่นบางกอก” ขึ้น เพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางการพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน ให้แก่นแท้ทางวัฒนธรรมประเพณีและวิถีชีวิตที่งดงามของชาวเยาวราช ดำรงอยู่ได้ท่ามกลางความเจริญทางวัตถุ และสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

นางสาวศรินพร พุ่มมณี อาจารย์ประจำภาควิชาสถาปัตยกรรมเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม สถาบันอาศรมศิลป์ ที่ปรึกษาโครงการฯ เปิดเผยว่า เยาวราชมีอัตลักษณ์ที่แสดงถึงการอยู่ร่วมกันมายาวนานของวัฒนธรรมที่หลากหลาย แต่สภาพเศรษฐกิจสังคมที่เปลี่ยนแปลง พื้นที่ทุกซอกมุมจึงถูกใช้เพื่อประโยชน์การค้าโดยระบบทุนขนาดใหญ่ ทำให้วิถีชีวิตแบบเครือญาติที่เอื้ออาทร ชุมชนที่อบอุ่นปลอดภัย การค้าขายบนความไว้เนื้อเชื่อใจกันอันเป็นเอกลักษณ์ จึงกำลังจะถูกลบเลือน

“คนภายนอกมักพูดถึงเยาวราชในฐานะแหล่งกิน เที่ยวและชอปปิ้ง แต่เอกลักษณ์ที่บ่งบอกถึงความเป็นเยาวราชที่แท้จริงก็คือสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นของผู้คนและชุมชนที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ซึ่งเป็นภาพที่หาได้ยากในสังคมเมืองใหญ่ หากพื้นที่ๆ มีวัฒนธรรมอันงดงามเช่นนี้ต้องสูญหายไป เพียงเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคมตามทุนนิยมของกระแสโลก บรรยากาศการกินอยู่และการค้าขายที่เป็นมิตรเรียบง่ายก็คงจะเหลือไว้เพียงภาพเก่าแห่งความทรงจำที่ไม่สามารถเรียกคืนมาได้ ดังนั้นการพัฒนาพื้นที่จึงต้องคำนึงถึงประวัติศาสตร์ และจิตวิญญาณของคนเยาวราชเป็นหลัก จึงจะเป็นการพัฒนาที่จะช่วยรักษาแก่นแท้ของวัฒนธรรมให้ดำรงอยู่คู่สังคมไทยต่อไปได้” อาจารย์ศรินพรกล่าว

ผู้เป็นความหวังที่จะรับช่วงสืบทอดและอนุรักษ์พื้นที่ทางประวัติศาสตร์ให้ดำรงอยู่ต่อไปคือ เยาวชนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะลูกหลานของชาวไทยเชื้อสายจีนรุ่นที่ 5 แห่งเยาวราช ซึ่งจะเป็นผู้รับช่วงสืบทอดวงตระกูลไปสู่ทายาทรุ่นถัดไป “สถาบันอาศรมศิลป์” จึงได้ร่วมกับ “สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส” จัดอบรม “นักข่าวพลเมือง” เพื่อปลูกฝังและกระตุ้นจิตสำนึกรักท้องถิ่น ให้แก่นักเรียนชั้นมัธยมปลายจากสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในย่านเยาวราช โดยให้เด็กได้ร่วมกันสืบค้นมรดกของท้องถิ่นที่สะท้อนให้เห็นถึงประเพณี วัฒนธรรมและวิถีชีวิตอันเป็นเอกลักษณ์ของเยาวราช แล้วจัดทำเป็นสกู๊ปข่าวเพื่อเผยแพร่ให้สังคมได้รับรู้ ผ่านมุมกล้องและวิธีการเล่าเรื่องที่เด็กได้ร่วมกันคิด วางแผน และลงมือทำด้วยตนเอง

นายอัษฎา อยู่ปราโมทย์ นายอรรณพ ธนพัฒน์ธนากร และ นายพิชชากรณ์ เตชะทัตตานนท์ นักเรียนจากรร.ไตรมิตรวิทยาลัย เจ้าของผลงาน “ภาพเก่าเล่าเรื่อง” ร่วมกันอธิบายว่า รูปแบบการนำเสนอใช้ภาพถ่ายบรรยากาศเยาวราชในอดีตเล่าเรื่องถึงวิถีชีวิตที่เคยเกิดขึ้น ซึ่งไม่อาจพบเห็นในยุคปัจจุบัน เช่น ภาพการไหว้เจ้าที่วัดเล่งเน่ยยี่ ในอดีตเด็ก ผู้ใหญ่และญาติมิตรจะช่วยกันถือเครื่องไหว้เดินเข้าไปประกอบพิธีอย่างเรียบง่ายและมีความสุข แตกต่างจากปัจจุบันที่มีแต่ความแออัด วุ่นวาย และเร่งรีบ

“ภาพถ่ายเก่าสามารถบอกเล่าวิถีชีวิตและวัฒนธรรมสมัยก่อนได้ดี ช่วยให้คนดูรู้สึกคล้อยตามและระลึกถึงบรรยากาศที่เคยพบเห็นมาก่อน ถ้าหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เช่น อาคารบ้านเก่าที่เป็นสถาปัตยกรรมดั้งเดิม ไม่ได้รับการบูรณะและอนุรักษ์ไว้ ข้อมูลที่จะบอกเล่าถึงรากเหง้าของคนยุคปัจจุบันก็จะหายไป เพราะสิ่งเหล่านี้มีคุณค่าทางใจ ไม่สามารถเทียบเป็นมูลค่าหรือตัวเงินได้” นายอรรณพกล่าว

ด้าน นายเมธี ต่ายอ้น นายบดินทร์ ชัยวัฒนาเจริญ และ นายกัณตพล ตั้งจิตไพศาล นักเรียนจากรร.ไตรมิตรวิทยาลัย เจ้าของผลงาน “รถราง” เล่าว่า ภาพและคำบอกเล่าของผู้ใหญ่ที่เคยใช้บริการรถราง สะท้อนถึงวิถีชีวิตของชาวเยาวราชที่เคยดำเนินไปอย่างช้าๆ และเรียบง่าย ผู้คนที่อาศัยหรือค้าขายอยู่ริมถนนและในตรอกซอย รู้จักมักคุ้นกันเหมือนเป็นเครือญาติ เพราะการเดินทางด้วยรถรางทำให้ชาวเยาวราชได้พบปะ ทักทาย พูดคุย และส่งยิ้มให้กัน ซึ่งในสังคมเมืองทุกวันนี้แทบไม่มีให้เห็นอีกแล้ว

“คนที่อายุน้อยกว่า 30 ปี อาจไม่รู้ว่าเคยมีรถรางเป็นพาหนะสัญจรที่วิ่งจากหัวลำโพงผ่านเยาวราชไปถึงบางลำพู เพราะรางเก่าและป้ายบอกสถานีจอดรถรางเหลืออยู่เพียงบางจุดโดยไม่ได้รับการดูแลหรืออนุรักษ์ไว้เป็นสัญลักษณ์ของท้องถิ่น ซึ่งคนที่ได้ชมสารคดีอย่างน้อยก็จะได้รู้ว่าเคยมีรถรางวิ่งอยู่บนถนนเยาวราช และอาจฉุกคิดว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้หายไปไหน อะไรคือสิ่งที่เข้ามาแทนที่ ซึ่งเราอยากให้ทุกคนได้ตระหนักว่า หากมีบางสิ่งบางอย่างในชีวิตหายไป เขาจะรู้สึกอย่างไร เช่นเดียวกับชุมชนเก่าแก่ของคนเยาวราช หากวันหนึ่งต้องย้ายไปอยู่ที่อื่น เยาวราชที่เคยโดดเด่นในเรื่องวัฒนธรรมและวิถีชีวิต จะยังคงเป็นเยาวราชที่ทุกคนรู้จักและคุ้นเคยอยู่หรือไม่” นายกัณตพลอธิบาย

ผลงานของเหล่าพิราบน้อยสายเลือดมังกร จะถูกนำไปจัดฉายในงาน “เยาวราช คื้อตีก่อ” เวทีวิชาการเพื่อสร้างความตื่นรู้ในการร่วมพัฒนาเมือง ในวันเสาร์ที่ 24 กันยายน 2554 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ซึ่งผลงานของเหล่าพิราบน้อยจะเป็นส่วนหนึ่งที่บอกเล่าเรื่องราวเยาวราชที่ต้องการให้สังคมได้เห็นถึงคุณค่า ความสำคัญ เกิดเป็นความรู้สึกหวงแหน และร่วมมือกันดำรงรักษาไว้

“ผลงานของเยาวชนสายเลือดมังกรจะเป็นสื่อกลางช่วยกระตุ้นและจุดประกายให้ผู้คน โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เยาวราช ได้ตระหนักและร่วมกันพูดคุยหาทางรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับชุมชน เพราะเมื่อสังคมเปลี่ยน วัฒนธรรมการดำรงอยู่ก็จำเป็นต้องปรับตัวตามเพื่อให้สามารถอยู่รอดได้ แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่ผู้คนในชุมชนจะต้องสำนึกในคุณค่าและช่วยกันสืบทอดแก่นแท้ของวัฒนธรรมที่งดงามไปสู่อนาคตให้ได้ ไม่เช่นนั้น เราก็อาจสูญตัวตนและรากเหง้าของตัวเองไปในที่สุด” อาจารย์ศรินพรกล่าวสรุป

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version