รองศาสตราจารย์ จุฑามาศ ศตสุข คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เปิดเผยว่า ในขณะที่หลายพื้นที่ของประเทศไทยกำลังประสบกับปัญหาอุทกภัยอย่างรุนแรง ทำให้ประชาชนมีความยากลำบากในการดำเนินชีวิต รวมทั้งยังประสบปัญหาขาดแคลนสิ่งของอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะน้ำสะอาดที่ใช้ดื่ม เพราะน้ำประปาเริ่มมีสีและกลิ่นที่ผู้ประสบภัยไม่กล้าอุปโภคบริโภค ทำให้คณะวิจัยจากคณะวิทยาศาสตร์ และสถานวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเมมเบรน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ใช้องค์ความรู้ที่ได้จากการวิจัยประดิษฐ์เครื่องกรองน้ำที่มีประสิทธิภาพสามารถกรองตะกอน กลิ่น สี และเชื้อโรคในน้ำ โดยเน้นความสะดวกต่อการพกพา ง่ายต่อการติดตั้ง และสามารถเป็นต้นแบบออกสู่ชุมชน
ทั้งนี้ ในระหว่างเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในภาคใต้ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2553 คณะวิทยาศาสตร์ ม.อ. ก็ได้มีบทบาทในการผลิตน้ำดื่มด้วยเทคโนโลยีเมมเบรน บรรจุขวดจำนวน 1 แสนขวด เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในเขตเมืองหาดใหญ่ และใกล้เคียงมาแล้ว
ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดรุณี ผ่องสุวรรณ ภาควิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีวัสดุ ผู้วิจัยและออกแบบเครื่องกรองน้ำ กล่าวว่า เครื่องกรองน้ำของคณะวิทยาศาสตร์ มีลักษณะพิเศษจากเครื่องกรองอื่นๆ ตรงที่ตัวไส้กรองเซรามิก ซึ่งมีส่วนผสมตามสูตรที่ได้พัฒนามาจากองค์ความรู้จากการวิจัยของนักวิชาการ ทำให้มีความทนทาน มีอายุการใช้งานนาน 1 ปีถึง 1 ปีครึ่ง มีความละเอียดในการกรอง 0.3 ไมครอน สามารถกรองเชื้อโรคในน้ำ เช่นเชื้อจุลินทรีย์และแบคทีเรียบางชนิด และรูปแบบของไส้กรองที่ถูกนำไปประกอบกับท่อ พีวีซี ทำให้ง่ายต่อการประกอบและทำความสะอาด เนื่องจากท่อพีวีซีสามารถหาซื้อได้ทั่วไป โดยทั้งรูปแบบและสูตรส่วนผสมของเซรามิคที่นำมาทำไส้กรอง ได้ถูกนำไปจดอนุสิทธิบัตรไว้แล้ว
สำหรับเครื่องกรองน้ำ ที่ออกแบบโดยคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีอยู่ 3 ชนิด คือ ชนิดท่อเดี่ยว ชนิด 2 ท่อ และ ชนิด 3 ท่อ โดยชนิดท่อเดี่ยว จะมีเฉพาะไส้กรองเซรามิกเป็นส่วนประกอบ ส่วนชนิด 2 ท่อ และ ชนิด 3 ท่อนั้น จะเพิ่มสารกรองคาร์บอน เพื่อใช้กรองตะกอน กลิ่น สี คลอรีน สารอินทรีย์ และ สารกรองเรซิน เพื่อกรองหินปูน ลดความกระด้างในน้ำ และดูดซับสี มีราคาต่อชิ้นประมาณ 2,000 บาท และสามารถกรองน้ำได้ประมาณ 30 ลิตร ต่อชั่วโมง
“เครื่องกรองนี้ สามารถใช้กรองคลอรีนและเชื้อโรคที่ติดมากับน้ำประปา เพื่อบริโภคได้แม้ในภาวะปกติ แต่เราไม่แนะนำให้ใช้กับน้ำเน่าเสีย ส่วนการใช้กับน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติ ต้องขึ้นอยู่กับว่าน้ำนั้นมีสารที่เป็นโลหะหนักเจือปนมากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ตาม กำลังมีการทำการวิจัยส่วนผสมของไส้กรอง เพื่อให้สามารถกรองโลหะหนักที่เจือปนมากับน้ำ เช่น สารหนูได้” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดรุณี กล่าว
ผู้วิจัยและออกแบบเครื่องกรองน้ำด้วยเทคโนโลยีเมมเบรน กล่าวด้วยว่า ในปัจจุบัน กำลังการผลิตไส้กรองของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ยังมีปริมาณไม่มาก โดยสามารถผลิตได้เพียงประมาณ 20-30 ชิ้นต่อ 2 สัปดาห์ เนื่องจากเตาเผาเซรามิกที่มีอยู่มีขนาดเล็ก อย่างไรก็ตาม หากว่าความต้องการเครื่องกรองน้ำเพิ่มสูงขึ้น ทางคณะฯ ก็จะต้องจัดหาเตาขนาดใหญ่ เพื่อสนองความต้องการของผู้สนใจต่อไป
เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์โดย บริษัทมาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ ในนามมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ : พิภพ ฆ้องวง (ท๊อป)
โทร : 0-2248-7967-8 ต่อ 118
E-mail: [email protected] / [email protected]