นายณัชพล เกิดเกษม ผู้ประสาน ผอ.ศปช.กทม. ได้ระบุว่า ภารกิจของศปช.กทม.จะมุ่งประสางานให้การช่วยเหลือเฉพาะหน้า เช่น อาหาร ที่พักพิง โดยใช้กลไก “สภาองค์กรชุมชน” ส่งเสริมชุมชนสร้างเครือข่ายเพื่อชุมชนพึ่งตนเอง จัดการตนเองได้ และจะระดมความคิดในการออกแบบชุมชน กทม.อนาคตเพื่ออยู่กับน้ำได้อย่างยั่งยืน
ที่ผ่านมาได้ประสานงานและมอบสิ่งของจำเป็นให้ผู้เดือดร้อน จับคู่เขตที่ประสบน้ำท่วมและยังไม่ท่วม เป็นเขตเพื่อนมิตรช่วยเหลือกัน และได้ร่วมกับศปภ.จัดตั้งกองเรืออาสาในกทม.และปริมณฑลรวม 10 พื้นที่และจะขยายให้ครบในทุกเขต พร้อมจะขยายครัวชุมชน สนับสนุนชุมชนจัดทำ EM ball และจัดทำแผนการฟื้นฟูชุมชนหลังน้ำท่วม
ต่อจากพิธีการมอบเรือให้กับชุมชนทั้ง 10 เขต นายสุรศักดิ์ อินทรประสิทธิ์ ตัวแทนสมัชชาสภาองค์กรชุมชนกรุงเทพมหานคร เครือข่ายสลัมสี่ภาค สมัชชาสภาองค์กรชุมชน เครือข่ายขบวนจังหวัดกรุงเทพมหานคร และคณะประสานงานพัฒนาชุมชนและสิ่งแวดล้อม ได้กล่าวแถลงการณ์ข้อเสนอต่อรัฐบาล ดังนี้
สถานการณ์น้ำท่วมในปัจจุบันก่อความเสียหายบริเวณกว้างในพื้นที่ภาคกลาง รวมถึงกรุงเทพมหานคร ทำให้พี่น้องประชาชนทั้งในต่างจังหวัดและในเขตกรุงเทพมหานครได้รับความเสียหายเดือดร้อนอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
วิกฤตการณ์ครั้งนี้ทำให้มองเห็นความบกพร่องของระบบ เช่น จัดศูนย์พักพิงโดยขาดเตรียมความพร้อม หน่วยงานของรัฐ เช่น การไฟฟ้านครหลวงขาดระบบเตือนภัย และทำงานล่าช้า ทำให้เกิดไฟฟ้าช็อตประชาชนเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก
การทำงานของภาครัฐมีลักษณะตั้งรับ แก้ปัญหาเมื่อเกิดขึ้นแล้ว แทนที่จะทำงานเชิงรุก ขาดการเตรียมการและแก้ปัญหาที่ต้นตอ การให้ข้อมูลของภาครัฐที่ไม่ทันกาล สับสนและขัดแย้งกันระหว่าง กทม.กับรัฐบาล ทำให้ประชาชนตัดสินใจล่าช้าในการอพยพหนีน้ำท่วม ภาครัฐทำงานแบบสั่งการละเลยเสียงเรียกร้องของประชาชน ไม่ทำความเข้าใจกับประชาชนก่อน ทำให้ภาคประชาชนไม่เชื่อมั่นภาครัฐ กลุ่มเดือดร้อนต้นน้ำก่อการประท้วง และขัดขวางทำลายเขื่อนกั้นน้ำ
ภาคประชาชนตระหนักว่า ประชาชนต้องพึ่งตนเองก่อน จึงได้จัดตั้งศูนยประสานงานช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยภาคประชาชน กรุงเทพมหานคร ประชาชนกรุงเทพมหานครได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากผู้บริจาค และองค์กรภาคีต่างๆ เช่น เครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคม (CSR) สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ สถาบันพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาบันพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน สถาบันพัฒนาการเมือง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ คณะกรรมการการสื่อสารและโทรคมนาคมแห่งชาติ ศูนย์ป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ และหน่วยงานอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง
ประชาชนกรุงเทพมหานครมีความซาบซึ้งใจต่อพี่น้องประชาชนจากต่างจังหวัดที่นำกองเรือและสิ่งของที่จำเป็นมาช่วยเหลืออย่างทันที สมัชชาสภาองค์กรชุมชนกรุงเทพมหานคร ของขอบคุณสมาคมทันตแพทย์แห่งประเทศไทย ซึ่งได้ร่วมกับสภาองค์กรชุมชน และเครือข่ายชุมชนจังหวัดนครราชสีมา บริจาคเรือพร้อมเครื่องยนต์ที่ส่งมาแล้วจำนวน 10 ลำ และขอขอบคุณศูนย์ป้องกันภัยพิบัติแห่งชาติที่บริจาคน้ำมันจำนวน 15,000 ลิตร เป็นการสนับสนุนการจัดตั้งกองเรืออาสาขึ้นในพื้นที่น้ำท่วมจังหวัดกรุงเทพมหานคร
เพื่อให้มีการแก้ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นอย่างทันท่วงที และมีมาตรการเยียวยาฟื้นฟูหลังน้ำลดภาคประชาชนและองค์กรเครือข่าย จึงขอเสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐ ดังนี้
1.ให้รัฐเยียวยาครอบครัวที่บาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากอุบัติภัยน้ำท่วม อาทิ ไฟฟ้าช๊อต งูพิษ จรเข้กัด รวมทั้งการทำอัตวิบากกรรมตนเองเนื่องจากความเครียด
2.ให้มีผู้แทนเครือข่ายภาคประชาชนเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการของรัฐในการเยียวยา ฟื้นฟูจากปัญหาน้ำท่วม และการวางแผนแก้ปัญหาน้ำท่วมระยะยาว
3.ให้รัฐเข้มงวดการควบคุมราคาอาหาร 16 ชนิดให้เป็นจริง รวมทั้งควบคุมราคาค่าโดยสารทั้งรถ และเรือในภาวะน้ำท่วมอย่างเป็นธรรม
4.ให้มีการจัดตั้ง “กองทุนฟื้นฟูผู้ประสบภัยน้ำท่วม” โดยให้ขบวนชาวบ้านเป็นผู้เสนอแผนและจัดการด้วยตนเอง
เครือข่ายภาคประชาชนจะพึ่งตนเอง ตื่นตัวและร่วมเป็นเครือข่ายเพื่อป้องกันภัยพิบัติน้ำท่วมและยั่งยืนที่จะให้สิทธิพลเมืองเข้าร่วมมือกับภาครัฐ ในการเยียวยยาฟื้นฟูความเดือดร้อนของประชาชนหลังน้ำลดอย่างเหมาะสมมีความเป็นธรรม รวมทั้งการวางแผนระยะยาวเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภัยพิบัติน้ำท่วมรุนแรงขึ้นอีกในอนาคต