ก่อนหน้านี้ ทางมติชนอคาเดมี ได้จัดทัวร์ศิลปวัฒนธรรมในเส้นทาง “ตามรอยพระพุทธเจ้าหลวง”ได้รับการตอบรับเกินคาด มียอดจองเต็มภายในระยะเวลาเพียงสองสัปดาห์เท่านั้น และมีเสียงเรียกร้องให้จัดทัวร์ศิลปวัฒนธรรมให้มากขึ้นทางมติชนอคาเดมีจึงได้จัดโปรแกรมทัวร์ศิลปวัฒนธรรมเส้นทางพิเศษสุดตามคำขอ เป็นโปรแกรมนำชมริ้วกระบวนพยุหยาตราชลมารค ในงานพระราชพิธีถวายพระกฐินหลวง ประจำปี 2554ในวันเสาร์ที่ 22 ตุลาคม 2554 ในวโรกาสมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา 5 ธันวาคม 2554
พระราชประเพณีโบราณที่มีหลักฐานปรากฏชัดเจนตั้งแต่สมัยอยุธยา เรือในกระบวนมีการแกะสลักโขนเรือเป็นรูปสัตว์ในเทพนิยาย ประเภทของการเห่เรือสามารถจำแนกเป็น 2 ประเภท คือ การเห่เรือหลวง และการเห่เรือเล่น ปัจจุบันคงปรากฏอยู่เฉพาะการแห่เรือหลวง ที่ใช้ในกระบวนพยุหยาตราชลมารคนั่นเอง
ใน รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงสร้างเรือขึ้นใหม่ถึง 67 ลำ มีทั้งเรือพระที่นั่ง เรือกระบวนปิดทอง เรือพิฆาต และเรือแซง และมีการสร้างเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งถึงรัชกาลที่ 9 ก็ได้มีการสร้างเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณขึ้น ในโอกาสกาญจนาภิเษก และมีการจัดกระบวนพยุหยาตราชบมารคมาแล้วจำนวน 16 ครั้ง
โดยกระบวนเรือพยุหยาตราชลมารคในปีนี้ จะเป็นครั้งที่ 17 ซึ่งจะใช้เรือพระราชพิธีจำนวน 52 ลำ และกำลังพลจากหน่วยงานต่างๆ ของกองทัพเรือเป็นฝีพาย จำนวน 2,098 นายแบ่งรูปกระบวนเรืองออกเป็น 5 ริ้ว ประกอบด้วยเรือพระที่นั่ง 4 ลำซึ่งจะอยู่ในริ้วกระบวนที่ 3 ได้แก่ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช และเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ เรือรูปสัตว์จำนวน 8 ลำ ได้แก่ เรือกระบี่ปราบเมืองมาร เรือกระบี่ราญรอนราพณ์ เรือพาลีรั้งทวีป เรือสุครีพครองเมือง เรือครุฑเหินเห็จ เรือครุฑเตร็ดไตรจักร เรืออสุรวายุภักษ์ เรือสุรปักษี
สบทบด้วยกระบวนเรือดั้ง 22 ลำและเรืออื่นๆ อีก 18 ลำ ประกอบท่วงทำนองการขับลำนำที่เรียกว่า เห่ หรือเห่เรือ ซึ่งสันนิษฐานว่าพัฒนาการมาจากพิธีกรรมเกี่ยวกับน้ำ และเรือเพื่อความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งจะเป็นกาพย์เห่เรือเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสพระราชพีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 ที่กองทัพเรือจะใช้ในขบวนเรือพระราชพิธี มีทั้งหมด 3 บทประพันธ์ โดย นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย ประกอบด้วย บทสรรเสริญพระบารมี บทชมเรือขบวน และบทชมเมือง ผู้ที่จะทำหน้าที่เห่เรือก็ คือ เรือเอก ณัฐวัฏ อร่ามเกลื้อ ประจำแผนกเรือพระราชพิธี กองเรือเล็ก กรมการขนส่งทางเรือ
สำหรับผู้ที่ร่วมเอ็กคลูซีฟทริปชมริ้วกระบวนพยุหยาตราชลมารคกับทางมติชนอคาเดมีในครั้งนี้ จะได้รับฟังการบรรยายพิเศษ จาก ดร.วัฒนะ บุญจับ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ วรรณคดี และเป็นหนึ่งในคณะกรรมการการจัดงานในปีนี้ อีกท่านหนึ่งก็คือ ผศ.ดร.ศานติ ภักดีคำ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม
ซึ่งทั้งสองท่านจะมาร่วมเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับเรือพระราชพิธี เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่เกี่ยวข้องกับระเบียบพิธีปฏิบัติ พร้อมชำแหละหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับเรือพระราชพิธีในโบราณสถานต่างๆ อาทิ ภาพสลักเรือที่ปราสาทบายน เอกสารฝรั่งที่เข้ามาในสมัยอยุธยา เป็นต้น
มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของพระราชประเพณีโบราณความภาคภูมิใจของชาวไทยเพียงหนึ่งเดียวในโลก พร้อมรับหนังสือเรือพระราชพิธี และเห่เรือ มาจากไหน? เมื่อไหร่? ฉบับอ่านง่ายฟรีทุกที่นั่ง
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ 02-954-3977-85 ต่อ 2115, 2116, 2123 และ 2123