ทันตแพทย์หญิงศรีญาดา ปาลิมาพันธ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว นับเป็นปัญหาสำคัญที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่นั้น มาจากการกระทำของคนในครอบครัว หรือจากบุคคลใกล้ชิด ซึ่งนำไปสู่ความแตกแยกในครอบครัว และการ หย่าร้าง รวมทั้งการใช้ความรุนแรงโต้ตอบ ทำให้เกิดปัญหาสังคมตามมา ที่ผ่านมา กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ จึงได้ดำเนินการตามนโยบายทั้งการป้องกัน การแก้ไข และการฟื้นฟู ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรง เพื่อลดปัญหาที่เกิดขึ้น โดยใช้พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่มีการกำหนดรูปแบบ วิธีการ และขั้นตอนที่มีลักษณะแตกต่างจากการดำเนินคดีอาญาทั่วไป คือเปิดโอกาสให้ผู้กระทำผิดได้มีโอกาสกลับตัวและยับยั้งการกระทำผิดซ้ำ เพื่อรักษาความสัมพันธ์อันดีในครอบครัวรวมทั้งเป็นการสร้างระบบใหม่ที่กำหนดให้ผู้พบเห็นการกระทำเกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัว ต้องแจ้งความต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ชี้ให้เห็นว่า เรื่องการใช้ความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องของ “สังคม” มิใช่เรื่อง “ส่วนตัว” อีกต่อไป
“ในการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการกระทำความรุนแรงในครอบครัวให้ได้ผลปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม จำเป็นต้องมีกลไกและมาตรการต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนงานให้มีประสิทธิภาพและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งจะมาจากองค์ความรู้และประสบการณ์จากองค์กรต่างๆ ที่ดำเนินงานในด้านนี้ จึงนับเป็นก้าวสำคัญของกระทรวงฯ ที่ได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่าย ในการขับเคลื่อนงานให้บรรลุตามพ.ร.บ.ฯ ดังกล่าว ในการที่จะให้ความช่วยเหลือและคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว โดยเฉพาะสตรีและเด็ก และร่วมปรับเปลี่ยนค่านิยมของสังคมที่เป็นอุปสรรคต่อการยุติความรุนแรง และกระตุ้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างยั่งยืน” ทันตแพทย์หญิงศรีญาดา กล่าว
ด้านนางสาวพัชรี จุลหิรัญ ฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เปิดเผยว่า ผู้ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอายุ ๓๑-๔๐ ปี อายุน้อยที่สุดเป็นเด็กหญิง อายุ ๑๑ ปี ส่วนอายุมากที่สุด เป็นชาย อายุ ๗๒ ปี ทั้งนี้ จากการรวบรวมข้อมูลเพื่อดำเนินคดีด้านกฎหมาย ตาม พรบ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๐ ขณะนี้มีจำนวน ๗๔ ราย โดยในจำนวนนี้มีกว่า ๑๕% ที่พนักงานสอบสวนไม่รับแจ้งความ เนื่องจากมองว่าเป็นเรื่องส่วนตัว และเจ้าหน้าที่ตำรวจบางรายก็ไม่รู้ว่ามี พ.ร.บ.คุ้มครองฯ ส่วน ๖% ที่มีการดำเนินคดีนั้น มีผู้เสียหายถึง ๙๔% ยืนยันที่จะไม่เอาผิดกับผู้กระทำ ซึ่งเป็นไปได้ว่าจะทำให้มีการกระทำซ้ำ เนื่องจากไม่ได้เข้าสู่ขั้นตอนการบำบัดเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจามที่กฎหมายระบุไว้ ส่วน ๓๓% ประชาชนยังเข้าใจผิดคิดว่าการลงบันทึกประจำวัน เป็นการแจ้งความแล้ว ซึ่งเรื่องนี้จะไม่มีผลต่อการดำเนินคดี เพราะหากผู้เสียหายไม่มีการยืนยันเพื่อดำเนินคดีและออกเลขที่กำกับ ก็จะทำให้คดีหมดอายุความภายใน ๓ เดือน.