อันดับเครดิตของ KTB สะท้อนถึงการถือหุ้น การมีอำนาจควบคุม และการสนับสนุนจากรัฐบาล KTB เป็นธนาคารขนาดใหญ่อันดับ 2 ของประเทศไทย (ซึ่งมีอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวที่ ‘BBB’/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) โดยมีส่วนแบ่งการตลาดด้านสินเชื่อและเงินฝากประมาณ 18% และมีกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ที่จัดตั้งโดยธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 55% แม้หากไม่คำนึงถึงการถือหุ้นในธนาคารของรัฐบาล ฟิทช์ยังคงเชื่อว่ามีความเป็นไปได้อย่างสูงที่ KTB จะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐหากมีความจำเป็น เนื่องจากขนาดและความสำคัญต่อระบบการเงินและเศรษฐกิจ จากเหตุผลในข้างต้นจึงเห็นได้ว่าในอดีตรัฐบาลได้มีการใช้ธนาคารให้สนับสนุนนโยบายทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในด้านการขยายสินเชื่อในช่วงที่เศรษฐกิจอยู่ในสภาวะที่อ่อนแอ
การเปลี่ยนแปลงของอันดับเครดิตของประเทศอาจส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตสากลระยะยาวและระยะสั้นของ KTB อย่างไรก็ตามเพื่อให้สอดคล้องกับหลักการในการจัดอันดับเครดิตของธนาคารที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและการเงิน (รวมถึงธนาคารที่มิได้มีหน้าที่หลักในการดำเนินนโยบายรัฐ) ที่มีการถือหุ้นโดยรัฐต่ำกว่า 100% ในประเทศอื่นๆ ที่มีอันดับเครดิตอยู่ในระดับสูง อันดับเครดิตของ KTB อาจจะมิได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตของประเทศไทย หากอันดับเครดิตของประเทศไทยได้รับการปรับอันดับเพิ่มขึ้นไปในช่วงระดับเครดิต ‘A’ ทั้งนี้เนื่องจากการความจำเป็นในการพึ่งพาธนาคารพาณิชย์จากภาครัฐเพื่อผลักดันนโยบายทางเศรษฐกิจอาจลดลง ด้วยเหตุผลดังกล่าว ประกอบกับความถี่ที่มากกว่าของอันดับเครดิตภายในประเทศเทียบกับอันดับเครดิตสากลทำให้อันดับเครดิตภายในประเทศของ KTB ได้รับการคงอันดับที่ AA+(tha)
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน (Viability Rating) ของธนาคารสะท้อนถึงความแข็งแกร่งของเครือข่ายธุรกิจภายในประเทศ แม้ว่าสถานะทางการเงินของธนาคารอาจจะไม่แข็งแกร่งมากนัก ทั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากการดำเนินนโยบายธุรกิจเพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐในด้านสินเชื่อในอดีต ซึ่งทำให้อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคารอาจถูกจำกัด หากมีการกดดันให้ธนาคารสนับสนุนนโยบายของภาครัฐ อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์ที่เน้นการดำเนินงานในเชิงพานิชย์ของ KTB ส่งผลให้ธนาคารมีความแข็งแกร่งทางการเงินมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามการปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญของกำไร คุณภาพสินทรัพย์ และ เงินกองทุน ของธนาคาร อาจส่งผลให้อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคารถูกปรับลดลง
KTB ยังคงมีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งต่อเนื่องสำหรับช่วง 9 เดือนแรกปี 2554 โดยธนาคารมีกำไรสุทธิ 16.2 พันล้านบาท (เพิ่มขึ้น 42% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน) และมีอัตราส่วนกำไรสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ 1.2% (เทียบกัน 0.9% ในปี 2553) อย่างไรก็ตามอัตรากำไรและส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิของธนาคารอาจปรับตัวลดลงในไตรมาส 4 ปี 2554 และในปี 2555 เนื่องจากผลกระทบจากอุทกภัยครั้งใหญ่ในประเทศไทย นอกจากนี้ KTB น่าจะต้องเผชิญกับความเสี่ยงในด้านคุณภาพสินทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นในปี 2555 รวมทั้งความเสี่ยงที่ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญอาจต้องปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากธนาคารมีอัตราส่วนสำรองหนี้สูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในระดับต่ำที่ประมาณ 60% และมีระดับสำรองหนี้สูญส่วนเกิน (excess reserve) อยู่ในระดับต่ำที่ 3.1 พันล้าน (หรือ 0.2% ของสินเชื่อปกติ) ณ สิ้นเดือน มิถุนายน 2554 ทั้งนี้ผลการดำเนินงานของธนาคารในช่วง 9 เดือนแรกปี 2554 ได้เริ่มมีแนวโน้มไปในทิศทางดังกล่าวบ้างแล้ว อย่างไรก็ตาม ฟิทช์คาดว่า ด้วยความสามารถในการทำกำไรโดยรวมของ KTB ที่ปรับตัวดีขึ้น และเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง ปัจจัยดังกล่าวน่าจะช่วยให้ธนาคารสามารถรองรับความเสี่ยงระยะสั้นจากปัญหาอุทกภัยได้ในระดับหนึ่ง
ความสามารถในการระดมเงินทุนและสภาพคล่องของ KTB ยังคงอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ เนื่องจากธนาคารเป็นหนึ่งในธนาคารที่มีฐานลูกค้าเงินฝากที่แข็งแกร่งที่สุดในประเทศไทย โดยพนักงานรัฐวิสาหกิจและข้าราชการส่วนใหญ่จะใช้บริการเงินฝากกับธนาคาร ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2554 ธนาคารมีอัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากของธนาคารที่ 101.5% (100.3% ณ สิ้นปี 2553) อย่างไรก็ตามอัตราส่วนดังกล่าวจะปรับตัวลดลงที่ประมาณ 91% หากรวมตั๋วแลกเงิน (B/E) ซึ่งโดยทั่วไปจัดเป็นผลิตภัณฑ์เงินฝากประจำประเภทหนึ่งสำหรับผู้ฝากเงิน
KTB มีเงินกองทุนอยู่ในระดับที่พอเพียง โดยธนาคารมีอัตราเงินกองทุนชั้นที่ 1 และอัตราเงินกองทุนรวมที่ 9.0% และ 14.1% ตามลำดับ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2554 ซึ่งคาดว่าน่าจะช่วยรองรับผลกระทบจากความเสี่ยงจากเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดที่อาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อสภาวะเศรษฐกิจหรือการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ
อันดับเครดิตของตราสารหนี้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ของ KTB ปัจจุบันอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินอยู่ 2 ระดับ ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงของอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ KTB จะส่งผลในทางเดียวกันกับอันดับเครดิตของตราสารหนี้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนดังกล่าว นอกจากนี้การปรับตัวอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญของเงินกองทุน ความสามารถในการทำกำไร และ กำไรสะสม อาจส่งผลให้ความแตกต่างระหว่างอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินและอันดับเครดิตของตราสารหนี้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนนี้เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากปัจจัยดังกล่าวเป็นปัจจัยที่ธนาคารแห่งประเทศไทยใช้ในการพิจารณาอนุมัติให้ธนาคารสามารถชำระดอกเบี้ย ในกรณีที่ธนาคารประสบผลขาดทุนจากการดำเนินงาน
ฟิทช์คงอันดับเครดิตดังต่อไปนี้:
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว Issuer Default Rating (IDR) ที่ ‘BBB’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นที่ ‘F3’
- อันดับเครดิตความแข็งแกร่งทางการเงิน (Viability Rating/Individual Rating) ที่ ‘bbb-’ / ‘C/D’
- อันดับเครดิตสนับสนุนที่ ‘2’
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ ‘BBB-’
- อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ ‘BBB’
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของตราสารหนี้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 (Hybrid Tier 1 Securities) ที่ ‘BB’
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘AA+(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ ‘F1+(tha)’
- อันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ ‘AA(tha)’
- อันดับเครดิตภายในประเทศของตราสารหนี้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่ ‘A(tha)’
ติดต่อ
Primary Analyst
พชร ศรายุทธ
Associate Director
+662 655 4761
บริษัท ฟิทช์เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด
55 ถนน วิทยุ ลุมพินี ปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
Secondary analyst
นฤมล ชาญชนะวิวัฒน์
Director
+662 655 4763
กรุงเทพฯ
Committee Chairperson
Jonathan Cornish
Managing Director
+852 2263 9901