นางสาวศรีญาดา ปาลิมาพันธ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า จากเหตุอุทกภัยที่เกิดขึ้น เพื่อเป็นการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนผู้ประสบภัย รัฐบาลจึงได้มีมาตรการให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ และมอบหมายให้แต่ละหน่วยงานดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะด้านการอุปโภคบริโภค ซึ่งมีโครงการครัวรัฐบาล ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย เพื่อสนับสนุนอาหารและน้ำดื่มให้แก่ผู้ประสบภัย โดยมีกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รับผิดชอบทำอาหารกล่องแจกจ่ายให้ผู้ประสบภัย ในหลายพื้นที่ของกทม.ซึ่งในวันนี้ ได้รับมอบหมายจากนายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ลงพื้นที่มาตรวจเยี่ยมโรงครัวช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ กม.๒๐ กาญจนาภิเษก ซึ่งพม.รับผิดชอบผลิตอาหารจำนวน ๓๐,๐๐๐ กล่องต่อวัน (มื้อกลางวัน+มื้อเย็น) และสตช.จำนวน ๒๐,๐๐๐ กล่องต่อวัน (มื้อกลางวัน+มื้อเย็น) รวมเป็น ๕๐,๐๐๐ กล่องต่อวัน โดยในส่วนของพม. ได้จัดสรรหน่วยงานมาช่วยจัดทำอาหารกล่อง จำนวน ๕ หน่วยงาน แบ่งรับผิดชอบหน่วยงานละ ๖,๐๐๐ กล่อง ได้แก่ ๑. สถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่งกุ่มสะแก จ.เพชรบุรี ๒. สถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่งบ้านเมตตา จ.นครราชสีมา ๓. สถานสงเคราะห์เด็กหญิง จ.สระบุรี ๔. สถานสงเคราะห์เด็กชายบ้านราชสีมา จ.นครราชสีมา และ ๕. ศูนย์พัฒนาอาชีพคนพิการ (โรงงานปีคนพิการสากล) จ.นนทบุรี โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสถานีตำรวจ ๖ จุด ได้แก่ ๑. สน.ภาษีเจริญ ๒. สน.หลักสอง ๓. สน.เพชรเกษม ๔. สน.หนองค้างพลู ๕. สน.บางขุนเทียน ๖. สน.บางบอน มารับอาหารไปแจกจ่ายให้กับประชาชนตามชุมชนต่างๆ
นางสาวศรีญาดา กล่าวต่อว่า กระทรวงฯ พร้อมที่จะให้การดูแลช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยทุกคน โดยได้ให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยมาอย่างต่อเนื่อง เน้นรูปแบบกิจกรรมให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู ผู้ประสบอุทกภัย ภายใต้ภารกิจของกระทรวงฯ โดยบูรณาการความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งการช่วยเหลือเบื้องต้น ได้แก่ การให้บริการช่วยเหลือด้านอาหาร น้ำดื่ม ถุงยังชีพ โดยจัดตั้ง“ครัว พม” ขึ้น เพื่อประกอบอาหาร แจกจ่ายให้กับผู้ประสบภัย ดำเนินการใน ๔ รูปแบบ คือ ๑. การจัดตั้งโรงครัว ณ ศูนย์อพยพ ๒. การจัดทำอาหาร ณ หน่วยงานของกระทรวง หรือชุมชน ๓. การจัดส่งอาหารสดให้ครัวเรือน / ชุมชน / องค์กรเอกชน เพื่อดำเนินการ และ ๔. การจัดจ้างกลุ่มแม่บ้าน หรือกลุ่มผู้ประสบภัยประกอบอาหารแจกจ่าย พร้อมจัดกิจกรรมต่างๆ ให้ผู้ประสบภัย ทั้งกิจกรรมนันทนาการ กิจกรรม ๓ ส. สร้างสุข สร้างรายได้และเสริมสร้างคุณภาพชีวิต กิจกรรมคาราวานเสริมสร้างเด็ก การฝึกอบรมอาชีพระยะสั้น การให้คำแนะนำปรึกษา เป็นต้น.