ภายหลังพิธีลงนาม นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ เปิดเผยว่า ธนาคารได้ร่วมมือกับกรมบังคับคดี พัฒนาการให้บริการโอนเงินเพื่อชำระเงินส่วนได้จากการบังคับคดี เงินค่าใช้จ่ายเหลือคืน หรือเงินอื่นใด ให้กับโจทก์ เจ้าหนี้ หรือผู้มีส่วนได้เสีย ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ตามนโยบายของกรมบังคับคดีที่ต้องการเปลี่ยนวิธีการจ่ายเงินจากเดิมที่จ่ายเป็นเช็ค เป็นวิธีการโอนเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยเริ่มให้บริการกับธนาคาร กรุงไทย เป็นองค์กรแห่งแรกของประเทศ
“สำหรับวิธีการชำระเงินคืนผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์นั้น ภายหลังคำพิพากษาของศาลสิ้นสุด และกรมบังคับคดีได้บังคับคดีกับทรัพย์ของจำเลยแล้ว ธนาคารกรุงไทยในฐานะที่ธนาคารเป็นโจทก์ เจ้าหนี้ ผู้มีส่วนได้เสีย และผู้รับเงิน จะดำเนินการหักเงินจากบัญชีเงินฝากของกรมบังคับคดีที่เปิดไว้กับธนาคาร เพื่อชำระเงินส่วนได้จากการบังคับคดี เงินค่าใช้จ่ายเหลือคืน หรือเงินอื่นใด ตามจำนวนเงินในบัญชีแสดงรายการรับ-จ่ายที่ธนาคารตรวจสอบความถูกต้องแล้ว โดยสามารถโอนเงินได้ครั้งละหลายๆ รายการ”
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กล่าวต่อไปว่า จากการที่ธนาคารได้พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และระบบ Cash Management ทำให้สามารถเพิ่มช่องทางในการให้บริการที่สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ตามวิสัยทัศน์การเป็นธนาคารแสนสะดวกหรือ The Convenience Bank ซึ่งในอนาคตกรมบังคับคดีจะสามารถโอนเงินเข้าบัญชี เพื่อจ่ายเงินคืนให้กับทุกธนาคารซึ่งมีฐานะเป็นโจทก์ เจ้าหนี้ ผู้มีส่วนได้เสีย และผู้รับเงิน ผ่านระบบ KTB Corporate Online ได้ถึง 3 ประเภท ได้แก่ บริการโอนเงินเข้าบัญชีผู้รับเงิน ที่เป็นบัญชีธนาคารกรุงไทย โดยไม่จำกัดจำนวนเงินในการโอน บริการโอนเงินเข้าบัญชีผู้รับเงินธนาคารอื่นๆ กรณียอดเงินต่อรายการไม่เกิน 2 ล้านบาท และบริการโอนเงินเข้าบัญชีผู้รับเงินที่มีอยู่กับธนาคารอื่นๆ ผ่านธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่จำกัดจำนวนครั้งและจำนวนเงินในการโอน ทั้งนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกในการจ่ายเงินคืนและรองรับปริมาณธุรกรรมทางการเงินของกรมบังคับคดี
ฝ่ายสื่อสารองค์กรและภาพลักษณ์
โทร.0-2208-4174-7