อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า เนื่องจากขณะนี้พื้นที่น้ำท่วมได้ขยายวงกว้างครอบคลุมในหลายจังหวัด ในสถานการณ์ที่วิกฤตเช่นนี้ การดูแลช่วยเหลือจากภาครัฐอาจจะดำเนินการได้ไม่ทั่วถึง การรอความช่วยเหลือจากภายนอกเพียงอย่างเดียว อาจทำให้มีโอกาสผิดหวัง โกรธแค้น และสิ้นหวัง เพื่อให้ทุกคนปลอดภัย จำเป็นต้องอาศัย ความเข้มแข็งของชุมชนด้วยการ "ผนึกกำลัง ร่วมใจ สู้ภัยน้ำท่วม"ซึ่งต้องดึงพลังชุมชนเข้ามาช่วยเหลือและจัดการปัญหากันเอง อย่างมีสติและมีความหวัง โดยให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนสภาวะเหยื่อจากภัยพิบัติ มาเป็นผู้ร่วมกอบกู้วิกฤติ เผชิญกับปัญหาอย่างมีสติสามารถเยียวยาฟื้นฟูสภาพจิตใจให้กับผู้ประสบภัยภายในชุมชนของตัวเองให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด
ทั้งนี้กรมสุขภาพจิตได้วางแผนดูแลและฟื้นฟูจิตใจผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม ครอบคลุม ทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ 1) การจัดระบบบริการสุขภาพในภาวะวิกฤตโดยระดมสรรพกำลังจากหน่วยงานนอกพื้นที่ ทั้งในและนอกกรมสุขภาพจิต จัดกิจกรรม/บริการแบบองค์รวม เชื่อมโยงร่างกาย จิตใจและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนเป็นส่วนหนึ่งของการดูแลผู้ให้ความช่วยเหลือ (Helper) 2) การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการบริหารศูนย์พักพิงเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนจาก"เหยื่อ" เป็น "ผู้กอบกู้วิกฤต" ลดโอกาสการเกิดความขัดแย้งและเกิดภาวะแทรกซ้อนจากปัญหาสุขภาพจิต และ 3) การบริหารการสื่อสารในภาวะวิกฤต ที่ส่งเสริมสุขภาพจิต โดยไม่สร้างปัญหาจากการรับข้อมูลข่าวสาร ผู้ประสบภัยสามารถขอรับบริการด้านสุขภาพจิตได้ที่หน่วยบริการสุขภาพจิตโดยความร่วมมือกับสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ประสบภัย หรือ สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง www.dmh.go.th