สืบเนื่องอดีตที่ผ่านมา พื้นที่นอกเขตชลประทานมักจะประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอย่าง ต่อเนื่อง หลายพื้นที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง และน้ำท่วมในฤดูฝน โดยเฉพาะพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำมากที่สุด ดังนั้นการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ทั้งน้ำผิวดินและน้ำบาดาลจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งการพัฒนาน้ำบาดาลอย่างเป็นระบบ ยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับเกษตรผู้ใช้น้ำ ในพื้นที่ หากดำเนินการทันทีประชาชนอาจยังไม่พร้อมในการบริหารจัดการน้ำเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด กรมทรัพยากรน้ำบาดาลจึงร่วมกับสมาคมอุทกธรณีวิทยาไทย และจังหวัดเลย จัดประชุมเพื่อเปิดเวทีระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเกษตรกรและผู้ใช้น้ำในพื้นที่จังหวัดเลย พร้อมทั้งรับฟังสภาพปัญหา แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และแนวทางแก้ไข เพื่อนำไปสู่การจัดโครงการต้นแบบโดยให้เกษตรกรและผู้ใช้น้ำในพื้นที่ได้มีบทบาทและมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำบาดาลร่วมกับน้ำผิวดิน
สำหรับแนวคิดการพัฒนาและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำบาดาลร่วมกับน้ำผิวดินเพื่อการเกษตร ได้มีการนำหลักเกษตรทฤษฎีใหม่มาประยุกต์ใช้ คือ ใช้น้ำฝน และน้ำจากสระน้ำที่ขุดขึ้น ในช่วงฤดูฝน และพัฒนาบ่อน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ตามศักยภาพน้ำบาดาลร่วมด้วยในช่วงฤดูแล้ง โดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง มีการวางแผนการเพาะปลูกและผลิตผลในพื้นที่ รวมถึงการใช้น้ำบาดาลเชิงอนุรักษ์ คือ จะต้องไม่เกินขีดความสามารถของแหล่งน้ำบาดาล และระมัดระวังการใช้สารเคมีไม่ให้ปนเปื้อนกับแหล่งน้ำ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการนำร่องบูรณาการใช้น้ำบาดาลร่วมกับน้ำผิวดินในพื้นที่ตำบลทุ่งจังหัน อำเภอโนนสุวรรณ จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งปัจจุบันได้รับความร่วมมืออย่างดีจากเกษตรกรในพื้นที่และกลายเป็นพื้นที่นำร่องการบริหารจัดการ น้ำบาดาลร่วมกับน้ำผิวดินแห่งเดียวในภาคอีสานที่มีหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าไปศึกษาดูงาน และคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้อย่างเต็มรูปแบบภายในปี 2554