นางสุพินท์ มีชูชีพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โจนส์ แลง ลาซาลล์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ในการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือสถานการณ์น้ำท่วม มาตรการป้องกันนับเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการมีแผนปฏิบัติการที่จัดเจนในการจัดการให้ผลกระทบเกิดขึ้นในวงจำกัด”
“จุดที่มีความเปราะบางมากที่สุดของอาคารสูงส่วนใหญ่ในกรุงเทพฯ หากเกิดภาวะน้ำท่วม คือชั้นใต้ดินของตัวอาคาร ซึ่งมีระดับต่ำกว่าระดับพื้นผิวถนน” นางสุพินท์กล่าว
อาคารส่วนใหญ่ใช้ชั้นใต้ดินเป็นที่จอดรถ ดังนั้น เมื่อมีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะเกิดภาวะน้ำท่วม ฝ่ายจัดการอาคารควรแจ้งเตือนให้ผู้เช่าหรือผู้อาศัยในอาคารหลีกเลี่ยงการจอดรถในชั้นใต้ดิน แต่ควรจอดในที่จอดรถชั้นบนแทน อย่างไรก็ดี ในกรณีที่ไม่มีที่จอดรถชั้นบน หรือที่จอดรถชั้นบนมีไม่เพียงพอ บางอาคารอาจยังจำเป็นต้องให้สามารถจอดรถในชั้นใต้ดินต่อไปได้ตราบเท่าที่ยังไม่เกิดภาวะน้ำท่วมขึ้น แต่ในกรณีดังกล่าว ฝ่ายจัดการอาคารมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีแผนรองรับ ว่าจะประกาศแจ้งให้เจ้าของรถรับทราบได้อย่างไร และจะสามารถให้รถเคลื่อนย้ายออกจากชั้นใต้ดินของอาคารอย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไรเมื่อเกิดน้ำท่วม
นอกจากนี้ อาคารสูงส่วนใหญ่ยังใช้ชั้นใต้ดินเป็นที่ตั้งของศูนย์ควบคุมระบบต่างๆ ของอาคาร อาทิ ระบบไฟ ระบบน้ำ ระบบรักษาความปลอดภัย ระบบไอที รวมถึงระบบระบายน้ำ ทั้งนี้ อุปกรณ์และเครื่องมือไฟฟ้าหลายๆ ชิ้นอาจสามารถเคลื่อนย้ายไปไว้ในชั้นบนล่วงหน้าเพื่อป้องกันความเสียหายในกรณีเกิดน้ำท่วม แต่มีอุปกรณ์งานระบบหลายๆ ส่วนที่อาจไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องมีการเตรียมมาตรการที่เหมาะสมในการป้องกันไม่ให้น้ำเข้าท่วมชั้นใต้ดินได้ เพื่อจำกัดความเสียหายให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด
- เตรียมวัสดุที่สามารถนำมาสร้างแนวป้องกันน้ำได้อย่างเร็ว อาทิ ถุงทราย เพื่อไม่ให้น้ำที่ท่วมภายนอกสามารถเข้ามาในตัวอาคารได้
- วางแผนล่วงหน้าในกรณีที่จำเป็นต้องอุดจุดเชื่อมระหว่างระบบระบายน้ำของอาคารกับท่อระบายน้ำในถนนนอกอาคาร เมื่อเกิดภาวะน้ำท่วม อาจเป็นไปได้ที่น้ำจากภายนอกจะทะลักเข้าอาคารผ่านท่อระบายน้ำ
- ตรวจสอบให้แน่ใจว่าเครื่องสูบน้ำในอาคารอยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน
- เตรียมน้ำมันสำรองให้เพียงพอสำหรับพลังงานสำรองฉุกเฉิน
- เตรียมมาตรการป้องกันอันตรายที่อาจเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร เมื่อเกิดภาวะน้ำที่ท่วมในตัวอาคาร อาจจำเป็นต้องมีการตัดไฟในหลายๆ ส่วนเพื่อความปลอดภัย
- ประสานงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานรัฐฯ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้รับข้อมูลข่าวสารสถานการณ์น้ำตลอดเวลา และสามารถดำเนินมาตรการต่างๆ ได้อย่างสอดคล้องและทันท่วงที
- เตรียมแผนการสื่อสารประชาสัมพันธ์กับผู้ใช้หรืออยู่อาศัยในอาคาร เพื่อให้ผู้ใช้หรืออยู่อาศัยในอาคารได้รับทราบความคืบหน้าของสถานการณ์เป็นระยะๆ ส่วนในกรณีที่จำเป็นจะต้องปิดอาคาร เจ้าของและฝ่ายจัดการอาคารจะต้องเตรียมแผนในการแจ้งให้ผู้ใช้อาคารได้รับทราบล่วงหน้า
ภายหลังน้ำลด ระบบไฟฟ้าภายในอาคารอาจยังคงไม่ปลอดภัย ควรได้รับการตรวจสอบจากช่างไฟฟ้าที่ชำนาญการ ซึ่งจะเป็นผู้ที่บอกได้ว่า ระบบไฟต่างๆ ในอาคารอยู่ในสภาพพร้อมให้กลับมาใช้งานแล้วหรือไม่
โจนส์ แลง ลาซาลล์ เป็นบริษัทระหว่างประเทศผู้ให้บริการด้านบริหารจัดการอาคารรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยมีอสังหาริมทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการคิดเป็นพื้นที่รวมทั้งสิ้นราว 3.9 ล้านตารางเมตรในกรุงเทพฯ ภูเก็ต พัทยา และกระบี่ สำหรับในกรุงเทพฯ บริษัทมีอาคารสูงภายใต้การบริหารจัดการรวมมากกว่า 40 อาคารประกอบด้วยอาคารสำนักงาน อาคารชุดพักอาศัยและศูนย์การค้า
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม โปรดติดต่อ
วินัย ใจทน
tel +66 2 624 6540 fax +66 2 679 6519