นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในเวลานี้ ได้สั่งการให้พื้นที่ที่ประสบอุทกภัย ให้จัดเตรียมเฮลิคอปเตอร์บินประกาศให้ผู้ประสบภัยอพยพจากพื้นที่น้ำท่วม พร้อมจัดหาตึกสูงเพื่อเป็นที่จอดเฮลิคอปเตอร์เพื่อลำเลียงคน โดยเฉพาะ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย และเด็ก โดยจังหวัดที่ประสบอุทกภัยต้องวางแผนเป็น ๒ ส่วนเพื่อเตรียมรับสถานการณ์ คือ ๑. ส่วนที่สามารถป้องกันน้ำท่วมได้จริง ให้กำหนดแผนและการใช้วัสดุอุปกรณ์ให้พร้อม และก่อสร้างให้ทันสถานการณ์ที่น้ำจะเพิ่มขึ้น ในวันที่ ๑๓-๑๔ ตุลาคม ๒. ส่วนที่คาดว่าไม่สามารถป้องกันน้ำท่วมได้ ให้เตรียมขนย้ายประชาชน โดยเตรียมจุดอพยพและการบริหารจัดการอื่นๆ ล่วงหน้า และแจ้งประชาชนเตรียมพร้อม โดยประชาชนอาจได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์อุทกภัยครั้งนี้ ต่อเนื่องไปอีก ๒ เดือน จึงต้องมีการวางแผนฟื้นฟูคุณภาพชีวิตประชาชนในระยะยาว ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รับผิดชอบดังนี้ ๑. ประสานจัดหาสถานที่รองรับการอพยพคนไปไว้ในที่ปลอดภัย ๒.ให้บริการเรื่องอาหารในจุดที่อพยพ หรือจุดที่ประชาชนร้องขอ ๓.จัดเตรียมผ้าห่ม และมุ้ง จำนวน ๓๐,๐๐๐ ชุด แจกในพื้นที่ที่น้ำท่วมขัง ๔.การเยียวยา สร้างขวัญกำลังใจ และส่งเสริมการฝึกอาชีพ เพื่อสร้างรายได้ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ๕.ประสานการรถไฟและกระทรวงคมนาคมเพื่อเคลื่อนย้ายโบกี้รถไฟที่ปัจจุบันจอดอยู่ที่อำเภอภาชี และอำเภอแก่งคอย ให้เคลื่อน มาใกล้กับสถานีรถไฟที่ใกล้จังหวัดพระนครศรีอยุธยามากที่สุด เพื่อเป็นสถานที่รองรับผู้อพยพ
ทั้งนี้ให้ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน บูรณาการความร่วมมือกันเตรียมภัยในพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องจากมวลน้ำที่จะมาจากจังหวัดนครสวรรค์ เข้ามาทางจังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี และอ่างทอง โดยดูในเรื่องการระบายน้ำและการบำบัดน้ำเสียจากการท่วมขังเป็นเวลานาน และให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเตือนภัยในเขตพื้นที่เสี่ยงด้วย
นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ในส่วนการช่วยเหลือของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้จัดตั้งโรงครัวในพื้นที่ประสบภัย ๑๐ จังหวัด ตั้งแต่ วันที่ ๘-๑๐ ตุลาคม นี้ กระจายอยู่ในพื้นที่วิกฤติ ๔๘ แห่ง ช่วยเหลือประชาชนครอบคลุมจุดอพยพ ๒๒๙ แห่ง ผลิตอาหารได้ ๙๒,๙๘๘ ชุด ให้บริการน้ำดื่ม ๓,๔๐๐,๐๐ ขวด โดยประชาชนได้รับความช่วยเหลือไปแล้ว ๖๙,๕๙๕ คน พร้อมนี้ยังได้จัดชุดครัวเคลื่อนที่จากสถานสงเคราะห์ในสังกัดกระทรวงฯ จำนวน ๒๕ แห่ง กระจายไปในพื้นที่วิกฤติ ๓ จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อ่างทอง และปทุมธานี ซึ่งจะตั้งอยู่ตลอดจนกว่าจะพ้นวิกฤติ และร่วมกับศูนย์รับบริจาคใน ศปภ. รับบริจาคและจัดส่งเครื่องอุปโภคบริโภคให้จังหวัดที่ประสบภัย รวม ๑๐ จังหวัด จัดชุดเคลื่อนที่ สร้างเสริมสุขภาพกายและใจ บรรเทาความเครียดและอาการซึมเศร้าของผู้ประสบภัย รวมทั้งจัดอบรมส่งเสริมอาชีพให้กลุ่มสตรี เป็นต้น ทั้งนี้ กระทรวงฯ ได้สนับสนุนงบประมาณ ให้จังหวัดที่ประสบภัย จังหวัดละ ๑,๕๐๐,๐๐๐ บาท เพื่อใช้จ่ายเร่งด่วน โดยจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจัดสรรให้ ๒,๕๐๐,๐๐๐ บาท และจังหวัดนครสวรรค์ ๓,๕๐๐,๐๐๐ บาท รวมงบประมาณจาก ๒ หน่วยงานในสังกัดกระทรวง ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวง ๒๙ ล้านบาท และกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ๑๓ ล้านบาท รวมทั้งสิ้น ๔๒ ล้านบาท ซึ่งในขณะนี้ ได้ตั้งโรงครัวเพื่อประกอบอาหารบรรจุใส่กล่องแบบสำเร็จรูป เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทั้ง ๑๓ อำเภอ รวม ๒๐ จุด โดยเมื่อประกอบอาหารเสร็จแล้วเจ้าหน้าที่ทหารเรือ ตำรวจน้ำ จะนำเข้าไปมอบให้กับประชาชนตามบ้าน และอีกแนวทางหนึ่งคือการจัดส่งข้าวสาร อาหารแห้ง ส่งให้ทุกอำเภอในรอบ ๗ วัน
“เมื่อน้ำลด กระทรวงฯ ได้เตรียมมาตรการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชน เช่น จัดอบรมอาชีพระยะสั้น ให้ผู้ประสบภัยใน ๕๐ จังหวัด จัดให้มีโรงครัวให้ผู้ประสบภัยในจังหวัดที่ยังเดือดร้อนและมีผู้อพยพอีก ๑๒ จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี นครสวรรค์ อุทัยธานี สิงห์บุรี ลพบุรี อ่างทอง ชัยนาท ฉะเชิงเทรา พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ ให้มีการพักชำระหนี้ไม่คิดดอกเบี้ย ในส่วนหนี้สินค่าเช่าซื้อบ้านกับการเคหะ รวม ๓ เดือน ทั้งนี้ พม.ยังมีกองทุนต่างๆที่สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยอีกทางหนึ่ง ได้แก่ กองทุนคุ้มครองเด็ก กองทุนผู้สูงอายุ กองทุนคนพิการ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยไม่ต้องส่งเงินต้นและปลอดดอกเบี้ย ๓ เดือนแรก หลังจากนั้นจะพิจารณาหลักเกณฑ์ต่อไป ซึ่งสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด ทุกจังหวัด หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ศูนย์ประชาบดี ๑๓๐๐ อีกทั้งให้มีการฝึกอาชีพจัดทำเสื้อชูชีพ โดยวังศุโขทัยจะรับซื้อโดยไม่จำกัดจำนวน” นายสันติ กล่าว.