“การเลี้ยงปลาในช่วงฤดูฝนเกษตรกรจำเป็นต้องเอาใจใส่ดูแลเป็นพิเศษ โดยเฉพาะการเลี้ยงปลาระบบกระชังในแม่น้ำที่ต้องเสี่ยงกับการเปลี่ยนแปลงของน้ำ โดยจะต้องทำโครงกระชังให้มีขากระชังลงไปทั้ง 4 ด้าน อย่างน้อยครึ่งหนึ่งของความลึกกระชัง เพื่อป้องกันไม่ให้กระชังลู่ไปตามแรงน้ำ แต่ในบางพื้นที่ที่ภาวะน้ำหลากรุนแรงควรเคลื่อนย้ายกระชังไปยังจุดที่สามารถหลบแรงน้ำได้ นอกจากนี้ ในสภาวะที่น้ำไหลหลากมากอย่างต่อเนื่องอาจมีภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพน้ำได้ตลอดเวลา ดังนั้นผู้เลี้ยงควรสังเกตุการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันของน้ำที่จะมีผลต่อการกินอาหารลดลง จึงควรปรับปริมาณการให้อาหารในแต่ละมื้อลง โดยให้อาหารที่ละน้อยเท่าที่ปลากินหมด และควรแบ่งจำนวนมื้ออาหารออกเป็นมากกว่า 5-6 มื้อต่อวัน เพื่อกระตุ้นให้ปลากินอาหารมากขึ้น เนื่องจากปลาต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นเพราะต้องว่ายต้านแรงน้ำที่รุนแรงกว่าปกติตลอดเวลา ทั้งนี้ภาวะน้ำแรงทำให้ปลาว่ายน้ำลำบากจึงกินอาหารได้น้อยลง ประกอบกับภาวะความเครียดทำให้ปลามีความอยากอาหารน้อยลง เกษตรกรจึงควรผสมวิตามินซีในอาหารให้ปลากินครั้งละ 3 วัน ในทุกสัปดาห์ เพื่อเพิ่มภูมิต้านทานด้วย” นายอดิศร์ กล่าวและว่า
เมื่อภาวะน้ำเริ่มลดลงมักจะมีน้ำที่ค้างอยู่ในทุ่งนาซึ่งเป็นน้ำที่เต็มไปด้วยก๊าซต่างๆ ที่เป็นผลทำให้น้ำเกิดภาวะอ๊อกซิเจนต่ำอย่างฉับพลันในบริเวณนั้น ทำให้ปลาตายจากการขาดอ๊อกซิเจน เกษตรกรจึงควรสังเกตุและต้องเพิ่มอ๊อกซิเจนให้ปลาในกระชังอย่างเพียงพอ
“สำหรับการเลี้ยงในรูปแบบบ่อดิน ซึ่งถือว่าเหมาะสมที่สุดในปัจจุบันสำหรับการเลี้ยงปลาเชิงพาณิชย์ ก็ควรปรับรูปแบบกระชังเป็นแบบกระชังลอย ที่มีอุปกรณ์ยึดไม่ให้ลอยไปกับกระแสน้ำได้ หากเกิดน้ำหลากสูงเกินระดับคันบ่อ และควรเลือกสถานที่เลี้ยงปลาที่มีความเสี่ยงต่อภาวะอุทกภัยต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยยังคงมีปริมาณน้ำพอเพียงในการเลี้ยง เช่น น้ำจากระบบชลประทาน อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้นหรือน้ำมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นอีก เกษตรกรควรตัดสินใจจับปลาออกขายโดยเร็วจะดีที่สุด อย่าปล่อยเอาไว้นานเพราะจะเกิดความเสียหายเป็นอย่างมาก” นายอดิศร์ กล่าวทิ้งท้าย