นายอัสนี มาลัมพุช นายกสมาคมโรงกลั่นน้ำมันปาล์ม เปิดเผยว่า สมาคมฯต้องการให้รัฐบาลและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมกัน กำหนดมาตรฐานราคาน้ำมันปาล์มในประเทศเหมือนกับอุตสาหกรรมน้ำมัน โดยพิจารณาความเหมาะสมของต้นทุนทั้งระบบ ตั้งแต่เกษตรกร โรงสกัด โรงกลั่น สอดคล้องกับราคาในตลาดโลก เพื่อให้อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันอยู่ได้ทั้งระบบ ขณะเดียวกันจะช่วยแก้ไขปัญหาปาล์มน้ำมันขาดแคลนได้อย่างเป็นธรรมกับทุกฝ่ายและยั่งยืน ลดความได้เปรียบเสียเปรียบของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
“การมีมาตรฐานราคาน้ำมันปาล์ม เพื่อหาแนวทางป้องกันการขาดแคลนน้ำมันปาล์ม เพื่อให้ประชาชนมั่นใจว่าจะได้ราคาที่เป็นธรรม อีกทั้งยังช่วยให้ผู้ประกอบการวางแผนธุรกิจได้อย่างเป็นระบบ โดยโครงสร้างต้นทุนมีส่วนประกอบ อาทิ ภาษีมูลค่าเพิ่ม กำไรผู้ค้าปลีก-ผู้ค้าส่ง ค่าขนส่ง ค่าบรรจุภัณฑ์ ค่ากลั่นน้ำมันปาล์ม ฯลฯ ซึ่งจำเป็นต้องอธิบายให้ผู้บริโภครับทราบถึงต้นทุนต่างๆ เหมือนกับการกำหนดสูตรราคาน้ำมันไบโอดีเซล หรือ น้ำมันเบนซินที่มีกับปรับขึ้นลงตามสูตรราคา”นายอัสนี กล่าวและว่า นอกจากนี้ต้องการให้ทุกฝ่ายหันหน้าเข้ามาหารือกัน โดยกำหนดประชุมเป็นประจำ เพื่อเฝ้าติดตามและป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น
ทั้งนี้สต็อกน้ำมันปาล์มในระบบขณะนี้มีอยู่ราว 2.5 แสนตัน มีปริมาณการใช้เฉลี่ย 1.2 แสนตันต่อเดือน ซึ่งไตรมาสสุดท้าย(ตุลาคม-ธันวาคม 2554 )นี้ เป็นช่วงเดียวกับปีที่แล้ว ที่เกิดการคำนวนปริมาณผลผลิตและความต้องการใช้คลาดเคลื่อน จนส่งผลให้น้ำมันปาล์มเกิดการขาดแคลนอย่างหนัก ปัจจุบันคาดว่าสต็อกในช่วงเดือนนี้ จะมีสต็อกเพียงพอกับความต้องการจนถึงไตรมาสแรกของปี 2555 แต่หากไม่มีการบริหารจัดการที่ดี มีการดึงน้ำมันปาล์มไปใช้ในอุตสาหกรรมน้ำมันมาก ไม่มีการกำหนดสัดส่วนที่เหมาะสม อาจจะเกิดภาวะความผันผวนของตลาดพืชน้ำมัน ส่งผลให้ราคาเพิ่มสูงขึ้นได้อีก
นายอัสนี กล่าวว่า ปัจจุบันราคาน้ำมันปาล์มดิบจากหน้าโรงกลั่นอยู่ที่กิโลกรัมละ 30-31 บาท น้ำมันปาล์มจำหน่ายปลีกที่รัฐกำหนดจาก 47 บาท มาเหลืออยู่ที่ลิตรละ(กก.) 42 บาท และมีข่าวว่าภาครัฐกำหนดให้ลดลงเหลือ 38 บาทอีก ปัจจุบันแม้ปริมาณสำรองน้ำมันปาล์มดิบในประเทศสูงเพียงพอต่อการบริโภค แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ราคาน้ำมันปาล์มในตลาดโลกมีแนวโน้มสูงขึ้นมาโดยตลอด การที่รัฐควบคุมราคาขายปลีกที่ไม่เป็นไปตามกลไกตลาดและควบคุมเฉพาะปลายน้ำ ไม่ใช่ทั้งระบบ อาจทำให้เกิดปัญหาขึ้นอีกได้ น้ำมันปาล์มดิบสามารถส่งอกกได้ โดยไม่มีการควบคุม แต่กลับมีการควบคุมการนำเข้า เมื่อราคาในประเทศถูกกดให้ต่ำกว่าราคาตลาดโลก ก็ทำให้เกิดปัญหาคล้ายกับน้ำตาล เพราะไม่มีแรงจูงใจให้ขายในประเทศ
ปัญหาที่ผ่านมารัฐบาลต้องการให้ต้นทาง คือ เกษตรกรได้ราคาสูง และการจำหน่ายปลีกปลายทางน้ำมันพืชมีราคาต่ำ ถือเป็นการบิดเบือนกลไกตลาด ในขณะที่อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มมีต้นทุนหลัก คือ น้ำมันปาล์มดิบ ที่ปรับขึ้นลงตามผลผลิต ความต้องการในตลาดโลก(อ้างอิงตลาดมาเลเซีย) สต็อกในตลาด เป็นต้น ซึ่งไม่สามารถควบคุมได้