คำเตือนจากญี่ปุ่นถึงไทยเตรียมพร้อมรับสังคมสูงอายุ…ไม่ง่าย!

พุธ ๐๕ ตุลาคม ๒๐๑๑ ๑๑:๒๙

ผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นแนะไทยเรียนรู้จากญี่ปุ่น เร่งสร้างมาตรการรองรับ ก่อนสังคมไทยจะมีคนสูงอายุจำนวนมาก การจัดการสังคมสูงอายุเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเตรียมพร้อมระยะยาว และสร้างรูปแบบเฉพาะสำหรับสังคมไทย

เมื่อเร็ว ๆ นี้สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) ร่วมกับสถาบันวิจัยประชากรมหาวิทยาลัยนิฮอน(NUPRI) ได้จัดสัมมนาเรื่องบัญชีเงินโอนประชาชาติ (NTA) สำหรับประเทศไทย โดยมี ศาสตราจารย์ นาโอะฮิโร โอกาวา จาก NUPRI ผู้คร่ำหวอดในการศึกษาการจัดการสังคมสูงอายุในประเทศญี่ปุ่นมากว่า 50 ปี กล่าวปาฐกถาเรื่องผลการศึกษา NTA ในประแถบเอเชีย และถ่ายทอดประสบการณ์จากญี่ปุ่นถึงประเทศไทย โดยระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยกำลังจะเผชิญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอายุประชากรอย่างฉับพลัน ที่ทุกปีจะมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่อัตราการเกิดและวัยแรงงานมีน้อยลง ซึ่งการเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุเกี่ยวข้องกับโครงสร้างทางสังคมและภาระในการดูแล เนื่องจากในปัจจุบันคนมีอายุยืนยาวมากขึ้น จึงจำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อมรองรับ ซึ่งประเทศสามารถเรียนรู้บทเรียนและเตรียมความพร้อมได้จากประสบการณ์ของญี่ปุ่นที่ผ่านช่วงการปันผลทางประชากรช่วงที่สอง หรือสังคมสูงอายุมาแล้ว

บัญชีเงินโอนประชาชาติ (National Transfer Accounts: NTA) เป็นการศึกษาเศรษฐศาสตร์ชั่วคน ที่ทำให้เห็นวงจรชีวิตทางเศรษฐกิจและระบบการโอนทรัพยากรระหว่างประชากรวัยต่าง ๆ โดยเป็นบัญชีรายได้ประชาชาติอีกแบบหนึ่งที่มีการวัดรายละเอียดด้านประชากรโดยเฉพาะรายได้จากการทำงาน รายจ่ายเพื่อการบริโภค และการโอนทรัพยากรระหว่างวัยต่างๆตั้งแต่เด็กจนกระทั่งสูงอายุอย่างเป็นระบบ ปัจจุบันมีการพัฒนาระบบบัญชีเงินโอนประชาชาติใน 30 กว่าประเทศทั่วโลก โดยในทวีปเอเชียมี NUPRI เป็นศูนย์กลางการให้ความช่วยเหลือทางวิชาการ การใช้กรอบคิดเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์ข้ามรุ่นนี้จะเป็นประโยชน์ในการกำหนดนโยบายที่จะมาจัดการกับสังคมที่มีคนสูงอายุมากขึ้นอย่างเช่น ในประเทศไทย

ศ.โอกาวา ยกตัวอย่างการจัดการในญี่ปุ่น หลังสงครามโลกครั้งที่สองคนญี่ปุ่นมีลูกน้อยลง 50% ซึ่งคาดได้ว่าในอนาคตสังคมญี่ปุ่นจะมีแต่คนแก่ ตอนนั้นไม่มีใครสนใจ เพราะกำลังยินดีกับการมีวัยแรงงานมาก เศรษฐกิจเติบโต และญี่ปุ่นก็มีระบบประกันสังคมมาตั้งแต่ปี 1961 รัฐบาลก็สัญญาว่าจะรับภาระดูแลเรื่องผู้สูงอายุ คนญี่ปุ่นจึงใช้ชีวิตกันอย่างสบาย ๆ ไม่ใส่ใจ คือตอนเศรษฐกิจดี รัฐบาลก็สัญญาอะไรได้สารพัด แต่หลังจากนั้นจะเป็นปัญหา เมื่อพบว่าสัญญาที่ใช้ไว้เป็นเรื่องยากมากที่จะปฏิบัติตามสัญญา

ในญี่ปุ่นตอนเริ่มทำประกันถ้วนหน้าเราระมัดระวังมาก ค่อย ๆ ทำไปทีละขั้น ให้ทีละนิด ไม่ให้อย่างใจป้ำเหมือนประเทศตะวันตก ที่ประกาศจะเป็นรัฐสวัสดิการในช่วงปี 1950 ซึ่งญี่ปุ่นก็เลียนแบบ สิบปีให้หลังจึงรู้ว่าบางอย่างเป็นไปไม่ได้ เพราะญี่ปุ่นก็มีปัญหาวิกฤติการเงินและวิกฤติน้ำมัน จึงต้องเปลี่ยนระบบจากเน้นสวัสดิการมาเน้นเรื่องการจ้างงาน และประกันสังคม

ที่น่าสนใจคือประเทศเกาหลีได้สร้างรูปแบบการจัดการของตัวเองขึ้นมา โดยหลังจากวิกฤติการเงิน เกาหลีก็ใช้ประกันสังคมปี 1999 แล้วบอกว่าจะไม่เลียนแบบญี่ปุ่นจะเน้นให้สวัสดิการ แต่มีเงื่อนไขบังคับให้คนทำงานด้วย ซึ่งเรียกว่าเป็นระบบ Workfare ศ.โอกาวาแนะว่า ประเทศไทยก็น่าจะพัฒนาโครงการหรือมีนโยบายการคุ้มครองทางสังคม ที่เป็นรูปแบบเฉพาะของตัวเองขึ้นมา โดยคำนึงถึงจุดเด่นของครอบครัวไทยเป็นครอบครัวที่มีคนหลายรุ่นอยู่ด้วยกัน

ศ.โอกาวา กล่าวว่า ประเทศไทยมาถึงจุดที่จะต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการพัฒนา ทำอย่างไรจะกระตุ้นการลงทุนและการตักตวงรายได้จากการปันผลทางประชากรครั้งที่สองนี้ โดยเฉพาะผลจากการลงทุนด้านการศึกษาซึ่งที่ผ่านมาไทยทุ่มงบประมาณจำนวนมากไปกับเรื่องนี้ ไปกับคนรุ่นใหม่ที่มีลูกน้อยลงแต่ต้นทุนการศึกษาสูงขึ้น บทเรียนจากญี่ปุ่นในอดีตความผิดพลาดของญี่ปุ่นคือไม่เข้มงวดในเรื่องการศึกษามากนัก ให้เด็กเรียนกันสบาย ๆ ทำให้เกิดปัญหาตามมา ความสามารถของเด็กญี่ปุ่นลดลง ประเทศไทยควรทำหลักสูตรของตัวเองให้สร้างหลักประกันคุณภาพว่าเด็กจะมีทักษะที่เหมาะสมจะแข่งขันได้ในสังคมโลกาภิวัฒน์ นี่คือสิ่งที่ประเทศไทยเรียนรู้ได้จากญี่ปุ่น หากไม่อยากให้เป็นการลงทุนที่สูญเปล่าก็ควรเน้นคุณภาพให้มาก

“ประเทศไทยยังมีโอกาสเตรียมความพร้อมเพราะเพิ่งเริ่มต้นที่จะเป็นสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งตัวอย่างในญี่ปุ่นตอนนี้มีคนแก่อายุ 100 ปีขึ้นไปมากถึง 44,000 คน เพิ่มขึ้นจากเมื่อ 50 ปีที่แล้วที่มีเพียง 153 คน การเพิ่มขึ้นทุกปีของกลุ่มสูงอายุ ทำให้ต้องมาดูว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบในการดูแล เมื่อโครงสร้างประชากรและการโอนย้ายทรัพยากรข้ามรุ่นที่เคยดูแลกันได้ในอดีตนั้น ปัจจุบันพึ่งได้ยาก ประเทศไทยต้องคิดว่าใครจะมาเป็นผู้มีบทบาทหลักในการดูแลประชากรผู้สูงอายุในอนาคตอันใกล้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องวางแผนระยะยาว คอยติดตามและมีนโยบายที่สอดคล้องกับค่านิยมของคนในสังคม

นอกจากนี้ยังต้องให้ความสำคัญกับเรื่องการลงทุนเพื่อการออมและการวิธีบริหารจัดการ เพราะในญี่ปุ่นคนส่วนใหญ่กว่า 70% ไม่รู้เรื่องการลงทุน จนในปี ค.ศ.2007 รัฐบาลผ่านกฎหมายที่กำหนดให้การลงทุนในสถาบันการเงินของผู้สูงอายุต้องมีการสัมภาษณ์สมาชิกในครอบครัวด้วย ให้รับรู้และเข้าใจตรงกัน เพราะคนแก่ในญี่ปุ่นมีเงินแต่มีปัญหาหลงลืมกันมาก ตอนนี้ญี่ปุ่นมีคนแก่มากกว่า 2 ล้านคนที่หลงลืม ดังนั้นการจัดการเรื่องผู้สูงอายุจึงใหญ่มากสำหรับญี่ปุ่น

ผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นกล่าวด้วยว่า สำหรับประเทศไทย อาจเป็นเรื่องตลกร้ายที่ตอนนี้ในเมืองมีปัญหารถติดแต่ในอนาคตอันใกล้เมื่อเข้าสู่สังคมสูงอายุเราจะพบว่ามีคนขับรถหลงทางหรือผิดทางมากขึ้น(เป็นเรื่องปกติในญี่ปุ่น) ดังนั้นโครงสร้างทางอายุประชากรที่เปลี่ยนไปไม่ใช่เฉพาะเรื่องการโอนทรัพยากรข้ามรุ่น แต่รวมถึงกฎระเบียบทางสังคมที่เปลี่ยนไปด้วย ประเทศไทยจะต้องมีนโยบายที่ครอบคลุมทุก ๆ ด้านเพื่อที่จะมาจัดการกับสังคมสูงอายุที่จะมาถึงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ต้องวางแผนระยะยาวและทำอย่างจริงจัง เพราะการจัดการกับสังคมสูงอายุนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ลำพังกลไกที่มีอยู่น่าจะยังไม่เพียงพอ.

เผยแพร่โดยทีมสื่อสารสาธารณะ-ทีดีอาร์ไอ

โทร.0-2270-1350 ต่อ 113 (ศศิธร)

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version