โดย สกพ. ได้กำชับให้พิจารณา 4 มาตรการ คือ 1. มาตรการความมั่นคงในการสั่งจ่ายและควบคุมระบบไฟฟ้าในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ในกรณีที่โรงไฟฟ้าในพื้นที่นั้นๆ ถูกน้ำท่วมและไม่สามารถเดินเครื่องกำเนิดไฟฟ้าจะมีการรับกระแสไฟฟ้า (Load) จากโรงไฟฟ้าอื่นมาทดแทน 2.มาตรการด้านความปลอดภัยของประชาชน ในเรื่องการงดจ่ายไฟฟ้าในพื้นที่บริเวณน้ำท่วมสูง เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดกับผู้ประสบภัย 3. มาตรการสำรองไฟฟ้าในพื้นที่ฉุกเฉิน และ 4.มาตรการดูแลผู้ประสบภัย และผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ ภายหลังจากสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ โดยเบื้องต้นได้หารือถึงแนวทางการช่วยเหลือ หรือผ่อนผันการชำระค่าไฟฟ้าให้กับผู้ที่ได้รับความเสียหายจากภาวะน้ำท่วมในภาคครัวเรือนภายในเวลา 3 เดือน และภาคอุตสาหกรรมจะพิจารณาเป็นกรณีไป รวมถึงยืดระยะเวลาการตัดไฟกรณีผู้ใช้ไฟฟ้าไม่ชำระค่าไฟฟ้าตามกำหนดให้กับผู้ประสบภัยน้ำท่วม รวมทั้งผู้ที่ได้รับผลกระทบข้างเคียงจนกว่าสถานการณ์จะเป็นปกติ
นอกจากนี้ สกพ. ยังมีกลไกในการกำกับดูแลผ่านคณะกรรมการผู้ใช้พลังงานประจำเขต (คพข.) โดยเฉพาะเขต 3 นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี และ เขต 7 พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สระบุรี ปทุมธานี เป็นต้น ที่ลงพื้นที่ และรายงานข้อมูลและปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการบริการไฟฟ้า มายัง สกพ.อย่างต่อเนื่อง เพื่อหามาตรการในการกำกับดูแลด้านพลังงานในพื้นที่เหล่านั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป