นายดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานสำนักงานทูตความดีแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า งานเสวนาดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับประชาชนจากประเด็นที่สับสนเกี่ยวกับก้อนจุลินทรีย์ หรือ อีเอ็มบอล ในคุณสมบัติและประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียและส่งกลิ่นเหม็น ซึ่งกำลังเป็นที่สนใจของประชาชนอย่างกว้างขวาง ทั้งนี้ สำนักงานทูตความดีแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งที่ได้ระดมองค์กรภาคีและคนไทยจิตอาสามาร่วมปั้น EM Ball เพื่อทุเลาปัญหาน้ำเน่าเสีย โดยมีผู้เข้าร่วมงานนับหมื่นคนในงาน ‘ย่านราชประสงค์ รวมพลคน Do D ปันน้ำใจช่วยภัยน้ำท่วม’ ซึ่งปั้น EM Ball เป็นจำนวนมากกว่า 265,000 ลูก ณ อาคารอัมรินทร์พลาซ่า ระหว่างวันที่ 3 — 5 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
“การร่วมกันปั้นอีเอ็มบอลของประชาชนจำนวนมากในครั้งนี้ และในส่วนอื่นๆ รวมถึงจากต่างจังหวัดที่ระดมกันปั้นเพื่อส่งเข้ามาช่วยกอบกู้วิกฤตน้ำท่วมในครั้งนี้ สามารถมองได้ในอีกมิติหนึ่งคือ นอกจากจะช่วยบำบัดน้ำเสียแล้ว ยังเป็นปรากฏการณ์ใหม่ทางสังคมที่คนไทยในทุกภาคส่วนได้แสดงถึงพลังความสามัคคี จึงถือได้ว่าลูกอีเอ็มบอลนี้เป็นเสมือนลูกบอลแห่งน้ำใจ ที่แสดงจิตใจที่บริสุทธิ์ของคนไทยที่ไม่ยอมแพ้ต่อวิกฤต ยังคงให้กำลังใจกันตลอดเวลา ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นถึงพลังศรัทธาของคนไทย และขอให้ผู้ประสบภัยและชาวไทยทุกคนจงมองวิกฤตนี้ให้เป็นโอกาสในการให้กำลังใจแก่กันและกัน และขอให้มีแรงใจสู้ต่อไปเพื่อผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปด้วยกัน” นายดนัย กล่าว
ผศ. ดร. ฤทธิ์ วัฒนชัยยิ่งเจริญ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ผู้ร่วมเสวนา กล่าวยืนยันว่า “EM Ball สามารถใช้ในการบำบัดน้ำเสียได้ผลจริง เนื่องจากมีเชื้อจุลินทรีย์ฝ่ายสร้างสรรค์ที่จะใช้อาหาร คือ รำ กากน้ำตาล เป็นสารตั้งต้นในการเจริญเติบโตและเพิ่มปริมาณ ในหนึ่งลูกจะมีจุลินทรีย์อยู่หลายชนิด ทำหน้าที่แตกต่างกัน ต่อเนื่องเป็นลูกโซ่
เมื่อปั้นเสร็จทิ้งไว้ 7-15 วันเพื่อให้จุลินทรีย์เจริญเติบโต โยนลงไปในน้ำพอตกถึงพื้นเชื้อจุลินทรีย์จะกระจายตัวออกไปย่อยสลายสารอาหารที่ตกตะกอนอยู่ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการบำบัดน้ำเสีย ทั้งนี้ สูตรของจุลินทรีย์อีเอ็มที่ใช้กันในประเทศไทยมีหลายสูตรขึ้นอยู่กับแต่ละหน่วยงานแต่ละพื้นที่จะคิดค้นได้ ซึ่งล้วนแต่ใช้ได้ผลมาแล้วทั้งนั้น”
รศ. ดร. สุมาลี เหลืองสกุล คณบดีคณะวัฒนธรรมสิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวยืนยันเช่นกันว่า “ฟันธงได้เลยว่าจุลินทรีย์ใช้บำบัดน้ำเสียได้ เพราะจุลินทรีย์มีหลายชนิด มีวงจรชีวิต ความสามารถที่แตกต่างกัน แต่ละตัวจะดำรงชีวิตอยู่ด้วยวงจรชีวิตที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะจุลินทรีย์ที่เราเรียกกันกว้างๆ ว่า EM ย่อมาจาก Effective Micro organism ต้องผ่านการทดลองวิจัยมาแล้วว่ามีความสามารถย่อยสลายสารอินทรีย์ที่เราต้องการให้ย่อยได้ เช่น ในน้ำเสียมีสารอินทรีย์หลายอย่างปะปนกัน ก็จะมีการแยกจุลินทรีย์ที่มีหน้าที่ต่างกันมาทำหน้าที่ เช่น จุลินทรีย์ตัวที่ 1 ย่อยสารอาหารที่มีขนาดใหญ่ ก็ได้ผลผลิตออกมา ตัวที่ 2 ก็มาใช้ผลผลิตของตัวที่ 1 ให้ผลผลิตเป็นอาหารของตัวที่ 3 มันอยู่ร่วมกันแบบถ้อยทีถ้ยอาศัยเป็นระบบนิเวศของเขา ช่วยกันทำงานจนสุดท้ายทำให้น้ำสะอาด เพราะสารอินทรีย์ในน้ำถูกย่อยสลายไปหมด”
“ตัวใดตัวหนึ่งทำงานลำพังไม่ได้ ต้องร่วมมือร่วมใจกัน เหมือนเราร่วมใจกันปั้น EM Ball นั่นคือพลังของเราและจุลินทรีย์ เมื่อเรานำไปหย่อนในจุดที่ต้องการให้ย่อยสลายสารอินทรีย์ในน้ำเสียนั้น เขาก็จะย่อยสลายสารอินทรีย์ที่มีอยู่และทำให้น้ำมีคุณภาพดีขึ้น” รศ. ดร. สุมาลี กล่าว
ด้าน ดร. เชิดชัย เชี่ยวธีรกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านจุลชีววิทยา คณบดีคณะเทคโนโลยีชีวภาพ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กล่าวอย่างมั่นใจว่า “ขอยืนยันว่า EM Ball ใช้ได้ผลจริง แต่ที่บอกว่าการกำจัดน้ำเสียที่ดีที่สุดคือการใช้กังหันชัยพัฒนา ด้วยหลักการเติมออกซิเจนลงไปในน้ำให้มากที่สุด อันนี้จริง แต่น้ำท่วมทั่วประเทศจะให้ไปติดตั้งกังหันทั่วประเทศมันเป็นไปไม่ได้ แต่ยังมีเชื้อจุลินทรีย์ที่ไม่จำเป็นต้องใช้ออกซิเจนอีกมากมายที่สามารถนำมาบำบัดน้ำเสียได้ เพราะมันทำงานเป็นห่วงโซ่อาหารที่กินต่อกันเป็นทอดๆ โดยเฉพาะในภาวะน้ำท่วมนี้ จะมีเชื้อบาดทะยัก เชื้อโรคต่างๆ ที่เป็นอันตราย แต่เมื่อส่งจุลินทรีย์ อีเอ็มลงไปมันจะไปกินเชื้อพวกนี้ให้หมด ทำให้น้ำปลอดภัยขึ้น”
“วิธีใช้ที่ถูกต้องคือ บ่อ 10 x 10 เมตร ไม่ควรโยนเกิน 2-4 ลูก แล้วรอ 2-3 วัน ถ้ายังไม่ดีขึ้น ก็เติมไปอีก 2 ลูกพอ เพราะก้อนจุลินทรีย์มันแห้ง จุลินทรีย์เมื่อถูกโยนลงไปแล้วจะใช้เวลาในการปรับตัวกว่าจะเจริญเติบโต ต้องใจเย็นหน่อย ไม่ใช่โยนปั๊บมันจะได้ผลเลย รอซัก 2-3 วันพอเชื้อมันเจริญเติบโตมันจะแพร่พันธุ์ไปได้เร็วมาก แล้วก็กินอาหาร ของเน่าเสียในน้ำจนหมด แล้วน้ำก็จะดีเอง” ดร. เชิดชัย กล่าวเสริม
ดร. หฤษฏ์ นิ่มรักษา อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวว่า เราต้องเข้าใจก่อนว่าการใส่อีเอ็มบอลในน้ำเสีย ต้องเป็นน้ำที่เริ่มต้นเสียจึงจะมีประสิทธิภาพ เป็นน้ำนิ่ง หรือน้ำขังอยู่ในบริเวณบ้าน กรณีน้ำไหลแรงจะไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ เนื่องจากจะถูกพัดไปกับน้ำหมด ซึ่งหลังจากใส่ไปแล้ว 7-15 วัน คุณภาพน้ำจะเริ่มดีขึ้น ซึ่งหลักการนี้ใช้ในการบำบัดน้ำเสียในคอกปศุสัตว์ โดยมีบางหน่วยงานในกรุงเทพมหานครนำ EM Ball ไปใช้ในการกำจัดขยะ และหน่วยงานอื่นๆ เช่น กรมพัฒนาที่ดิน เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมี นายมนัส หนูสวี รองประธานมูลนิธิเกษตรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้ริเริ่มการผลิตอีเอ็มบอลอย่างจริงจังคนแรกของภาคใต้ และนายอำพล ธานีครุฑ หรือผู้ใหญ่หรั่ง ครูชำนาญการพิเศษมูลนิธิเกษตรธรรมชาติ ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และแบ่งปันประสบการณ์ในการใช้งานก้อนจุลินทรีย์