นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า “โครงการออกแบบเครื่องแต่งกายมุสลิม เกิดขึ้นจากการที่ได้มอบนโยบายขับเคลื่อนธุรกิจด้านการออกแบบดีไซน์ ที่เกี่ยวข้องกับงานสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าโดยเน้นการออกแบบดีไซน์ และมุ่งเจาะตลาดที่มีความต้องการซื้อสูงอย่างเช่น กลุ่มสตรีในประเทศที่นับถือศาสนาอิสลาม และส่งเสริมศักยภาพ ซึ่งเป็นฝีมือและภูมิปัญญาของคนไทย ให้มีมูลค่าเพิ่มแก่ผลิตภัณฑ์แฟชั่น เพื่อสร้างจุดยืน เอกลักษณ์และบุคลิกที่ชัดเจนของผู้ประกอบการธุรกิจแฟชั่นเครื่องแต่งกายมุสลิม ในเวทีโลก นอกจากนี้ยังเป็นการสอดคล้องกับนโยบายที่นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญเกี่ยวกับเพิ่มการค้าและการลงทุนของผู้ประกอบการไทย ในกลุ่มประเทศมุสลิม และกับกลุ่มประเทศสมาชิกองค์การการประชุมอิสลาม หรือ OIC ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการส่งออกสินค้าแฟชั่นของไทยในกลุ่มประเทศมุสลิม ดังนั้น การประกวดโครงการออกแบบเครื่องแต่งกายมุสลิมมุสลิม รอบตัดสินในวันนี้ จึงเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าด้านแฟชั่น โดยส่งเสริมการใช้ผ้าไทย อาทิ ผ้าไหม ผ้าฝ้าย มาผสมผสานกับผ้าอื่นๆ ที่ผลิต
ในประเทศไทย มาออกแบบเป็นเสื้อผ้ามุสลิม อย่างมีดีไซน์ที่เป็นเอกลักษณ์และโดดเด่น”
นายวีรพล ศรีเลิศ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า กิจกรรมการประกวดออกแบบเครื่องแต่งกายมุสลิม ในโครงการพัฒนาเครื่องแต่งกายมุสลิม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มของตลาดเครื่องแต่งกายมุสลิมให้มีศักยภาพสูงขึ้น เป็นการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการเครื่องนุ่งห่มแฟชั่นเครื่องแต่งกายมุสลิมในประเทศมีการผลิตสินค้าที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ต้องการพัฒนากลุ่มนักออกแบบ ให้มีทักษะและมุมมองที่เปิดกว้างยิ่งขึ้น ในการออกแบบเพื่อการจำหน่ายในประเทศและการส่งออก เป็นการยกระดับสินค้าแฟชั่นมุสลิม ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล เปิดโอกาสให้กับนักออกแบบและผู้สนใจ ได้แสดงความสามารถในการออกแบบเครื่องแต่งกายมุสลิมที่เปิดกว้างทางความคิด แต่อยู่ภายใต้วัฒนธรรมประเพณีที่ถูกต้อง มีความทันสมัย เรียนรู้การผลิตสินค้าให้สอดคล้องกับตลาดและประเภทผลิตภัณฑ์ จากการสำรวจข้อมูลถึงความเป็นไปได้ของตลาดเครื่องแต่งกายมุสลิมในอนาคต จึงได้แบ่งประเภทการประกวดออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้
ประเภทที่ 1 ชุดแต่งงาน สำหรับสตรีมุสลิมประเทศบาห์เรน ซึ่งชุดแต่งงานยังคงมีความน่าสนใจในกลุ่มตลาดตะวันออกกลาง และเป็นการเชื่อมโยงกับโครงการความร่วมมือไทย-บาห์เรนของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ในการพัฒนาเครื่องแต่งกายมุสลิม และเพิ่มโอกาสขยายตลาดไปสู่ประเทศซาอุดีอาระเบียในอนาคต
ประเภทที่ 2 ชุดงานเลี้ยง เป็นประเภทเครื่องแต่งกายที่สตรีมุสลิมจะมีโอกาสใช้สอยค่อนข้างมาก และสามารถพัฒนารูปแบบได้หลากหลายตามโอกาสใช้สอยและพิธีกรรมต่างๆ มุ่งเน้นไปตลาดในกลุ่มอาเซียน เช่น อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่และเปิดกว้าง
ประเภทที่ 3 ชุดว่ายน้ำ เป็นเครื่องแต่งกายที่มีข้อจำกัดสำหรับสตรีมุสลิมและไม่แพร่หลายในตลาด มีแนวโน้มน่าสนใจสำหรับตลาดในประเทศ รูปลักษณ์ภายนอกมีความคล้ายเสื้อผ้าลำลองถูกต้องกับวัฒนธรรม แต่เน้นประโยชน์การใช้สอยด้วยวัตถุดิบที่มีคุณสมบัติเฉพาะสำหรับการว่ายน้ำ
โดยผลงานการออกแบบฝีมือจากนิสิต นักศึกษา และผู้ประกอบการที่มีใจรักการออกแบบดีไซน์เครื่องแต่งกาย สำหรับเกณฑ์การตัดสินการประกวดคือ จะต้องเป็นชุดที่สวมใส่และตัดเย็บได้จริง มีความทันสมัย ความถูกต้องสอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรมประเพณีของมุสลิม สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย ความถูกต้องของกระบวนการสร้างสรรค์คอลเลคชั่น เหมาะสมกับโอกาสใช้สอย มีองค์ประกอบครบถ้วน เช่น Design Sketch , Color way , Material , Flat Pattern Sketch จากนั้นจะทำการคัดเลือก ประเภทละ 5 ชุด สำหรับผู้ชนะเลิศจะได้รับเงินรางวัล 20,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศ จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
การจัดประกวดครั้งนี้ จะเป็นการกระตุ้นและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกายมุสลิมอย่างมีแบบแผน เป็นระบบและเผยแพร่ออกสู่สังคมกว้างขวางมากยิ่งขึ้น ทำให้กลุ่มเป้าหมายการตลาดของกลุ่มผลิตภัณฑ์นี้ อาทิ นักออกแบบ สถาบันออกแบบเครื่องแต่งกาย ผู้ประกอบการเกี่ยวกับธุรกิจเครื่องแต่งกายเพื่อการส่งออก ผู้แทนประเทศผู้นำเข้าเครื่องแต่งกายมุสลิม หรือกลุ่มอาชีพราษฎรในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้รับรู้ เกิดความตื่นตัวและสนใจพัฒนาแบบเครื่องแต่งกายมุสลิมมากยิ่งขึ้น นอกจากนั้นยังเป็นการกระตุ้นกลุ่มผู้ประกอบการให้มีการพัฒนาการออกแบบให้ทัดเทียมกับนานาชาติและเป็นโอกาสที่อุตสาหกรรมอุตสาหกรรมเครื่องแต่งกายมุสลิมของประเทศไทยจะก้าวสู่เชิงพาณิชย์อย่างกว้างขวางและยั่งยืน อันจะเป็นการเสริมสร้างความเข็มแข็งและการกระตุ้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชาติได้อีกทางหนึ่ง พร้อมทั้งมีการต่อยอดการพัฒนาไปยังผู้ประกอบการเพื่อการส่งออกต่อไป