ที่ประชุมได้หารือกันว่าในปีที่ผ่านมานี้ มีหลายเขตเศรษฐกิจที่เผชิญกับภัยพิบัติครั้งใหญ่ ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจของภูมิภาคและโลก รวมทั้งการเกิดวิกฤตหนี้สาธารณะในภูมิภาคยุโรป ทำให้เศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะที่มีปัจจัยเสี่ยงหลายประการ จึงได้หารือการส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาค การปรับสมดุลแก่เศรษฐกิจโลก บทบาทของโครงสร้างพื้นฐานในการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยกระตุ้นและจูงใจการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน การปฏิรูปภาคการเงินโดยสนับสนุนการใช้กฎระเบียบการเงินที่เป็นมาตรฐานสากล และการเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางการเงินโดยการส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินของทุกภาคส่วน ตลอดจนแลกเปลี่ยนความเห็นกับสภาที่ปรึกษาธุรกิจเอเปค (ABAC) ที่ได้เสนอแนะประเด็นต่างๆ แก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค รวมทั้งการให้ความสำคัญต่อการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
สมาชิกเห็นชอบร่วมกันที่จะดำเนินการเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่เศรษฐกิจโลก เสริมสร้างเสถียรภาพภาคการเงิน รักษาระดับการเปิดตลาด และสร้างพื้นฐานสำหรับการเจริญเติบโตที่เข้มแข็ง ยั่งยืน และสมดุล โดยเขตเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วจะดำเนินนโยบายเพื่อสร้างความเชื่อมั่น ใช้มาตรการที่ชัดเจนและเชื่อถือได้เพื่อลดการ ขาดดุลทางการคลัง ในขณะที่เขตเศรษฐกิจที่มีฐานะการคลังที่เข้มแข็ง จะปล่อยให้กลไกการสร้างเสถียรภาพโดยอัตโนมัติทำงาน และเขตเศรษฐกิจที่มีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลจะปฏิรูปโครงสร้างเพื่อเพิ่มอุปสงค์ภายใน ไปพร้อมๆ กับการเพิ่มความยืดหยุ่นของอัตราแลกเปลี่ยน
ทั้งนี้ สมาชิกเอเปคได้แสดงความเสียใจต่ออุทกภัยที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย และให้ความสนใจต่อผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ซึ่งนางสาวจุฬารัตน์ฯ ได้รายงานประมาณการเศรษฐกิจของไทย และมาตรการช่วยเหลือต่างๆ ให้ที่ประชุมได้รับทราบ รวมทั้งขอให้สมาชิกเอเปค และองค์กรการเงินระหว่างประเทศ ร่วมมือกันมากขึ้นในการบริหารจัดการภัยพิบัติ อันจะนำไปสู่การเจริญเติบโตที่ยั่งยืนต่อไป
นอกจากนี้ ที่ประชุมยืนยันที่จะร่วมกันปฏิรูปภาคการเงิน เช่น จะปฏิบัติใช้กรอบการกำกับดูแลภาคการธนาคารของบาเซิลฉบับใหม่ (new Basel Committee on Banking Supervision framework) เพื่อให้เงินทุนและสภาพคล่อง มีปริมาณ คุณภาพ และความสอดคล้องกับมาตรฐานสากลมากขึ้น จะใช้มาตรการที่มีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาสถาบันการเงินที่สำคัญต่อระบบ จะปฏิรูปกฎระเบียบเพื่อให้สัญญาซื้อขายตราสารอนุพันธ์ต้องซื้อขาย ผ่านทางตลาดทางการหรือรูปแบบอิเล็คทรอนิกส์ และผ่านศูนย์หักบัญชีคู่สัญญากลาง เป็นต้น และยึดมั่นที่จะดำเนินการปฏิรูปเชิงโครงสร้างต่อไป โดยเฉพาะด้านการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน โดยเน้นการเพิ่มบทบาทของภาคเอกชน และสนับสนุนการจัดตั้ง Asia-Pacific Infrastructure Partnership Dialogues เพื่อเสริมสร้างการหารืออย่างตรงไปตรงมาระหว่างผู้มีส่วนร่วมต่างๆ อีกทั้งสานต่อการดำเนินการเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางการเงิน เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการด้านการเงินที่ปลอดภัยและเชื่อถือได้
ที่ประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปคได้เห็นชอบข้อเสนอแนะของ ABAC ใน 4 ประเด็นได้แก่ (1) การปรับปรุงความร่วมมือระหว่างหน่วยงานกำกับดูแลตลาดการเงิน เพื่อส่งเสริมการรวมตัวทางการเงินในภูมิภาค (2) การพัฒนานโยบายและแนวคิดริเริ่มที่สนับสนุนการสร้างศักยภาพของวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดเล็ก และขนาดย่อม (3) การสนับสนุนกรอบนโยบายที่จะช่วยสร้างช่องทางการจัดหาเงินทุนของภาคเอกชนในด้านโครงสร้างพื้นฐาน และ (4) การเพิ่นพูนประสิทธิภาพของตลาดทุน รวมถึงการสนับสนุนแนวคิดเรื่อง Asia Region Funds Passport (ARFP) ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกแก่การเสนอขายกองทุนข้ามพรมแดน
ในช่วงการประชุมดังกล่าว นางสาวจุฬารัตน์ฯ ได้มีโอกาสหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ ร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ โดยสหรัฐฯ ได้แจ้งว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2011 ขยายตัวที่ร้อยละ 2.5 ซึ่งมากกว่าช่วงไตรมาสที่ 1 และ 2 แต่ก็ยังเป็นการฟื้นตัวอย่างช้าๆ ซึ่งไม่เพียงพอ คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขยายตัวประมาณร้อยละ 2 - 3 ในปี 2012 อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ยังมีความกังวลในผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจในสหภาพยุโรปว่ามีผลต่อเศรษฐกิจในภูมิภาคอื่นๆ จึงเห็นควรให้เขตเศรษฐกิจต่างๆ กระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศให้ มากขึ้น นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ และอาเซียนเห็นร่วมกันว่า ควรมีการพบปะหารือร่วมกันในลักษณะอย่างไม่เป็นทางการในวาระที่มีโอกาสได้พบกันในการประชุมระหว่างประเทศต่างๆ อย่างสม่ำเสมอต่อไป
อีกทั้งยังได้เข้าร่วมการหารือระหว่าง Ms. Sri Mulyani Indrawati, กรรมการผู้จัดการกลุ่มธนาคารโลก(Managing Director of the World Bank Group) กับรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง) เกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือของธนาคารโลกต่อภัยพิบัติน้ำท่วมในประเทศไทย เช่น การประเมินความเสียหายหลังน้ำท่วมในด้านสิ่งก่อสร้าง ด้านจิตวิทยา และด้านสังคม รวมทั้งขอให้ธนาคารโลกจัดทำข้อเสนอแนะมาตรการเพื่อแก้ไขและป้องกันปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืน
ในการประชุมครั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหรือผู้แทนของสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปค 21 เขตเศรษฐกิจเข้าร่วมการประชุม ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี สาธารณรัฐประชาชนจีน เขตปกครองพิเศษฮ่องกง อินโดนีเซีย สาธารณรัฐเกาหลี มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี เปรู ฟิลิปปินส์ รัสเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน ไทย สหรัฐอเมริกา และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม รวมทั้งมีผู้แทนจากธนาคารพัฒนาเอเชีย ธนาคารเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศอเมริกัน ธนาคารโลก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ และสภาที่ปรึกษาธุรกิจเอเปค เข้าร่วมประชุมด้วย
การประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค ครั้งที่ 19 จะจัดขึ้น ณ กรุงมอสโก สหพันธรัฐรัสเซีย ในวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2555
สำนักนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
โทร, 02 273 9020 ต่อ 3627