นางสาวสมพิศ เจริญเกียรติกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารความเสี่ยง ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยถึงผลการจัดทำดัชนีธุรกิจกรุงไทย หรือ Krung Thai Business Index (KTBI) ซึ่งได้จากการสำรวจความเชื่อมั่นของนักธุรกิจทุกประเภทธุรกิจ ทุกขนาด และทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ที่เป็นลูกค้าของธนาคารจำนวนกว่า 2,000 ราย พบว่าดัชนี KTBI ประจำไตรมาสที่ 3 ปี 2554 อยู่ที่ระดับ 53.52 ลดลงจากระดับ 53.94 ในไตรมาสก่อน แม้ว่าดัชนีลดลงไม่มาก เนื่องจากเป็นผลการสำรวจในช่วงกลางเดือนกันยายนถึงต้นเดือนตุลาคม 2554 ซึ่งปัญหาอุทกภัยยังไม่รุนแรง และยังไม่มีผลกระทบต่อพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ แต่สะท้อนให้เห็นถึงความกังวลที่เพิ่มขึ้นของนักธุรกิจต่อปัญหาอุทกภัยและความเสี่ยงต่าง ๆ เช่น ราคาวัตถุดิบและค่าแรงที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ผู้ส่งออกนั้น ผลการสำรวจพบว่ามีความกังวลเพิ่มขึ้นเช่นกัน จากปัญหาเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะตลาดส่งออกหลักในยุโรปและสหรัฐฯ
“สำหรับแนวโน้มดัชนี KTBI ในไตรมาสสุดท้ายนี้ คาดว่าจะลดลงต่อเนื่อง เพราะนอกจากจะต้องเผชิญกับความเสี่ยงเดิมที่มีอยู่แล้ว นักธุรกิจยังต้องประสบกับปัญหาด้าน Supply หรือวัตถุดิบในการผลิตที่อาจจะขาดแคลน เพราะนิคมอุตสาหกรรมสำคัญได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยเฉพาะธุรกิจยานยนต์ คอมพิวเตอร์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งล้วนเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทย นอกจากนี้ คาดว่า GDP ในปีนี้จะลดลงจากที่ประมาณการไว้ไม่น้อยกว่าร้อยละ1”
นางสาวสมพิศ เจริญเกียรติกุล กล่าวต่อไปว่า แม้ปัญหาอุทกภัยในปีนี้จะรุนแรงกว่าที่คาดไว้ แต่หากภาครัฐและภาคเอกชนร่วมแรงร่วมใจ ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยอย่างเต็มที่และรวดเร็ว รวมทั้งมีมาตรการฟื้นฟูหลังน้ำลด จะช่วยให้นักธุรกิจคลายความวิตกลงและความเชื่อมั่นจะค่อย ๆ ฟื้นคืน สำหรับธนาคารกรุงไทย ได้เพิ่มมาตรการในการช่วยเหลือลูกค้าทั้งภาคธุรกิจและลูกค้ารายย่อย โดยพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยนาน 6 เดือน ส่วนลูกค้า SME และรายย่อยที่ไม่มีรายได้ ธนาคารคิดดอกเบี้ย 0% พร้อมพักชำระเงินต้นนาน 3 เดือน ลูกค้าสินเชื่อธุรกิจประเภทเงินทุนหมุนเวียนที่มีเอกสารประกอบ ธนาคารจะพิจารณาต่อตั๋วออกไปอีก 6 เดือน รวมทั้งขยายการช่วยเหลือไปยังลูกค้าสินเชื่อที่คู่ค้าได้รับผลกระทบนอกจากนี้ ยังได้ปรับ 7 มาตรการช่วยเหลือเดิม โดยขยายเวลาให้ดอกเบี้ยอัตราต่ำพิเศษเป็น 3 ปี และยืดระยะเวลาชำระหนี้เป็น 7 ปี