ก.ไอซีที ร่วมจัดทำ ASEAN e-Services Roadmap รองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

ศุกร์ ๓๐ กันยายน ๒๐๑๑ ๐๙:๔๖
นางเมธินี เทพมณี ผู้ตรวจราชการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยเกี่ยวกับแนวทางความร่วมมือด้านไอซีทีเพื่อรองรับการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ว่า ประเทศสมาชิกอาเซียนได้มีการวางกรอบความร่วมมืออาเซียนด้านไอซีที โดยการจัดทำแผนแม่บทไอซีทีของอาเซียน (ASEAN ICT MASTERPLAN 2015) หรือ AIM 2015 ที่ได้รับการรับรองจากที่ประชุม ASEAN TELMIN ครั้งที่ 10 เพื่อใช้เป็นตัวกำหนดแผนการดำเนินงานและแนวทางความร่วมมือด้านไอซีทีของอาเซียนในระยะ 5 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 — 2558

แผนแม่บทฯ ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์และแนวทางความร่วมมือที่จะขับเคลื่อนเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ให้มีความแข็งแกร่งและสนับสนุนการจัดตั้งประชาคมอาเซียน โดยได้กำหนดเป้าหมายสำคัญ 4 ประการ คือ 1) ไอซีทีเป็นเครื่องมือในการผลักดันให้อาเซียนมีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ 2) อาเซียนได้รับการยอมรับในฐานะเป็นศูนย์กลางด้านไอซีทีแห่งหนึ่งของโลก 3) ประชากรอาเซียนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และ 4) ไอซีทีมีส่วนช่วยส่งเสริมการรวมตัวเป็นหนึ่งเดียวของอาเซียน รวมทั้งได้มีการวางยุทธศาสตร์ในการดำเนินการไว้ 6 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ (Economic transformation) ยุทธศาสตร์ที่ 2 การมีส่วนร่วมของประชาชน และการสร้างศักยภาพให้แก่ประชาชน (People empowerment and engagement) ยุทธศาสตร์ที่ 3 การสร้างนวัตกรรม (Innovation) ยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure development) ยุทธศาสตร์ที่ 5 การพัฒนาทุนมนุษย์ (Human capital development) และยุทธศาสตร์ที่ 6 การลดช่องว่างทางด้านดิจิทัล (Bridging the digital divide)

“กระทรวงไอซีที ในฐานะหน่วยงานหลักด้านไอซีทีของประเทศไทย ได้เล็งเห็นความสำคัญของแผนแม่บทไอซีทีของอาเซียน จึงเข้าไปร่วมผลักดันการดำเนินงานในส่วนของยุทธศาสตร์ที่ 2 ด้วยการริเริ่มเสนอแนวความคิดจัดทำแผนทิศทางการพัฒนาบริการอิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียน (ASEAN e-Services Roadmap) ซึ่งที่ประชุม ASEAN TELMIN ครั้งที่ 10 ได้เห็นชอบให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการดำเนินการจัดทำแผน โดยจะมุ่งเน้นไปที่การผลักดันให้เกิดการพัฒนาบริการอิเล็กทรอนิกส์ (e-Services) ในประเทศสมาชิกอาเซียนทุกประเทศ ให้สามารถเชื่อมโยงระหว่างกันเพื่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันขององค์การ และภาคธุรกิจต่างๆ ซึ่งสอดรับกับการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจของอาเซียนในปี 2558” นางเมธินี กล่าว

สำหรับแนวทางการดำเนินการนั้น จะเริ่มตั้งแต่การศึกษาและสำรวจสถานะการพัฒนาบริการอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ รวมทั้งแผนการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศสมาชิกอาเซียนแต่ละประเทศ สำรวจความต้องการบริการอิเล็กทรอนิกส์ในมุมมองของประชาชน และภาคธุรกิจ ตลอดจนศึกษาถึงประโยชน์ ความคุ้มค่า และปัจจัยเกื้อหนุนต่อการพัฒนาบริการอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาบริการอิเล็กทรอนิกส์ที่จะพัฒนาเป็นบริการร่วม (Shared services) ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน

“กระทรวงฯ ได้ทำการศึกษากรอบแนวทาง (Framework) และกรณีศึกษาการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศอื่นๆ อาทิ APEC EU ฯลฯ และนำข้อมูลมาใช้ประกอบการจัดทำ ASEAN e-Services Roadmap เพื่อเป็นแนวทางสำหรับประเทศสมาชิกอาเซียนใช้ในการพัฒนาบริการอิเล็กทรอนิกส์ และบริการอิเล็กทรอนิกส์ร่วมระหว่างประเทศ โดยจะมีการเสนอแนะมาตรการในการส่งเสริม และจูงใจให้มีการพัฒนาระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์ การพัฒนาเนื้อหา (Content) ตลอดจนการส่งเสริมให้ประชาชนและภาคธุรกิจในอาเซียนใช้บริการอิเล็กทรอนิกส์ร่วมด้วย ซึ่งการจัดทำ ASEAN e-Services Roadmap นี้ จะมีส่วนช่วยสนับสนุนการพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ อันจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศสมาชิกอาเซียนเป็นอย่างยิ่ง” นางเมธินี กล่าว

สำหรับบริการอิเล็กทรอนิกส์ที่จะสามารถพัฒนาเป็นบริการร่วมระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนได้นั้น แบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก คือ 1) บริการการเคลื่อนย้ายบุคคล (Movement of people) ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน โดยการจัดทำ Roadmap นี้จะช่วยสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาระบบการอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายบุคคล ทั้งในด้านของการเคลื่อนย้ายแรงงาน ซึ่งปัจจุบันประเทศสมาชิกอาเซียนได้มีการจัดทำความตกลงยอมรับร่วมกัน (Mutual Recognition Agreement: MRA) เพื่ออำนวยความสะดวกในการยอมรับคุณสมบัติของนักวิชาชีพ โดยมีการกำหนดมาตรฐานวิชาชีพที่สำคัญร่วมกัน เพื่อการถ่ายเทแรงงานที่มีฝีมือได้โดยเสรี มากขึ้น ทั้งนี้การพัฒนาบริการอิเล็กทรอนิกส์จะช่วยอำนวยความสะดวก โดยลดขั้นตอนและกระบวนการทางเอกสารในการเคลื่อนย้ายแรงงานในอาเซียน

นอกจากนี้ในด้านการเดินทางระหว่างประเทศ การพัฒนาบริการอิเล็กทรอนิกส์จะช่วยอำนวยความสะดวกในการตรวจคนเข้าเมือง และลดปัญหาการหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในภูมิภาคอาเซียน เพื่อรองรับการเปิดเสรีการบริการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในภูมิภาค โดยจะช่วยอำนวยความสะดวกสำหรับการเดินทางมาท่องเที่ยวในภูมิภาคอาเซียนของนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคอื่นๆ ทั้งในกระบวนการออกวีซ่าที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน การจัดทำ ASEAN Single Visa รวมทั้งการส่งเสริมการตลาดร่วมกันเพื่อประชาสัมพันธ์อาเซียนในฐานะแหล่งท่องเที่ยวร่วมกัน (ASEAN Single Destination)

2) การเคลื่อนย้ายสินค้า (Movement of goods) ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน การจัดทำ ASEAN e-Services Roadmap จะมีส่วนสนับสนุนให้การพัฒนาระบบการอำนวยความสะดวกในการนำเข้า — ส่งออก ด้วยระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว หรือระบบ ASEAN Single Window ที่ในปัจจุบันได้มีการดำเนินการพัฒนาในประเทศสมาชิกอาเซียนหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทย ให้สามารถขยายการพัฒนาไปยังประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ ได้ครบทุกประเทศในอนาคต ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนในการบริหารจัดการ และการใช้ทรัพยากรต่างๆ อันเป็นการเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันทางการค้าของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน รวมทั้งประเทศไทย เพื่อรองรับการเปิดเสรีการค้าของอาเซียน ในปี 2558

?

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 021416747 MICT

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐ ธ.ค. ASMT ผนึก TFT ร่วมลงนามด้านวิชาการด้านอุตสาหกรรมการบิน
๒๐ ธ.ค. กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตอะโวคาโดคุณภาพ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรกว่า 2 แสนบาท/ไร่
๒๐ ธ.ค. Dow มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ Personal Care ควบคู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดเครื่องสำอางในภูมิภาคเอเชีย
๒๐ ธ.ค. โอซีซี มอบความรู้ พัฒนาอาชีพให้ผู้ต้องขังหญิง
๒๐ ธ.ค. ดร.นุชนารถ ชลคงคา นำทีมสถาบัน ESTC จัดอบรมให้ Karmakamet
๒๐ ธ.ค. กนภ. เห็นชอบร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลไกสำคัญสู่เส้นทางเศรษกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันฯ
๒๐ ธ.ค. WePlay x คอลแลบตัวละครสุดปัง! พบกับมินิเกมใหม่ และการ์ตูนสุดน่ารักที่คุณจะต้องหลงรัก
๒๐ ธ.ค. เดลต้า ประเทศไทย และ WEnergy Global ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อขับเคลื่อนอนาคตพลังงานสีเขียว
๒๐ ธ.ค. ความภาคภูมิใจของ ไลอ้อน กับ 3 รางวัลแห่งเกียรติยศ เผยผลงานโดดเด่นกับหลายรางวัลที่ได้รับในปี 2567
๒๐ ธ.ค. NOBLE คว้าเรทติ้งสูงสุด ระดับ AAA SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนภายในแนวคิด Live Different ตามกรอบ